พระกรุวัดชนะสงคราม อีกหนึ่ง วัตถุมงคล ที่ได้รับความนิยม ในหมู่ผู้สะสม
พระกรุวัดชนะสงคราม วัตถุมงคลที่มีการค้นพบ ที่บริเวณศาลาชี ในอดีต เชื่อจัดสร้างบรรจุกรุ โดย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
นอกเหนือจากความสำคัญ ของ วัดชนะสงครามราชวรวิหาร ที่เป็นสัญลักษณ์ในการมีชัยชนะเหนืออริราชศัตรู ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ของ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในยช่วงเวลาหนึ่ง ได้มีการค้นพบ พระเครื่อง สำคัญ เป็นหนึ่งในกรุที่น่าสนใจ ของแวดวงนักนิยมสะสมวัตถุมงคล
สำหรับการขุดพบพระเนื้อดินดิบ กรุวัดชนะสงคราม นั้น มีการบันทึกคำบอกเล่า ของพระวิมลกิจจารักษ์ (ศิริ อตฺตาราโม) ในเหตุที่พบพระกรุนี้ไว้ว่า พระมหาเฉลิมชัย วัดชนะสงคราม ได้ ไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.2496 ท่านเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามในขณะนั้น คือ พระธรรมทัศนาธร (ทองสุก สุทสฺโส) ได้สั่งให้ไปดูสถานที่บริเวณหมู่เจดีย์น้อยใหญ่ ใกล้ศาลาชี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง ร.ร.วัดชนะสงคราม)
เพราะมีผู้มาแจ้งว่า มีคนร้ายลักขุดและพังทำลายพระเจดีย์ ท่านเจ้าอาวาสสั่งว่า หากพบว่ามีรอยขุดค้นจำพระเจดีย์เสียหาย พอที่จะขุดเอาได้ ก็ให้จัดการไปตามที่เห็นสมควร
พระวิมลกิจจารักษ์ ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระครูพิศิษฐ์วิหารการ จึงพร้อมด้วยพระสงฆ์สามเณรได้ไปตรวจดูสถานที่ พบว่าพระเจดีย์ถูกทุบขุดคุ้ยพังทำลายหลายแห่ง พวงมิจฉาชีพลักล้วงเอาของมีค่าที่บรรจุไว้ไปเกือบหมดสิ้น
พระที่พวกเหล่าร้ายทิ้งหลงเหลืออยู่บ้าง มีพระกรุแบบวัดตะไกรหน้าครุฑ พระโคนสมอแบบอยุธยา พระทรงเทริด (พระงั่ง) ฯลฯ ยังมีพระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานในที่นั้นยังไม่ถูกคนร้ายขุดคุ้ยทำลาย แต่เจดีย์องค์นี้ยอดหักแตกร้าวตลอดจากยอดลงมาถึงคอระฆัง บริเวณฐานก็ผุกกร่อนหลายแห่ง พิจารณาแล้วหากปล่อยไว้คนร้ายคงขุดทำลายเสียหายได้โดยง่าย
ของมีค่าหากบรรจุไว้อาจถูกคนร้ายเอาไปเป็นสมบัติของมัน จึงพร้อมใจกันขุด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชนะสงครามซึ่งได้รับแจ้งให้มาดูสถานที่คอยอำนวยความสะดวก กันไม่ให้คนภายนอกมาวุ่นวายกับการขุดพระเจดีย์
ผลปรากฏว่าขุดโดยไม่ต้องออกแรงมากมายนัก องค์พระเจดีย์ผุปูนหมดอายุร่วนหมดแล้ว ภายในองค์เจดีย์สร้างเป็นโพรงกลางองค์ถึงคอระฆัง ในนั้นบรรจุพระเครื่องดังปรากฏในภาพเป็นจำนวนมากเก็บลงใส่ปี๊บประมาณ 8 ปี๊บ
พบหลักฐานการสร้างและการบรรจุพระเครื่องชุดนี้คือ ไม้แกะสลักเป็นรูปพระสงฆ์ห่มดองคาดประคตอก นั่งสมาธิ ลงรัก ปิดทอง ใต้ฐานรูปแกะสลักนี้บรรจุพระธาตุพระอัครสาวกโมคคัลลาน์ ใบลานจารึกอักษาขอมเลอะเลือนผุกร่อนอ่านได้ไม่ชัดเจน พระทองคำแบบพระวัดตะไกรหน้าครุฑบ้างเล็กน้อย เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรผู้ถูกเชิญมาดู ว่าเป็นพระที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1
มีการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นอยู่หลายวัน และสันนิษฐานว่ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้างแล้วบรรจุไว้ ผู้เขียนได้พยายามสืบเสาะถามจากพระเถระและท่านผู้รู้อีกหลายท่านประกอบกับรูปทรงองค์พระเจดีย์ ตลอดกระทั่งหมู่เจดีย์ในบริเวณนั้น เห็นว่าเจดีย์ต่างๆ เป็นทรงแบบสมัยอยุธยา ความเก่าแก่ของวัสดุที่ใช้ก่อสร้างก็อยู่ในยุคเดียวกัน ทั้งวัดนี้เดิมก็เป็นวัดเล็กๆ ซึ่งเรียกกันว่า วัดกลางนา สร้างมาก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ฉะนั้นพระกรุวัดชนะสงครามชุดนี้ต้องสร้างและบรรจุไว้ในสมัยรัชกาลที่ 1 อย่างแน่นอน