ประวัติของครูบาอาจารย์ ผู้มีปัญญาดุจพรหม " หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ "
ศึกษาข้อมูลประวัติ ของครูบาอาจารย์รุ่นเก่าที่น่าสนใจ หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ แห่งสุสานทุ่งมน เมืองสุรินทร์ และตำนานกันกระสุนช่วยชาวบ้าน
หากจะกล่าวถึงเกจิอาจารย์ในโซนอีสานใต้ แน่นอนว่า ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในสายบุญฤทธิ์ หรือ สายพระกรรมฐาน แต่หากจะพูดถึงสายอิทธิฤทธิ์ หรือสายพระที่มีวิชาอาคม ชื่อของ หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ แห่ง สุสานทุ่งมน เมืองสุรินทร์ ย่อมเป็นหนึ่งในนามเกจิที่หลายคนรู้จัก ช่องทางการเผยแพร่ตามโซเชียลมีเรื่องราวของท่านจำนวนไม่น้อย ยอดวิวการดู การฟัง ก็ไม่ใช่ย่อย จึงทำให้น่าศึกษาประวัติของท่านว่า มีที่ไปที่มาอย่างไร
สำหรับประวัติของ “หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ” เดิมนามว่า สุวรรณหงษ์ จะมัวดี เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2460 ที่บ้านทุ่งมน จบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดอุทุมพร บ้านทุ่งมน ในตำบลเพชรบุรี อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่ออายุได้ 18 ปี มารดารขอร้องให้บวชเณรเป็นระยะเวลา 7 วัน เด็กชายสุวรรณหงษ์จึงตัดสินใจบวชเป็นสามเณรด้วยความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อมารดาโดยไม่บ่ายเบี่ยง และเมื่อเวลาครบ 7 วันเด็กชายสุวรรณหงษ์กลับรู้สึกเลื่อมใสในร่มกาสาวพัสตร์ในพระพุทธศาสนาจึงไม่ได้ทำการสึกจากเณร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อครบอายุเกณฑ์ 20 ปี ณ วัดเพชรบุรี ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
โดยมีพระอาจารย์แป้นเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า”พรหมปัญโญ” แปลว่า “ผู้มีปัญญาดุจพรหม” ในการนี้ การศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นความภาคภูมิใจที่หลวงปู่หงส์ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน และยังได้มีความอุตสาหะในการแสวงหาความรู้จากครูบาอาจารย์มากมาย และด้วยความมีวิริยะอุตสาหะนี่เอง หลวงปู่หงส์ได้จดจำภาษาบาลีอย่างแม่นยำจนกระทั่งสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปี พ.ศ. 2482 และต่อมาในปีพ.ศ. 2483 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนผู้ใหญ่เพิ่มเติมจนสอบได้ระดับปลายภาคจากวัดศรีลำยอง ตำบลสมุด อำเภอประสาท ต่อมาเมื่อบวชครบ 3 พรรษา
หลวงปู่หงษ์ จึงได้ออกจาริกถือธุดงควัตรตามแบบฉบับแห่งพระบรมครู พักอาศัยอยู่ตามโคนไม้ หาที่สงบสัปปายะ เจริญภาวนาที่ป่าช้าตั้งอต่ช่วงเช้าจนถึงค่ำ ฉันภัตราหารเพียงวันละมื้อก่อนที่จะเลือกเพียรหาในการแสวงหาความรู้สรรพศาสตร์มนตราจากครูบาอาจารย์ในเมืองขุขันธ์ จังหวัดศรีษะเกษ และได้จาริกธุดงค์ข้ามประเทศไปยังกรุงพนมเปญประเทศกัมพูชา
หลวงปู่หงษ์ได้ศึกษาเล่าเรียน วิชาเมตตามหานิยม กำบังภัยคุ้มครองแคล้วคลาดกันจากอาวุธปีน หอก ดาบ เขี้ยว งา และการป้องกันคุณไสย หุพิธีสีผึ้งและทำน้ำมนต์รดอาบแก้สิ่งไม่ดี อีกทั้งยังมีเรื่องราวของกลุ่มโจรในประเทศกัมพูชาที่มีวิชาอาคมแก่งกล้าออกปล้นสะดมจนทางการกัมพูชาต้องมาร้องขอให้หลวงปู่หงษ์ช่วยจับกุม จนกระทั่งกลุ่มโจรนี้กว่า 50 คนต่างก็ขอหลวงปู่หงษ์เป็นศิษยานุศิษย์ร่วมเดินรอยตามพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกที่มีทั้งลูกระเบิด ลูกปืนใหญ่ตกใส่ในพื้นที่ที่หลวงปู่หงษ์อยู่กับชาวบ้านในหมู่บ้านกรูกลับไม่ระเบิด
จนทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสและศรัทธากันเป็นจำนวนมาก และยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายภายหลังที่ท่านได้กลับมาจำวัดอยู่ที่“สุสานทุ่งมน” หรือ “วัดเพชรบุรี” ในตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยต่อมาหลวงปู่หงษ์ ได้รับสมณศักดิ์ในปี พ.ศ. 2523 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่”พระครูประสาทพรหมคุณ” ต่อมา ในพ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม
หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ แห่งสุสานบ้านทุ่งมน (วัดเพชรบุรี) ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ละสังขารด้วยโรคชรา เมื่อ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2557 สิริอายุได้ 97 ปี