พระกรุยอดนิยม แห่ง เมืองลพบุรี พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
พระเครื่องบรรจุกรุที่สำคัญ ของ เมืองลพบุรี พระหูยาน วัตถุมงคลขุนศึกแห่งกรุงละโว้ สะท้อนแง่มุมประวัติศาสตร์มหาอำนาจทางทหารในอดีต
พระกรุต่างๆ ของ จ.ลพบุรี หรือเมืองละโว้ ล้วนมีชื่อเสียงโด่งดังจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้ มีหลายกรุหลายพิมพ์ กรุสำคัญที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้ง นั่นคือ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดใหญ่ เป็นพระอารามหลวงที่ยิ่งใหญ่ของขอมใน พ.ศ.1600 ยุคที่ขอมเรืองอำนาจ สมัยต่อมาอาจมีการสร้าง รื้อถอน แก้ไขต่อเติม ทับของเดิม เอาไว้เรื่อยกันมา จุดเด่นของวัดนี้ คือ พระปรางค์ใหญ่ ภายในได้บรรจุปฏิมากรรมรูปเคารพสมัยลพบุรี อายุมากถึง 955 ปี โดยมีเป็นจำนวนมาก
เมื่อประมาณ พ.ศ.2430 ได้มีคนร้ายลอบเข้าไปเปิดกรุในพระปรางค์ ได้สมบัติโบราณอันมีค่ามากมาย รวมทั้งพระพุทธรูปและพระเครื่องอีกจำนวนหนึ่ง เหตุการณ์ในครั้งนั้น คือ ที่มาของสุดยอดพระเครื่องพิมพ์หนึ่ง ที่แสดงออกของศิลปะลพบุรี ด้วยฝีมืออันยอดเยี่ยม ปรากฏโฉมเป็นครั้งแรกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ที่พบเห็น คือ พระหูยาน รวมทั้งพระพุทธรูปที่ขึ้นมาจากกรุเดียวกันนี้อีกหลายองค์
พระหูยาน ที่ได้ขุดพบนี้ นับเป็นการขุดพบเป็นครั้งแรก ที่เรียกว่า พระหูยาน กรุเก่า เป็นพระต้นสกุล พิมพ์หูยาน ที่ยังไม่เคยมีการพบเห็นพระพิมพ์นี้จากที่อื่นใดมาก่อนเลย ต่อมา ได้มีผู้ขุดพบพระพิมพ์นี้จากกรุวัดอื่นๆ ที่อยู่ในตัวเมืองลพบุรี อีกหลายแห่ง แต่อายุและศิลปะ ยังน้อยกว่ากรุแรก เช่น กรุวัดรามอินทรา, กรุวัดปืน และอีกหลายวัดที่ไม่ปรากฏหลักฐานมาก่อน
นอกจากนี้ ยังขุดพบ พระหูยาน ที่เมืองอื่นๆ อีกหลายเมือง ซึ่งต่างรับเอาอิทธิพลของพระเครื่องพิมพ์นี้ไปสร้างต่อๆ กันมา จนถึงสมัยอยุธยา รวมทั้งทุกวันนี้ก็ยังมีวัดต่างๆ นิยมสร้าง พระหูยาน ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบ พระย้อนยุค โดยมีจุดประสงค์คือ เพื่อสืบทอดพระศาสนาในรูปแบบให้ทำบุญบูชา พระหูยาน เท่าที่ปรากฏอยู่ในวงการครั้งแรก แยกออกได้เป็น 3 พิมพ์ คือ 1.พระหูยาน พิมพ์บัว 2 ชั้น 2.พระหูยาน พิมพ์บัวชั้นเดียว หรือ “หน้ายักษ์” และ 3.พระหูยานพิมพ์พิเศษ
พุทธลักษณะของ พระหูยาน เป็นพระปางมารวิชัย (สะดุ้งมาร) องค์พระประทับนั่งบนบัวเล็บช้างห้ากลีบ พระศกทำเป็นแบบผมหวี พระเกศทำเป็นมุ่นผมขมวดปมไว้ 2 ชั้น ดูคล้ายกับมอญโพกผ้า สัญลักษณ์สำคัญของพระพิมพ์นี้คือ ใบหูทั้ง 2ข้างจะยานยาวเป็นพิเศษ จนเกือบติดบ่า อันเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้ว่า พระหูยาน โดยเฉพาะรายละเอียดด้านพระพักตร์นั้น งดงามคมชัดมาก ชนิดที่เห็นพระเนตรพระกรรณอย่างชัดเจน เรียกกันง่ายๆ ว่า “งามเห็นหูตากะพริบ” นั่นเอง
พระพักตร์ของ พระหูยาน หน้ายักษ์ นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่างยุคโบราณจงใจแสดงความยิ่งใหญ่ ในความเป็นมหาอำนาจทางทหารในยุคนั้น โดยฝากศิลป์ไว้กับพระพิมพ์นี้ดุจดั่งราวกับว่าท่านเป็น ขุนศึกแห่งกรุงละโว้