รวม เหรียญวัตถุมงคลยอดนิยม สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ส่องเหรียญพระบรมรูป สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ชาญรณรงค์ แห่งราชอาณาจักรอยุธยา ที่เป็นที่นิยมของผู้ศรัทธา
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 พระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทและชื่อเสียง จะเรียกได้ว่า มากที่สุดในยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่ผิดนัก ด้วยบทบาทภาระหน้าที่ ในการต่อสู้กอบกู้การปกครองตนเองจากอำนาจของ ราชขอาณาจักรหงสาวดี ทำให้ผู้คนนับถือพระองค์เป็นประหนึ่ง ผู้กอบกู้อิสรภาพ ของอยุธยา
จนถึงปัจจุบัน ความเคารพศรัทธาในพระองค์ก็ยังเปี่ยมล้น เห็นได้จาก พระบรมราชานุสรณ์ ต่างๆที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ รวมทั้งในด้านวัตถุมงคล ผู้ที่มีความเชื่อความศรัทธา ต่างสักการะบูชา และพกวัตถุมงคลที่เป็นพระบรมรูปเหมือนของพระองค์ติดตัวเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ในครั้งนี้ได้ขอรวบรวมบางส่วน เหรียญสมเด็จพระนเรศวรที่เป็นที่นิยม เคยมีการจัดพิธีพุทธาภิเษกครั้งใหญ่ น่าสนใจ ลองมาดูกันว่ามีรุ่นไหนกันบ้าง
1.เหรียญสมเด็จพระนเรศวร รุ่น ตองโข่ พ.ศ.2503
จัดสร้างโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ร่วมกับ “หนุ่มศึกหาญ” ผู้นำกองทัพเมืองไต (เจ้าฟ้าไทยใหญ่) จัดสร้างเหรียญขึ้นจำนวนหนึ่งราวสองพันถึงสามพันเหรียญ แล้วแบ่งกันฝ่ายครึ่งเพื่อคุ้มครองภัยในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ และเกิดประสบการณ์เป็นที่เลื่องลืออย่างมากในยุคนั้น
เหรียญสมเด็จพระนเรศวรตองโข่ รุ่นแรก ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครึ่งพระองค์ผินพระพักต์เบื้องซ้ายล้อมด้วยตัวอักษรไทยใหญ่ ด้านบนอ่านได้ว่า “เจ้าฟ้า นเรโสน มหาหร่าจ่า” แปลว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชา ข้างล่างเป็นปีที่ประสูติถึงปีที่สวรรคต (พ.ศ.2098-2148) ด้านหลังวางตัวอักษรไทยใหญ่ทั้งหมดเป็นอักษรโบราณ ข้างบนอ่านว่า “เจ้าฟ้า นเรโสน มหาหร่าจ่า” แปลว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชา ตรงกลางเหรียญอ่านว่า “ไหล้ ปื๋น อ่า หน่า กู้ จ้าด” “ตี้ ปาง กิง เมิง หาง” (มุงคิง) แปลว่า ได้เผยอาชญากู้ชาติ ที่ปางกงเมืองหาง ขอพลานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คุ้มครอง ข้างล่างเป็นปีที่พระองค์ทรงประกาศอิสรภาพ พ.ศ.2127
เหรียญนี้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษกถึง 2 วาระ โดยพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังมากมาย ที่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในยุคนั้น วาระแรก ที่วัดราชบพิธสถิตสีมาราม กรุงเทพฯ วาระที่ 2 ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก นอกจากนี้ยังประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติอีกด้วย เหรียญสมเด็จพระนเรศวรตองโข่ รุ่นแรก นับเป็นเหรียญยอดนิยม หายาก และเป็นเหรียญที่มีพุทธคุณสูง เป็นที่ประจักษ์ในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี
2.เหรียญสมเด็จพระนเรศวรรุ่นเผด็จศึก ปี 2507
เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช "เผด็จศึก" พิธีกริ่งนเรศวรเหรียญเผด็จศึก เป็นเหรียญที่สร้าง และ ปลุกเสกในพิธีกริ่งนเรศวรปี 2507 ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ ตามประวัติการสร้าง พระกริ่งนเรศวรปี 2507 เป็นพระกริ่งที่จัดสร้างขึ้นโดยโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (ชาย) เพื่อหาทุนในการสร้างตึกวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน โดยท่านพล.ต.ต.ยรรยง สท้าน
พระคณาจารย์ที่ได้รับการนิมนต์มาร่วมปลุกเสก เช่น
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
หลวงพ่อนอ วัดกลาง ท่าเรือ
หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่
ฯลฯ
วัตถุมงคลที่สร้าง และ ปลุกเสกในพิธีเดียวกันได้แก่ พระกริ่งใหญ่นเรศวร พระชัยวัฒน์ เหรียญพระกำแพงนิ้ว เหรียญพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ
3.เหรียญสมเด็จพระนเรศวรเมืองงาย
สร้างโดยวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2512 จำนวนการจัดสร้างหนึ่งแสนเหรียญ เป็นเหรียญทรงกลมมีหูด้านบนในตัว ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร มีข้อความว่า “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ระบุพ.ศ.2512 ด้านหลังเป็นรูปพระสถูปเจดีย์ และอักษรล้านนาโดยรอบ เป็นเหรียญที่นิยมกันในภาคเหนือ สร้างพร้อมกับพระกริ่งนเรศวรเมืองงาย และพระบูชาพระพุทธสิหิงค์ หลายขนาดตามการสั่งจอง มีเนื้อทองแดงรมดำ ทองแดงผิวไฟ และมีเนื้อทองคำด้วยจำนวนเล็กน้อย
4.เหรียญยุทธหัตถีดอนเจดีย์ พ.ศ.2513
เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังยุทธหัตถี พุทธาภิเษกเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2513 (ตรงกับวันกองทัพไทยในยุคนั้น) เป็นเหรียญทองแดง ทรงกลมมีหูด้านบน ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร มีข้อความโดยรอบว่า “25 มกราคม 2513 อักษรบาลี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร” เบื้องล่าง “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ด้านหลังเป็นภาพ ขณะทำยุทธหัตถี อักษรระบุวันที่กระทำยุทธหัตถี เบื้องล่าง “ยุทธหัตถี ณ ดอนเจดีย์” เหรียญรุ่นนี้สร้างมาจำนวนมาก มีหลายแม่พิมพ์ จึงเป็นพระดีที่ราคาไม่แพงในปัจจุบัน
5.เหรียญพิธีจักรพรรดิ ปี 2515
เหรียญพระพุทธชินราช พิธีจักรพรรดิ พ.ศ.2515 เป็นเหรียญทรงกลม ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินราช ด้านหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลั่งน้ำสิโนทก มีข้อความ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย” พิธีจักรพรรดิ เป็นพิธีมหาพุทธาภิเษกที่ยิ่งใหญ่ จัดขึ้นโดยพุทธสมาคมจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2515 ณ วิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก เพื่อนำวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นมาเข้าพิธีปลุกเสก วัตถุมงคลรุ่นนี้มีพระพุทธชินราชจำลอง พระชัยวัฒน์ พระกริ่งนเรศวรวังจันทน์ พระพิมพ์และเหรียญชินราชมหาจักรพรรดิ ฯลฯ
พิธีมหาจักรพรรดิพุทธาภิเษก เป็นพิธีที่ใหญ่มาก ตามประวัติในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธี “จักรพรรดิมหาพุทธาภิเษกนี้ ครั้งแรกนั้นได้กระทำพิธีในสมัยรัชการที่ 1 หลังจากนั้นไม่มีการกระทำพิธีแบบนี้อีกเลย พิธีกรรมเริ่มจากคณะกรรมการนำแผ่นเงิน แผ่นทอง เข้านมัสการขอบารมีพระคุณเจ้าผู้ทรงวิทยาคุณทั่วประเทศรวม 109 ให้ท่าน ลงอักขระเลขยันต์ คาถา และอธิษฐานจิตปลุกเสกแผ่นทองเงิน
หลังจากนั้นคณะกรรมการนำแผ่นทองเงินที่พระคณาจารย์ 109 รูปลงและปลุกเสกแล้ว ขึ้นกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช ทรงเจิม และประทานพรแห่งความสำเร็จในการสร้างโดยมีพระอาจารย์ผ่อง (จินดา) วัดจักรวรรดิราชาวาสพระนคร และอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ซึ่งเป็นเจ้าพิธี กำหนดและควบคุมการดำเนินการกระทำพิธี ครบถ้วนตามแบบฉบับของโบราณพิธีทุกประการ นับเป็นเหรียญสมเด็จพระนเรศวร ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันนี้
6.เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรุ่น“สู้”
เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรุ่น “สู้” เป็นรุ่นที่นิยมกันมาก โดยมีการจัดสร้างทั้งหมด 3 ชนิด คือ 1.เหรียญทองคำ จำนวน 3999 เหรียญ น้ำหนักประมาณ 1.5 บาท บริจาค 25000 บาท 2.เหรียญเงิน จำนวน 9999 เหรียญบริจาค 1000 บาท และ 3.เหรียญทองแดงบริสุทธิ์ จำนวน 9999999 เหรียญ บริจาค 100 บาท
ทั้งนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ จัดสร้างเหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รุ่น “สู้” เพื่อนำไปพระราชทานทหาร ตำรวจ ราษฎร อาสาสมัครรักษาหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล ทูลเกล้าฯ ถวายนำไปทรงช่วยใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยพระภาวนาจารย์ 108 รูปพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ 2549 รูป ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน2548 ความหมายของคำว่า “สู้” ดังนี้
1.สู้เพื่อปกป้องรักษาประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทยเหมือนดังเช่นบรรพบุรุษไทยได้เสียสละชีวิต เลือดเนื้อ เพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยให้เป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลานไทยตราบเท่าทุกวันนี้
2.สู้เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยช่วยกันรักษากฎหมายของบ้านเมืองให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันมิให้ผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติมาทำร้ายคนบริสุทธิ์
3.สู้เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความทุกข์ยาก เช่น การช่วยขจัดปัญหาความยากจน การว่างงานและความไม่เป็นธรรมในสังคม