ตำนานพระเลี้ยงเสือ รู้จักประวัติ หลวงพ่อถิร เกจิดัง แห่ง สุพรรณบุรี
เปิดประวัติ หลวงพ่อถิร หนึ่งในเกจิดังยุคเก่า กับ ตำนาน เลี้ยงเสือ ชุมโจรภาคกลางให้การยอมรับ ผู้ริเริ่มงานนมัสการ หลวงพ่อโต
วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในอารรามสำคัญ ที่พุทธศาสนิกชน ต่างเดินทางมาทำบุญบุญบูชาสักการะ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต พระพุทธรูปคู่บ้านขวัญเมือง นอกเหนือจากการทำบุญต่อกุศลแล้วนั้น วัดแห่งนี้ในอดีต ยังมีตำนานเรื่องราว ของ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญ ที่หลายคน ในแวดวงพระเครื่องให้ความนับถือ นิยมในวัตถุมงคล นักร้องลูกทุ่งมาขอพร และ ชุมโจรแห่งภาคกลางยังเคารพ
เกจิอาจารย์รูปนั้น คือ หลวงพ่อถิร
สำหรับ หลวงพ่อถิร นั้น มีสมณศักดิ์ว่า พระวิสุทธิสารเถร เป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญของเมืองสุพรรณ และของประเทศไทย ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2445 ณ บ้านพูลหลวง ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของพ่อ วาส แม่เพิ่ม “พึ่งเจริญ” ตระกูลผู้ใหญ่ฝ่ายมารดาสืบเชื้อสายมาจากหมื่นเกล้าฯ และยายทวดจัน ซึ่งมีบุตรสาวชื่อยายมี แม่เพิ่มเป็นบุตรของยายมีกับตาสิงห์ ต้นกระกูล “สิงห์สุวรรณ” ส่วนตระกูลข้างเตี่ย (พ่อ) มาจากก๋งผึ้งและย่าอิ่ม เดิมจาก “แซ่ตัง” มาใช้นามสกุลว่า “พึ่งเจริญ” พ่อวาสเป็นบุตรชายของก๋งผึ้งกับย่าอิ่ม
หลวงพ่อถิรบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 17 ปี ต่อมาเข้าพิธีอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2465 ณ วัดหน่อพุทธางกูร โดยมีพระครูโพธาภิรัต (สอน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุวรรณวรคุณ (หลวงพ่อคำ) วัดหน่อพุทธางกูร เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า “ปญฺญาปโชโต”แล้วย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดสุวรรณภูมิ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก เป็นนักเรียนที่สอบนักธรรมชั้นเอกได้เป็นรูปแรกในนามของจังหวัดสุพรรณบุรี
ต่อมา หลวงพ่อถิร ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดป่าเลไลยก์ เมื่ออายุ 38 ปี พรรษา 18 จากบันทึกส่วนตัวของ หลวงพ่อถิร ได้เขียนเล่าไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ทรงรับอนุมัติจากท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ ให้ย้ายจากวัดสุวรรณภูมิ ไปเป็นผู้รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 พอถึงวันที่ 19 ได้ไปอยู่ ในคืนนั้นได้นิมิตไปว่า ท่านพระครูโพธาริรัต (สอน) เจ้าอาวาสและพระอุปัชฌายะของข้าพเจ้าที่ล่วงไป ได้มาบอกแก่ข้าพเจ้าว่า อยู่ไปเถอะไม่เป็นไร ใครจะทำอะไรไม่ดีก็ช่างเขา แล้วเขาจะพินาศไปเอง”
จากนั้น ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2483 หลวงพ่อถิร จึงเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์,ผู้รักษาการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุพรรณบุรี,และพระอุปัชฌาย์
และมีลำดับสมณศักดิ์ ดังนี้
วันที่ 18 ตุลาคม 2494 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองสุพรรณบุรี
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2494 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์
วันที่ 5 ธันวาคม 2495 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูรักขิตวันมุนี
วันที่ 5 ธันวาคม 2510 เป็นพระราชาคณะที่ พระรักขิตวันมุนี
วันที่ 5 ธันวาคม 2521 เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาที่ พระวิสุทธิสารเถร
ด้วยความที่ท่านมีชื่อเสียงในด้านพุทธาคม ตั้งแต่สมัยจำพรรษาที่วัดสุวรรณภูมิ ทำให้เหล่าขุนโจรที่มีชื่อ ต่างไปมาหาสู่ท่านเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เสือฝ้าย เสือมเหศวร เสือใบ ที่มักมาหาเครื่องรางของขลังจาก หลวงพ่อถิร เสมอมีเรื่องเล่าในเกร็ดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไว้ด้วยว่า เสือเหล่านี้ต่างพากันประกาศ ใครหน้าไหนอย่าได้มารบกวนการสร้างพัฒนาวัดของ หลวงพ่อถิร ให้เดือดเนื้อร้อนใจเป็นเด็ดขาด หาไม่เป็นได้เจอกัน ทำให้มีคำกล่าวกันว่า หลวงพ่อถิร เลี้ยงเสือ เลี้ยงโจร ซึ่ง หลวงพ่อถิร เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ข้าไม่ได้เลี้ยงพวกมันหรอก มันเลี้ยงข้าตะหาก…”
นอกจากเรื่องราวพุทธาคมแล้ว หลวงพ่อถิร ท่านยังเป็นพระที่มีสีลาจารวัตรงดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีเมตตาจิตจึงเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์ในงานพุทธาภิเษกสำคัญแทบทุกงานในประเทศมาตั้งแต่อายุพรรษาไม่มากนัก
นอกจากนี้ หลวงพ่อถิร ท่านยังเป็นนักการศึกษา นักอ่าน นักเขียนตัวยงหนังสือประวัติวัดป่าเลไลยก์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก เป็นผลงานการค้นคว้าของท่านเอง ทางวัดยังรักษาลายมือต้นฉบับเอาไว้อย่างดี
รวมทั้งได้จัดให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี มีภิกษุสามเณรจำพรรษาปีละเกือบร้อยรูป ได้ปรับสานที่ ย้ายกุฏิ ซ่อมพระวิหารใหญ่มุงหลังคา กระเบื้องสี สร้างถนน สร้างศาลาสมเด็จพระนเรศวร ทำการซ่อมและสร้างเสมอมาจดวัดป่าได้รับเกียรติบัตรเป็น วัดพัฒนาตัวอย่าง วัดแรกของจังหวัดสุพรรณบุรี
ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา หลวงพ่อถิร ได้ริเริ่มจัดงานประจำปีวัดป่าเลไลยก์ กำหนดงานเทศกาลปิดทองหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ในวันทางจันทรคติ วันขึ้น 5-9 ค่ำ ของเดือน 5 และเดือน 12 ของทุกปี วัดป่าเลไลยก์เริ่มเปิดกว้างสู่สาธารณชนยิ่งขึ้น
หลวงพ่อถิร ปญฺญาปโชโต ท่านได้มรณภาพลงเมื่อ วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2527 สิริรวมอายุได้ 81 สังขารของท่านนั้น ได้รับการบรรจุในโลง เก็บไว้ในมณฑปให้ผู้ศรัทธาได้สักการะบูชา ภายในวัดป่าเลไลยก์จนถึงทุกวันนี้