หลวงปู่เสาร์ กนตสีโล ปรมาจารย์ใหญ่ของพระกรรมฐาน
ประวัติของ หลวงปู่เสาร์ กนตสีโล ปรมาจารย์ใหญ่ ของพระกรรมฐานทั้งหมด อาจารย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นดั่งแม่ทัพธรรม
หลวงปู่เสาร์ กนตสีโล ท่านเป็นพระปรมาจารย์ 5 องค์แรกของสายวิปัสสนาธุระ ที่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปให้ความเคารพนับถือว่าเป็นพระอริยสงฆ์ เป็นพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้วางรากฐานการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้ศิษยานุศิษย์ได้ปฏิบัติเห็นผล สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันโดยศิษย์มีชื่อเสียงให้พุทธศาสนิกชน ยึดถือเป็นแนวทางปฎิบัติเป็นลำดับมา อาทิเช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่พุท ฐานิโย ฯลฯ ตลอดถึงหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จึงถือได้ว่า หลวงปู่เสาร์ เป็นหลวงปู่ใหญ่ของพระกรรมฐานทั้งหมด
สำหรับประวัติของ พระครูวิเวกพุทธกิจ หรือ หลวงปู่เสาร์ กนตสีโล นามเดิม เสาร์ เกิดเมื่อวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา ตรงกับวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายทาและนางโม่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน หลวงปู่เสาร์ได้เข้าไปพำนักรับใช้เป็นศิษย์วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันเรียกว่า วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง ตั้งแต่อายุ 12 ปี ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรในปี พ.ศ. 2417 ขณะมีอายุได้ 15 ปี ที่วัดใต้ สังกัดคณะมหานิกาย ขณะที่อยู่วัดใต้นั้นท่านได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย และหนังสือไทย ตามธรรมเนียมการศึกษาในยุคนั้น
ในปี พ.ศ. 2422 หลวงปู่เสาร์จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะมหานิกายที่วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดใต้ 10 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 หลวงปู่เสาร์ได้ฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี และเกิดความเลื่อมใส จึงขอมอบตัวเป็นศิษย์และกระทำญัตติกรรมใหม่ในคณะธรรมยุติกนิกาย ณ พระอุโบสถวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงปู่เสาร์ เป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในทางสมถะวิปัสสนา มีความเพียรเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยม กิริยามารยาทเรียบร้อย สุขุม พูดน้อย และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงควัตรหนักแน่นในพระธรรมวินัย ชอบวิเวกและไม่ติดถิ่นที่อยู่ ต้องเดินธุดงค์ไปหาวิเวกเจริญสมณธรรมตามชายป่าดงพงเขาในที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว
ปีพุทธศักราช 2434-2436 หลวงปู่เสาร์ ได้ธุดงค์ผ่านหมู่บ้านคำบง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เทศนาสั่งสอนพระอาจารย์มั่นสมัยยังเป็นฆาราวาสจนเกิดศรัทธาเลื่อมใสติดตามออกบวช และจุดนี้เป็นความยิ่งใหญ่ของวงศ์พระกรรมฐานตราบจนถึงปัจจุบัน วงศ์พระกรรมฐานจึงขนานนามพระอาจารย์เสาร์ว่า “พระปรมาจารย์กรรมฐาน”
ปีพุทธศักราช 2459 - 2464 ท่านพำนักจำพรรษาที่ถ้ำจำปา ภูผากูด ตำบลหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร และได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นด้วย วันหนึ่ง หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ในที่สงัดองค์เดียวท่านพิจารณาถึงอริยสัจ ได้รู้ได้เห็นตามความเป็นจริงนั้น ในวันนี้ท่านก็ได้ตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด จวนจะถึงกาลปวารณาออกพรรษา ท่านก็ทราบชัดถึงความเป็นจริงทุกประการ จึงได้บอกกับท่านพระอาจารย์มั่นว่า “เราได้เลิกการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริงแล้ว” ท่านพระอาจารย์มั่นได้ยินดังนั้นก็เกิดปีติเป็นอย่างมากและได้ทราบทางวาระจิตว่า “หลวงปู่เสาร์พบวิมุตติธรรมแน่แล้วในอัตภาพนี้”
หลวงปู่เสาร์ กนตสีโล มรณภาพในอิริยาบถนั่ง ที่วัดมหาอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากรณ์นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484 สิริรวมอายุ 82 ปี 3 เดือน 1 วัน และได้อันเชิญศพกลับมาจัดงานฌาปนกิจที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีหลวงปู่มั่น ภูมิทัตโต เป็นกำลังสำคัญ
ปัจจุบันยังมีสังเวชนียสถานและอัฐบริขารของหลวงปู่ ที่เหลืออยู่ที่วัดดอนธาตุ อาทิ เช่น กุฎิ 1 หลัง รูปเหมือนแท่นหินนั่งสมาธิภาวนา บาตร ผ้าปูนั่ง กาน้ำ ฯลฯ รวมทั้งอัฐิธาตุจำนวนหนึ่ง และศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันจัดสร้างเจดีย์ บรรจุอัฐิ และเครื่องอัฐบริขารของท่านไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้สักการบูชา ค้นคว้า ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ตามแนวทางของหลวงปู่เสาร์ กนตสีโล สืบไป