พระเครื่อง

รู้จัก 7 สายสำนักวิชา แห่งเมืองสุพรรณบุรี ที่เกจิดังแห่งยุค ต่างเคยร่ำเรียน

รู้จัก 7 สายสำนักวิชา แห่งเมืองสุพรรณบุรี ที่เกจิดังแห่งยุค ต่างเคยร่ำเรียน

21 ธ.ค. 2565

ทำความรู้จัก กับ 7 สายสำนักสรรพวิชาแห่งอาราม ใน สุพรรณบุรี เข้มขลัง ครูบาอาจารย์ เกจิชื่อดังหลายรูป ต่างเดินทางไปร่ำเรียนอาคม


หากกล่าวถึง สุพรรณบุรี เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งเมือง หรือจังหวัดที่ มีเกจิอาจารย์ครูบาอาจารย์อยู่ไม่น้อย นับตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงสมัยปัจจุบัน ยุคเก่าก่อน ในตำนานขุนช้าง-ขุนแผน ก็มีการกล่าวถึงเรื่องราวของ เกจิอาจารย์แห่งวัดแค วัดป่าเลไลยก์ ตลอดมาจนยุคชุมโจรภาคกลางเรืองอำนาจ และในหมู่ของพระสงฆ์ที่ตามหาครูอาจารย์เพื่อเรียนสรรพวิชา ในทางไสยเวท

เมื่อมาลำดับจากข้อมูลที่มีการกล่าวถึง ใน สุพรรณบุรีนั้น มีสำนัก หรือ วัด ที่มีครูอาจารย์ที่ได้ถ่ายทอดวิชา ลำดับได้ทั้งสิ้น 7 วัดด้วยกัน 
1. สายวัดพร้าว ปฐมาจารย์คือ หลวงพ่อม่วง นับว่าเป็นสายที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองสุพรรณ
2. สายวัดน้อย ปฐมาจารย์คือ หลวงพ่อเนียม 
3. สายวัดเสาธงทอง ปฐมาจารย์คือ หลวงพ่อเพิ่ม 
4. สายวัดดอนบุบผาราม ปฐมาจารย์คือ หลวงปู่อ้น 
5. สายวัดหัวเขา  ปฐมาจารย์คือ หลวงพ่ออิ่ม 
6. สายวัดป่าเลไลยก์ ปฐมาจารย์คือ หลวงพ่อสอน 
7. สายวัดลาดตาล  ปฐมาจารย์คือ หลวงปู่โต๊ะ 
 


สายวัดพร้าว

วัดพร้าวสร้างเมื่อ พ.ศ. 2240 – 2255 วัดพร้าวมีชื่อเรียกอยู่ 3 ชื่อ ชื่อแรก "วัดโพพระ" เอาที่อยู่ในท้องถิ่นมาตั้งเป็นชื่อวัด คงเพื่อประสงค์ให้ประชาชนชาวโพพระ ได้ช่วยกันจำโลงทำนุบำรุงให้สมกับเป็นวัดของชาวโพพระ
ชื่อที่2 ต่อมาเรียกกันว่า "วัดแก้วพร้าว" เป็นยุคสมัยที่หลวงพ่อแก้วเป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระนักปราชญ์ พระนักพัฒนา พระพหูสูตร เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ( พ.ศ. 2372 - 2440)
ชื่อที่3 เรียกว่า "วัดพร้าว" จนถึงปัจจุบัน คงเนื่องด้วยสมัยนั้นวัดพร้าว มีต้นมะพร้าวปลูกอยู่รอบสระหอไตร มีมากต้น และประกอบกัน เรียกว่า "วัดพร้าว" ซึ่งเรียกง่าย จำง่าย
ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนบังคับน้ำเสร็จในปี พ.ศ. 2468 แม่น้ำท่าจีนจึงไหลผ่านทิศตะวันตกของวัดอีกทาง ทำให้พื้นที่วัดพร้าวเป็นเกาะนับตั้งแต่นั้น


หลวงพ่อม่วง ปฐมเจ้าอาวาสวัดพร้าว (พ.ศ. 2330- 2372 โดยประมาณ) เล่าขานกันต่อๆมาว่า หลวงพ่อม่วงท่านเคยเป็นทหารในกองทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้นบ้านเมืองเริ่มสงบท่านจึงออกบวชกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิด นัยว่าท่านมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมคนที่กระจัดกระจายครั้งกรุงแตกให้กลับมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนตามเดิมและคอยสอดส่องดูแลอีกทางหนึ่ง เนื่องจากท่านเป็นนักรบมาก่อนจึงชำนาญด้านศิลปะวิทยาคาถาอาคมต่างๆ จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และสืบทอดสายวิชาต่อเนื่องกันไป ในอดีตพระเกจิอาจารย์หลายองค์ของเมืองสุพรรณก็ล้วนบวชเรียนและศึกษาในสายสำนักวัดพร้าวแห่งนี้
 


สายวัดน้อย

หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ชาติภูมิชาวสุพรรณบุรี บิดาเป็นชาวบ้านซ่อง ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ไม่ทราบชื่อ ส่วนมารดาเป็นชาวบ้านป่าพฤกษ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ชื่อว่า เนื่อง หลวงพ่อเนียมมีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันหลายคน แต่ไม่ทราบชื่อ ทราบเพียงว่าหนึ่งในนั้นมีพี่สาวชื่อว่า จาด

หลวงพ่อเนียมเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2370 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านป่าพฤกษ์ ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาท่านบรรพชาเป็นสามเณร กระทั่งอายุครบเกณฑ์อุปสมบท จึงอุปสมบท (สันนิษฐานว่าเป็นวัดป่าพฤกษ์ อันเป็นวัดบ้านเกิดใกล้บ้านท่าน) ภายหลังได้ศึกษาพระธรรมวินัยและมูลกัจจายน์ ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร (ดังปรากฏหลักฐานนามท่านในบัญชีรายนามพระภิกษุที่จำวัดมหาธาตุฯ) และสันนิษฐานกันว่าท่านเคยไปพำนักจำพรรษา ศึกษาวิชาความรู้จากวัดระฆังโฆษิตาราม ในสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังษี) อีกด้วย กระทั่งเมื่อมีอายุประมาณ40ปีจึงเดินทางกลับบ้านเกิดจำพรรษาอยู่วัดรอเจริญ เกิดขัดกับเจ้าอาวาส สุดท้ายจึงย้ายมาจำพรรษาอยู่วัดน้อย บูรณปฏิสังขรณ์วัดน้อยจากวัดร้าง ให้เป็นวัดที่เจริญขึ้นมาใหม่

หลวงพ่อเนียมมีความสนใจในทางวิปัสสนาธุระ ท่านช่วยให้การศึกษาแก่ศิษยานุศิษย์อย่างเต็มที่ ท่านมีชื่อเสียงในการรักษาโรคต่าง ๆ สามารถมองเห็นเหตุการณ์ต่างๆข้างหน้าได้อย่างตาทิพย์ การถ่ายรูปท่านว่ากันว่าถ่ายไม่ติด พระเณรที่ประพฤติผิดวินัย ท่านสามารถทราบได้เองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกท่านมีเรื่องเล่าในกฤษดาภินิหารต่างๆ ท่านเป็นผู้ที่ความเมตตาต่อสัตว์ทุกชนิด กิจวัตรของท่านก็คือ ตื่นแต่เช้ามืด ครองจีวรแล้วปลงอาบัติ เสร็จแล้วนั่งสนทนากับพระภิกษุในวัดเป็นการอบรมไปในตัว พ่อรุ่งเช้าจึงออกบิณฑบาตโปรดญาติโยม กลับมาฉันภัตตาหาร แล้วจะนำอาหารไปเลี้ยงสัตว์ต่างๆที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยวัด
ในด้านพระเครื่องนั้นเป็นที่โดงดังทั้วสารทิศ เป็นที่รู้จักทั้งในและนอกวงการพระเครื่อง ว่ามีคุณวิเศษมากมายในด้านแคล้วคลาด คงกระพันและเมตตามหานิยม โดยการสร้างพระในสมัยก่อนการทำปรอทให้แข็งไม่ใช่ของง่ายนัก ว่ากันว่าต้องใช้คาถาอาคม ทั้งต้องทำในฤดูฝนฤดูเดียวเท่านั้น 

สายวัดเสาธงทอง

วัดเสาธงทอง เป็นวัดโบราณมีอายุราว 600-700 ปี แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2370[1] เดิมชื่อ วัดพระบาท ด้วยเหตุที่มีรอยพระพุทธบาทสร้างด้วยศิลาแลง มีเรื่องเล่ากันว่า พระพุทธบาทนี้ลอยมาตามน้ำมาวนเวียนอยู่หน้าวัดนี้ ตาปะขาว 2 คนได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นมาและประดิษฐานยังวิหาร ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดพระบาท วัดเสาธงทองเคยเป็นวัดร้างระยะหนึ่ง จนในที่สุดโบราณวัตถุเสนาสนะต่าง ๆ มีอันต้องปรักหักพังลงจนหมด ต่อมาในราวพ.ศ. 2410 หลวงพ่ออยู่เป็นพระภิกษุรูปแรกได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุขึ้นใหม่ โดยเคยสร้างกุฏิสงฆ์ขนาดเล็ก 2–3 หลัง พอเป็นที่อาศัยแก่พระสงฆ์ ท่านครองวัดเสาธงทองได้ประมาณ 10 ปี ก็มรณภาพ ต่อมาหลวงพ่อเพิ่มปกครองวัด ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ต่อเป็นการใหญ่โดยจัดสร้างพระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ราว พ.ศ. 2460 ท่านได้สร้างพระเครื่องแจกเป็นครั้งแรกก็คือพระพุทธชินราช วัดเสาธงทอง สร้างเป็นเนื้อดินเผา เนื้อละเอียด ถือเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยม มีพระพุทธคุณโดดเด่นในด้านอยู่ยงและแคล้วคลาดจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

สายวัดดอนบุบผาราม
 ดอนบุบผาราม เดิม ชื่อวัดตะค่า (มะค่า) สมัยที่สร้างวัดคงมีไม้มะค่ามากมายหลายต้น หรือมีต้นมะค่าใหญ่ขึ้นอยู่ในบริเวณที่สร้างวัดจึงใช้สัญลักษณ์ของต้นไม้ขึ้นเป็นชื่อของวัด ต่อมาสมัยที่พระครูธรรมสารรักษา ที่ 2 รองจังหวัด เป็นเจ้าอาวาส ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ให้ชื่อว่า “วัดโคกดอกไม้” ต่อมาในระยะหลัง ๆ ซึ่งเป็นสมัยของพระครูธรรมสารรักษานั้นเอง เห็นว่าชื่อของวัดออกจะเป็นไทย ๆ มากไป จึงเปลี่ยนชื่อให้ไพเราะชวนฟัง โดยใช้ภาษาไทยผสมภาษาบาลี ว่า “วัดดอนบุบผาราม”
เจกิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ที่เป็นที่รู้จัก และได้ถ่ายทอดสรรพวิชา นั่นคือ หลวงปู่อ้น 

สายวัดหัวเขา
หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา  ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ปีจอ เดือน 7 ในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ตรงกับวันที่ 1 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2406
อุปสมบทเมื่อประมาณ พ.ศ.2426 ท่านเป็นพระธุดงค์มาจากเมืองอื่น (บางข้อมูลว่าท่านเป็นคนอำเภอศรีประจันต์ จากบันทึกว่าท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย อำเภอศรีประจันต์) แล้วเดินทางมาปักกลดปฏิบัติธุดงควัตรอยู่บริเวณบ้านหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช ซึ่งแต่เดิมเป็นป่ารกทึบ ท่านเห็นว่าอาณาบริเวณนี้มีความสงบร่มรื่นเหมาะแก่การสร้างเป็นวัด จึงได้สร้างเป็นวัดขึ้นมาชื่อว่า “วัดหัวเขา” และท่านก็ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

หลวงพ่ออิ่มท่านได้ปกครองวัดหัวเขา ท่านพัฒนาวัดหัวเขาจนเป็นวัดที่เจริญวัดหนึ่งในสมัยนั้น และมีพระภิกษุสงฆ์เดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์มากมาย อาทิ หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ , หลวงพ่อปุย วัดเกาะ , หลวงปู่แขก วัดหัวเขา และหลวงพ่อทรง วัดศาลาดิน เป็นต้น
ในยุคที่หลวงพ่ออิ่ม ครองวัดหัวเขา มีการสร้างเครื่องรางของขลังโบราณหลายชนิด เช่น ตะกรุดแบบต่างๆ รวมทั้งผ้ายันต์ เหรียญปั๊ม เหรียญหล่อโบราณ รูปหล่อโบราณ(นางกวัก) แหวนแบบต่างๆ พระผงใบลาน เป็นต้น

สายวัดป่าเลไลยก์
“พระครูโพธาภิรัต หรือ หลวงพ่อสอน อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 2 แห่ง วัดป่าเลไลยก์ วัดเก่าแก่สำคัญของ จ.สุพรรณบุรี พระเกจิผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้า ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ปฐมาจารย์สายวัดป่าเลไลยก์’ และเป็นพระเกจิรูปแรกผู้สร้างเหรียญพระพุทธและเหรียญพระสงฆ์ เป็นเหรียญแรกของเมืองสุพรรณบุรี”
หลวงพ่อสอน เป็นพระภิกษุที่ใฝ่ใจในการศึกษา ท่านมีโอกาสได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงพ่อกล่ำ พระเกจิผู้ทรงพุทธาคม อดีตเจ้าอาวาสรูปแรก ของ วัดป่าเลไลยก์ แล้วข้ามฟากมาเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดสุวรรณภูมิ และมาจำพรรษาวัดไชนาวาส (วัดชายนา) เพื่อศึกษาเพิ่มเติม ครั้นเมื่อทราบว่า หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า เป็นพระเกจิชื่อดังที่เก่งกล้าด้านวิปัสสนากรรมฐานและพระปริยัติธรรม ก็เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาจนแตกฉานอีกด้วย ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘พระครูวินัยธร’ ฐานานุกรมของ พระวิบูลย์เมธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี พอดีกับช่วงนั้นวัดป่าเลไลยก์เริ่มชำรุดทรุดโทรมมาก ทั้งไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา คณะสงฆ์เห็นว่าถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ วัดคงต้องร้างอย่างแน่นอน จึงมีมติแต่งตั้ง ‘พระครูสอน’ ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ ในปีพ.ศ.2456 เพื่อฟื้นฟูสภาพวัดโบราณให้คงอยู่สืบไป

สายวัดลาดตาล

หลวงพ่อโต๊ะ วัดลาดตาล หรือพระครูโพธาภิรัต วัดสองเขตสามัคคี (ลาดตาล) ต.ดอนมะสังข์ อ.เมือง จ.สพรรณบุรี ท่านเปรียบเสมือนปรมาจารย์ องค์หนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี มีอาวุโสกว่าหลวงพ่อมุ่ย 12 ปี มีพุทธาคม และอาคมเข้มขลัง อีกทั้งเป็นพระนักปฏิบัติที่มีพลังจิตแก่กล้า ท่านยังเป็นผู้ไม่ยึดติดในตำแหน่งชื่อเสียง สมถะเรียบง่าย


หลวงพ่อโต๊ะท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดใหญ่เช่น วัดป่าเลไลย์ วัดสุวรรณภูมิ แต่ท่านก็ลาออกและมาจำพรรษาอยู่ที่วัดลาดตาล ซึ่งเป็นวัดที่เล็กกว่าแต่มีความสงบเงียบมาก เพราะท่านต้องการสถานที่เงียบปลีกวิเวกบำเพ็ญเพียรภาวนา จึงทำให้ท่านมีพลังสมาธิจิตที่แก่กล้าและมีชื่อเสียงด้านการปฏิบัติเป็นอย่างมาก และด้วยที่ท่านมีพลังพุทธคมที่เข้มขลัง

ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย และปฏิบัติธรรมเป็นอย่างดี ท่านเป็นผู้ริเริ่มจัดการเรียนของพระเณรในจังหวัดสุพรรณ ตั้งโรงเรียนธรรมขึ้นที่วัดสุวรรณภูมิ เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์ เป็นพระที่ทำให้นักเลงอย่างหลวงพ่อแต้มบวชได้ หลวงพ่อแต้มวัดพระลอยท่านไปมาหาสู่เพื่อศึกษากับหลวงพ่อโต๊ะเป็นประจำ ในเรื่องของความเชื่อเรื่องปาฎิหารย์ ท่านเป็นผู้ที่หยั่งรู้

สำหรับเกจิอาจารย์ ที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับทั่วสารทิศ ที่หลาย ๆท่าน รู้จักในทันทีนั้น  อย่างเช่น หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ได้ศึกษาสรรพวิชาสายหลวงพ่อเนียม วัดน้อย เช่นเดียวกับ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ที่ท่านก็ได้เรียนในสายหลวงพ่อเนียม วัดน้อย


หลวงพ่อฑูรย์ วัดโพธิ์นิมิต สำเร็จสรรพวิชาในสายหลวงปู่โต๊ะ วัดลาดตาล เกจิชื่อเสียงสะท้านแผ่นดิน อย่าง หลวงพ่อกวย วัดโฆษิตาราม หรือ วัดบ้านแค ท่านก็ได้มีดอกาสร่ำเรียนในสายหลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา เช่นกัน 
หลวงพ่อทรง วัดศาลาดิน ศึกษาในสายหลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา และหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ เป็นอีกหนึ่งเกจิสำคัญของสายหลวงพ่อเนียม วัดน้อย