พระเครื่อง

อ่านประวัติ หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต วัดโตนดหลวง เพชรบุรี

อ่านประวัติ หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต วัดโตนดหลวง เพชรบุรี

14 ธ.ค. 2565

ศึกษาประวัติ พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต แห่ง วัดโตนดหลวง เพชรบุรี วิชาเด่น จารกระหม่อม พระยาพหลฯ - จอมพล ป. ยังเคยมาลงกระหม่อม

ดินแดนเมืองเพชรบุรี นอกจากความเป็น อยุธยา ที่ยังมีชีวิต ตำนาน เรื่องเล่า คำขาน ในด้านพุทธาคม ก็มีให้เรียนรู้ศึกษาอยู่ไม่น้อย หนึ่งในครูบาอาจารย์เมืองเพชร ที่วงการนักสะสมวัตถุมงคล ให้ความนิยมนั้น พระครูพินิจสุตคุณ หรือ หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต แห่ง วัดโตนดหลวง เป็นนามเกจิที่รู้จักอย่างกว้างขวาง น้อยนักที่คนสะสมพระเครื่องและเครื่องราง ที่จะไม่รู้จักท่านโดยเฉพาะวัตถุมงคลที่มากด้วยพุทธคุณและประสบการณ์

หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต
สำหรับประวัติของ หลวงพ่อทองสุข นั้น ท่านมีนามเดิมว่า สุข นามสกุล ดีเลิศเกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ2420 ที่บ้านทับใต้ ต.หินเหล็กไฟ แขวงเมืองเพชรบุรี ช่วงในสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เมื่ออายุ 9 ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่วัดโพธิ์ อ.บ้านลาด โดยได้เป็นศิษย์ท่านสมภารเจ้าอาวาส เล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้ และยังได้เรียนหนังสือขอมและบาลีอีกด้วย อีกทั้งท่านยังรักการต่อสู้ รักวิชาหมัดมวย กระบี่กระบอง จนต่อมาภายหลังมีลูกศิษย์ลูกหาในวิชาเหล่านี้หลายคน
 

อายุ 15 ปี ย้ายไปอยู่ที่บ้านเพลง จ.ราชบุรี เป็นระยะช่วงวัยรุ่น คึกคะนอง ชอบเที่ยวเตร่คบเพื่อน ไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน ชอบไปแสดงลิเก ละคร โขนหนัง จนถึงขนาดที่ว่าได้เป็นครูสอนให้ผู้อื่น ครั้นเบื่อการแสดงลิเก ละคร ฯลฯ ก็เที่ยวเตร่ไปโดยไม่มีจุดหมาย จนไปคบพวกนักเลงอันธพาล จึงกลายเป็นนักเลงอันธพาล และในที่สุดเป็นอาชญากรสำคัญในย่านเพชรบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม ต้องคอยหลบอาญาบ้านเมือง ซุกซ่อนอยู่ในป่าด้วยความลำบาก


ครั้งหนึ่งหลบหนีเข้าไปในป่า ไม่ได้กินอาหาร 3 วัน ตอนนี้เองสำนึกตัวได้ว่าตนดำเนินชีวิตผิดทางเสียแล้ว ถ้าไม่กลับตัวย่อมจะได้รับความทุกข์ทรมารทั้งกายและใจ จึงตัดสินใจเข้าพิธีอุปสมบท ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 32 ปี ตรงกับวันที่ 12 ก.ค.2452 ที่วัดปราโมทย์ ต.โรงหวี อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม มีหลวงพ่อตาด วัดบางวันทองเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อตุย วัดปราโมทย์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อคง วัดแก้วเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า อินทโชโต พำนักจำพรรษาที่วัดปราโมทย์ 4 พรรษาและวัดแก้ว 2 พรรษา ศึกษาพระธรรมวินัยและวิปัสสนากับหลวงพ่อตุย-หลวงพ่อคงผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์ด้วยความ มานะขยันหมั่นเพียร จึงได้รับถ่ายทอดวิทยาคมมาจนหมดสิ้น

หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต
ทั้งยังเป็นที่รักใคร่เมตตาของครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้อย่างไม่ปิดบังอำพรางจนครบถ้วนกระบวนความ และแนะนำให้ไปหาหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง หลวงพ่อตาด วัดบางวันทองนั้น ท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ท่านหลวงพ่อทองสุข ท่านจึงเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกันกับท่านหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม และท่านหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ยังได้ศึกษาวิชาจากหลวงปู่นาค วัดหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย
 

ต่อจากนั้นก็ออกธุดงค์ไปกับสามเณรจันทร์ (ต่อมาคือ พระครูจันทร์ ธัมมสโร เจ้าอาวาสวัดมฤคทายวัน) หลังจากธุดงค์ไปหลายจังหวัดแล้ว ในที่สุดมาถึง ต.บางเก่า อ.ชะอำ


ในช่วงนั้น วัดโตนดหลวง ยังไม่มีสมภาร ชาวบ้านไปพบหลวงพ่อก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงนิมนต์ไปอยู่วัดโตนดหลวง เพื่อให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  หลวงพ่อทองสุข บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระศาสนา บูรณะวัดโตนดหลวงเดิม ซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น ยังมีเมตตาจิตสร้างวัดช้างแทงกระจาด วัดท่าขาม และวัดเขาลูกช้าง ในด้านการศึกษาได้ช่วยสร้างอาคารเรียนให้ 3 ครั้ง


ท่านเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม มีความรู้ในทางแพทย์แผนโบราณ อีกทั้งยังมีวิทยาคมขลัง จนมีผู้เลื่อมใสนับถืออยู่ทั่วไป ท่านมีชื่อเสียงในด้านการสักยันต์และลงกระหม่อม ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงและบรรดาศิษยานุศิษย์จากต่างถิ่น นิยมชมชอบเรื่องการสักยันต์ และลงกระหม่อม จึงทำให้มีคนเดินทางมายังวัดโตนดหลวงมากมาย กุฏิหลวงพ่อทองสุข จะแน่นขนัดไปด้วยลูกศิษย์ แม้แต่คนใหญ่คนโตระดับประเทศยังเคารพเลื่อมใส ถวายตัวเป็นศิษย์ และรักการสักยันต์ ตลอดจนการลงกระหม่อมให้ อาทิ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา , จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นต้น


ด้วยคุณูปการสร้างความเจริญแก่ท้องถิ่นชุมชนดังปรากฏผลงานมากมาย คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อทองสุข เป็นพระครูกรรมการศึกษา , พระอุปัชฌาย์ ในที่สุดได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสมณศักดิ์ ขึ้นเป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูพินิจสุตคุณ


หลวงพ่อทองสุข เป็นพระเกจิอาจารย์ ชื่อดัง ในช่วงสงครามอินโดจีน ท่านได้รับนิมนต์ให้เป็น 1 ใน 108 พระเกจิ ที่นั่งปลุกเสกพระพุทธชินราชที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย จัดสร้าง ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม และพิธีพุทธาภิเษกครั้งสำคัญอีกหลายครั้ง อาทิ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในงานปลุกเสกแหวนมงคล 9 , นิมนต์ท่านเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก พระเครื่องงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งเป็นพิธีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น
สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อทองสุข ที่มีชื่อเสียง อาทิ เหรียญ, ลูกอม , แหวน , ตะกรุด เป็นต้น


ด้วยความที่สังขารทั้งหลายนั้นไม่เที่ยงแท้ ย่อมมีการเสื่อมลงไปเป็นธรรมดา หลวงพ่อทองสุขท่านได้ถึงแก่การมรณภาพลง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2500 สิริอายุรวมได้ 80 ปี