พระเครื่อง

ประวัติ พระเถราจารย์ผู้สร้างตำนาน ขุนแผนพรายกุมาร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่

ประวัติ พระเถราจารย์ผู้สร้างตำนาน ขุนแผนพรายกุมาร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่

28 ธ.ค. 2565

อ่านประวัติ พระเกจิอาจารย์ผู้ได้รับความนิยมอย่างสูงแห่งเมืองระยอง เสกสร้างวัตถุมงคลสำคัญ พระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่


เชื่อเหลือเกินว่า คนไทยสายบุญ สายวัด นักสะสมพระเครื่อง ย่อมจะต้องรู้จัก หลวงปู่ทิม อิสริโก หรือ พระครูภาวนาภิรัต เป็นอย่างดี เพราะท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ เป็นยอดพระคณาจารย์ที่มีพลังจิตแก่กล้ารูปหนึ่งของภาคตะวันออก ท่านเป็นคนถือสันโดษ ถือสมถะ ไม่ยึดติดทรัพย์สินใดๆ ท่านฉันอาหารเพียงมื้อเดียวและไม่ฉันเนื้อสัตว์ ท่านสามารถตัดกิเลสออกไปทั้งปวง

หลวงปู่ทิม อิสริโก หรือ พระครูภาวนาภิรัต
พระครูภาวนาภิรัต หรือที่รู้จักกันในนามว่า หลวงปู่ทิม อิสริโก ท่านเกิดเมื่อ ปีมะแม วันศุกร์ เดือน 7 ตรงกับวันที่ 16 เดือน มิถุนายน 2422 เป็นบุตรของนายแจ้ นางอินทร์ งามศรี ที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร ตำบลละหาร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง  ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

หลวงปู่ทิม นามเดิมคือ “ทิม งามศรี” มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันเป็นชายทั้ง 3 คน ท่านเป็นคนกลาง และยังเป็นหลานของ “หลวงปู่สังข์” โดยมารดาของท่านเป็นน้องสาวหลวงปู่สังข์ หลวงปู่สังข์นี้เป็นพระปรมาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมอย่างยิ่งในสมัยนั้น และยังเป็นผู้ก่อตั้ง “วัดละหารไร่” ขึ้น เป็นพระที่เรืองวิทยาอาคมมาก ว่ากันถึงขนาดว่า น้ำลายที่ท่านถมถ้าถูกพื้นๆ จะแตก

หลวงปู่ทิม อิสริโก หรือ พระครูภาวนาภิรัต
จนเมื่อทางจังหวัดทราบถึงความเก่งกล้าในวิทยาอาคมของท่าน จึงนิมนต์มาอยู่ที่วัดเก๋งจีน และได้สร้างพระเนื้อตะกั่ววัดเก๋งจีนขึ้น หากแต่ก่อนที่จะไปอยู่วัดเก๋งจีนนั้น หลวงปู่สังข์ได้ทิ้งตำราและวิทยาการต่างๆ ไว้ที่วัดละหารไร่ทั้งหมด เพราะท่านไม่หวงแหนในวิชาของท่านแต่อย่างใด ท่านกล่าวว่า “ใครมีปัญญาก็ค้นคว้าเอาเอง”

 นี่จึงเป็นที่มาว่า เหตุใดหลวงปู่ทิมจึงได้มวิชาแก่กล้าในกาลต่อมาเช่นกัน

ต่อมาเมื่อมีอายุเจริญวัยได้ 17 ปี นายแจ้ผู้เป็นบิดาได้นำตัวของหลวงปู่ทิมไปฝากไว้กับท่านพ่อสิงห์ ที่วัดได้เล่าเรียนหนังสือกับท่านพ่อสิงห์พระอาจารย์เป็นเวลาประมาณ 1 ปี จนเมื่อมีความสามารถเรียนรู้จนเข้าใจเขียนได้อ่านออกดีแล้ว นายแจ้ผู้เป็นบิดาของท่าน จึงได้ไปกราบนมัสการท่านพ่อสิงห์ขอตัวหลวงปู่ทิมให้กลับมาอยู่ที่บ้านเช่นเดิมเพราะไม่มีคนช่วยงาน หลวงปู่ทิมจึงได้ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างมีความกตัญญูกตเวที
 

หลวงปู่ทิมอุปสมบท เมื่อวันที่ 7 เดือนมิถุนายน 2449 โดยมีพระคุณเจ้าท่านพระครูขาว วัดทับมาเป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สิงห์ (พระอาจารย์ของท่าน ในขณะที่ท่านได้ศึกษาครั้งแรก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ พัทธสีมา วัดละหารไร่  ตอนนั้น ท่านได้ฉายาว่า “อิสริโก” เมื่อท่านบวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านก็มาอยู่ที่วัดกับพระอาจารย์สิงห์ได้ 1 พรรษา ขณะที่ท่านอยู่กับพระอาจารย์สิงห์นั้น ท่านได้ค้นคว้าและศึกษาตำราของหลวงปู่สังข์ที่ได้ทิ้งไว้ให้ตามตู้พระไตรปิฎก

หลวงปู่ทิม อิสริโก หรือ พระครูภาวนาภิรัต
นอกจากนี้ หลวงปู่ทิม อิสริโก ยังตั้งใจที่จะฝึกฝนตนเองด้วยการออกธุดงค์ ซึ่งโดยมากพระในรุ่นเดียวกันไม่ค่อยทำกัน เพราะต้องการศึกษาในทางพระปริยัติธรรมมากกว่า  หลวงปู่ทิมเมื่ออยู่ครบพรรษาแล้ว จึงขออนุญาตและมนัสการกราบลาอาจารย์ออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดเป็นเวลา 3 ปี จึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังจังหวัดชลบุรี บ้านเกิด

ตอนแรกท่านจำพรรษาอยู่ที่ “วัดนามะตูม” เป็นเวลา 2 พรรษา โดยระหว่างนั้น ยังร่ำเรียนวิชากับเกจิอาจารย์หลายอาจารย์ด้วยกัน รวมทั้งฆราวาส โยมเริ่ม โยมรอด และโยมสาย  นอกจากนั้นยังศึกษาตำราซึ่งตกทอดมาจากหลวงปู่สังข์เฒ่า เจ้าอาวาสวัดเก๋งจีนซึ่งเป็นลุงแท้ๆ ของหลวงปู่ทิม เป็นเวลา 2 ปี เศษ และต่อมาท่านจึงกลับมาอยู่ที่วัดละหารไร่หรือ (วัดไร่วารี) ตามเดิม

ในยุคนั้น วัดละหารไร่ ซึ่งเดิมชื่อ “วัดไร่วารี” เนื่องจากมีน้ำอยู่ล้อมรอบ ว่ากันว่าเป็นที่กันดารมาก ถ้าจะไปต้องบุกป่าฝ่าดงพอสมคใร และอาจหลงทางได้ โดยในสมัยนั้นยังไม่มีถนน มีแต่ทางเดินแคบๆ เท่านั้น

หลวงปู่ท่านจึงพัฒนาวัดขนานใหญ่ ด้วยความร่วมมือจากญาติโยมในท้องถิ่น จนต่อมาคณะสงฆ์ได้มอบหมายให้ท่านเป็น “พระอธิการทิม อิสริโก” เจ้าอาวาสวัดละหารไร่  ต่อมาท่านยังได้ก่อสร้างเสนาสนะ บูรณะซ่อมแซมกุฏิ และอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น 1 หลัง และในปี 2483 ได้จัดให้มีการเปิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อสอนกุลบุตรกุลธิดาของประชาชน โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่สอน

รูปหล่อ หลวงปู่ทิม ที่วัดละหารไร่ ระยอง
โดยในการนี้ ชาวบ้านต่างให้ความร่วมมือกับหลวงพ่ออย่างดี มีอาคารเรียน 1  หลัง ตามแบบ ป.1 ข. โดยใช้เวลาการก่อสร้างเพียง 8 เดือนก็แล้วเสร็จเรียบร้อย  ต่อมาท่านก็ชักชวนชาวบ้านช่วยกันพัฒนาก่อสร้างสะพานข้ามคลองอีกหลายแห่ง สร้างหอฉันและศาลาการเปรียญสำเร็จ ด้วยเงินกว่า 4 ล้านกว่า  ด้วยผลงานดังกล่าว ในปี 2478 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน ต่อมาในปี 2497 ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร และในปี 2507 ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระครูภาวนาภิรัติ”


ในครั้งแรกท่านไม่ใยดีกับยศตำแหน่งที่ทางการคณะสงฆ์ได้มอบให้ และถูกทางคณะสงฆ์เร่งรัดให้ท่านเดินทางไปรับพัดยศที่จังหวัด ซึ่งท่านก็ไม่ไปรับ จนกระทั่งชาวบ้านรู้ข่าว จำต้องพร้อมใจกันจัดขบวนแห่ไปรับพัดยศ และตราตั้งมาถวายให้กับท่านถึงวัด ท่านจึงต้องจำยอมรับอย่างเสียมิได้


อย่างที่เกริ่นไปว่าหลวงปู่เป็นพระที่น่าเคารพและบูชาเป็นอย่างยิ่ง นั่นเพราะท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในพระธรรมและวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระมักน้อย สันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส  ทั้งนี้ ท่านฉันเช้าประมาณ 7 โมงเช้าและน้ำชาก็เวลา 4 โมงเย็น ถ้าเลยเวลาหลวงปู่ไม่ยอมฉันแม้แต่น้ำชา ท่านฉันข้าวมื้อเดียวมาประมาณ 47 ปี โดยงดเนื้อสัตว์จำพวก เนื้อ หมู เป็ด ไก่ หรืออาหารคาวทุกชนิด ว่ากันว่าแม้แต่น้ำปลาก็ไม่ฉัน แต่อาหารที่ท่านฉันเป็น ผัก ถั่ว หรือเส้นแกงร้อน น้ำพริกกับเกลือป่นอย่างนี้ตลอดมา

 

หลวงปู่ทิม ได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม 2518 ณ หน้าหอสวดมนต์ วัดละหารไร่ หลังจากที่ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา เป็นเวลา 23 วัน


คณะศิษย์ได้จัดพิธีศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดละหารไร่ หลังจากทำบุญ 100 วัน อุทิศส่วนกุศลให้กับหลวงปู่ทิมแล้ว ได้เก็บศพไว้ที่ศาลา ภาวนาภิรัต ศาลาการเปรียญ วัดละหารไร่ จนกระทั่งได้ทำการพระราชทานเพลิงศพท่านไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2526 ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รวมสิริอายุได้ 96 ปี นับพรรษาได้ 69 พรรษา