เหรียญเสือเผ่น หลวงพ่อสุด วัดกาหลง ยอดพุทธคุณแคล้วคลาด
วัตถุมงคลยอดนิยม ของตำนานสายเหนียว เหรียญเสือเผ่น หลังยันต์ตะกร้อ ของ หลวงพ่อสุด แห่ง วัดกาหลง เกจิดัง ของ สมุทรสาคร
พระครูสมุห์ธรรมสุนทร หรือ หลวงพ่อสุด อดีตเจ้าอาวาสวัดกาหลง เกจิอาจารย์ชื่อดังของ จ.สมุทรสาคร เจ้าตำรับยันต์ตะกร้อและเสือเผ่น ท่านเป็นชาว อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ท่านบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ 16 ปี ที่วัดกลางพนมไพร จ.ร้อยเอ็ด แล้วเดินทางรอนแรมจากร้อยเอ็ดไปแสวงหาวิชาและความรู้ในทางธรรมตามที่ต่างๆ จนกระทั่งได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดกาหลง จนมรณภาพ
เรื่องราวของหลวงพ่อสุดเกี่ยวกับพลังอำนาจจิตที่อยู่ในรูปการสักยันต์ตะกร้อและเสือแผ่นนั้นโด่งดังมากแม้แต่ “ตี๋ใหญ่” ขุนโจรชื่อดังที่เขาลือกันว่าหนังเหนียวและแคล้วคลาดอยู่ตลอดยังนับถือไปมาหาสู่หลวงพ่ออยู่บ่อยๆ “ตี๋ใหญ่” มีของดีคือมีผ้ายันต์กับตะกรุดของหวงพ่อสุดไว้ป้องกันตัว ขนาดถูกตำรวจเป็นร้อยล้อมจับก็ยังหนีเอาตัวรอดไปได้ จนใครๆ ลือกันว่าตี๋ใหญ่มีวิชาล่องหนหายตัวได้
ในพิธีพระราชทานเพลิงศพไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2545 เกิดปาฏิหาริย์เป็นข่าวน่าสนใจที่ว่าศพของท่านโดนไฟเผาไหม้ไม่หมด แม้ว่าร่างจะเป็นเนื้อหนังกระดูกเผาหมดแล้วแต่กระดูกหรืออัฐิยังอยู่ในภาพที่สมบูรณ์มาก ไม่บิ่นหรือแตกร้าวเป็นชิ้นๆ แบบการเผาศพทั่วไปเลย ทำให้หลายคนไม่อยากเชื่อ จึงต้องไปพิสูจน์ให้เห็นกับตา
ทั้งนี้ก่อนวันประชุมเพลิง คณะกรรมการก็ได้เตรียมงานแต่เนิ่นๆ โดยได้เคลื่อนสรีระร่างของท่านมา หลวงพ่อคล้ายคนนอนหลับ ร่างท่านมีแต่หนังหุ้มกระดูกไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า จีวรเก่าแต่ก็ไม่เปียกคราบน้ำเหลือง เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดให้ดูก็เห็นภาพที่ว่าท่านยังเป็นโครงกระดูกอยู่ ทำให้ชาวบ้านละแวกวัดและประชาชนทั่วไปที่สนใจมั่นใจมากขึ้นว่าเป็นปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสุด เพราะท่านสำเร็จวิชาอยู่ยงคงกระพันชาตรี ศาสตร์ลี้ลับที่ทำให้สังขารของท่านไม่อาจเผาให้ไหม้หมดอย่างคนธรรมดาทั่วไปได้
ปัจจุบันทางวัดกาหลง จ.สมุทรสาคร ได้นำร่างที่เป็นโครงกระดูกของหลวงพ่อสุดบรรจุไว้ในโลงแก้วตั้งให้ประชาชนไปกราบนมัสการอยู่ที่ชั้นสองของศาลาการเปรียญภายในวัดซึ่งทุกวันจะมีประชาชนและลูกศิษย์ที่เลื่อมใสแวะเวียนไปกราบเสรีระร่างของท่านไม่ขาดสาย
สำหรับเหรียญหลวงพ่อสุด วัดกาหลง รุ่นเสือเผ่น พิมพ์เข่าแตกแขนขีด เนื้อทองแดง ปี 2517 จ.สมุทรสาครนั้น สร้างเพื่อแจกในงานที่ระลึกทำบุญครบ 6 รอบ ของพระครูสมุทรธรรมสุนทร (สุด) ในปี พ.ศ.2517 และเหรียญนี้เฉพาะเนื้อเงินและเนื้อนวโลหะตอกโค้ดที่สังฆาฏิหลวงพ่อทุกเหรียญ
-เนื้อที่จัดสร้าง
1.เนื้อเงิน
2.เนื้อนวโลหะ
3.เนื้ออัลปาก้ากะไหล่เงิน
4.เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
5.เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน
6.เนื้อทองแดงผิวไฟ
7.เนื้อทองแดงรมดำ
หลักในการพิจารณาเหรียญเนื้อทองแดงของพิมพ์นี้ เบื้องต้นให้พิจารณาจากพิมพ์ให้ถูกต้องก่อน เนื่องจากเหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญตัดขอบยุคปี 2500-2540 แบบรอยตัดขอบปกติ จึงให้พิจารณาจากรอยตัดนูนขนานที่ขอบขวาเหรียญ พร้อมสัณฐานบล็อกตัวตัดที่ด้านหลังหูเหรียญเป็นสำคัญ