พระเครื่อง

ดร.เอ ที อริยรัตนะ
กับ..."พุทธธรรมนำการพัฒนาในศรีลังกา"

ดร.เอ ที อริยรัตนะ กับ..."พุทธธรรมนำการพัฒนาในศรีลังกา"

03 มิ.ย. 2553

ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ พฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพร่วมกันจัดงานวันวิสาขบูชาโลก พ.ศ.๒๕๕๓ โดยมี ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ด้านศาสนา คณะสงฆ์ และผู้แทนจากองค์กรพุทธทั่วโลกกว่า ๑,๗๐๐ รูป/คน

 หนึ่งในผู้นำชาวพุทธที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ คือ ดร.เอ ที อริยะรัตเน  (A.T. Ariyaratne) ผู้ก่อตั้งขบวนการสรรโวทัย ในประเทศศรีลังกา เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการขับเคลื่อนกลุ่มพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) และขยายอิทธิพลไปทั่วโลก โดยได้รางวัลแมกไซไซด้านการพัฒนาชุมชน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การฟื้นฟูวิกฤติการณ์ของโลกด้วยมุมมองชาวพุทธ" ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ มหาจุฬาฯ วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

 แนวคิดเรื่องสรรโวทัยของ ดร.เอ ที อริยรัตนะ มาจากมหาตมะ คานธี
 คำว่า สรรโวทัย มาจากคำว่า “สรรพ” ที่แปลว่า "ทั้งปวง" กับคำว่า “อุทัย” ที่แปลว่า "การตื่นขึ้น" ดังนั้นคำว่า "สรรโวทัย" จึงหมายถึง "การตื่นขึ้นจากอวิชชาและความหลุดพ้นจากความทุกข์ความยากจนของคนศรีลังกาทั้งหมด"

 ถ้าเทียบกับแนวคิดการพัฒนาชนบทไทย น่าจะหมายถึง "การที่หมู่บ้านไทยหลุดพ้นจากความโง่ ความจน และความเจ็บ"

  สรรโวทัย พยายามสร้างสันติภาพขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องไปพึ่งระบบราชการ เวลาเกิดสึนามิขึ้นมา ถ้าต่างประเทศอยากจะส่งเงินช่วยเหลือให้ถึงชาวบ้านศรีลังกา พวกเขาจะส่งผ่านองค์กรสรรโวทัย เพราะมีเครือข่ายโยงใยทุกหมู่บ้านจำนวน ๑.๖ หมื่นแห่งทั่วศรีลังกา นับเป็นองค์กรเอกชนด้านการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในศรีลังกา

 สรรโวทัยนี้ตั้งมาได้ ๔๙ ปีแล้ว มีสมาชิกที่เป็นอาสาสมัครกว่า ๑ แสนคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ แม้กระทั่งในภาคเหนือสุดของศรีลังกา ที่รัฐบาลกำลังรบกับทมิฬ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปไม่ได้ แต่อาสาสมัครของสรรโวทัยเข้าไปได้

 ในทัศนะของชาวพระพุทธ ดร.เอ ที อริยะรัตเน บอกว่า องค์กรของชุมชนผู้มั่งคั่งร่ำรวยและมีอำนาจควรได้พัฒนาจิตสำนึก หากพวกที่ร่ำรวยและมีอำนาจร่วมมือกับชุมชน  โดยแบ่งปันที่ดินบางส่วนที่เหลือใช้ให้แก่ผู้ที่ไม่มีที่ทำกิน  ร่วมอุทิศสิ่งของและทรัพย์สิน หรือจัดบริการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษา สุขภาพ ที่พักอาศัย และกิจกรรมทางวัฒนธรรม เป็นต้น 

 ที่สุดแล้ว ชีวิตมนุษย์ทุกคนล้วนดำเนินไปตามกฎแห่งทุกข์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีอำนาจมากเพียงไร ทั้งชายหรือหญิงก็มิอาจหนีจากความทุกข์ทั้งทางกายและใจได้
 
 วิธีที่จะเอาชนะความทุกข์ และได้มาซึ่งความสุขที่ถาวรคือ ทางแห่งจิตวิญญาณ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แล้วนั่นเอง

 พระพุทธองค์ทรงชี้แนะแก่ผู้แสวงหาความสุขที่แท้ (นิพพาน) หรือการตรัสรู้ ให้อุตสาหะ พยายามเข้าใจกฎแห่งไตรลักษณ์ อันได้แก่ ความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความไม่พอใจ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา) ซึ่งเรามิอาจเลี่ยงได้  

 เมื่อผู้คนในชุมชนนับพันๆ แห่ง ทั้งในเมืองและชนบท ศึกษาธรรม และปฏิบัติคุณธรรมสามประการ ได้แก่ ศีล (ความดี) สมาธิ (การเพ่งสติ) และสร้างปัญญา (ความเฉลียวฉลาด) ก็ย่อมเกิดอิทธิพลเป็นพิเศษต่อสังคม  และก่อให้เกิดพลังมหาศาลแห่งจิตวิญญาณที่จะเปลี่ยนแปลงผู้นำหลายคนที่ร่ำรวยและมีอำนาจ ให้เดินไปตามทางแห่งธรรมะ อันได้แก่ มรรคแปด

 ดร.เอ ที อริยะรัตเน พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีในโลกนี้ เมื่อรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย และประชาชนที่เคารพกฎหมายถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายคุกคาม ทารุณ และเข่นฆ่า รัฐบาลก็ถูกบีบให้จัดสรรทรัพยากรมากขึ้น เพื่อกำจัดผู้ก่อการร้ายอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น บางครั้งรัฐบาลก็เอาชนะผู้ก่อการร้ายได้ ดังเช่นในประเทศศรีลังกาของผม แต่ก็มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในสังคมชาวพุทธ เรามีความเชื่อโดยทั่วไปว่า ในสังคมใดก็ตาม เมื่อผู้ปกครองไร้คุณธรรม ฝ่าฝืนหรือละเมิดนิยามธรรม (กฎจักรวาล) อันได้แก่ กฎธรรมชาติ เช่น กฎเกี่ยวกับพีชะ (พันธุกรรม) อุตุ (ฤดูกาล) กรรม (เหตุ และผล) จิตตา (จิต) และธรรมะ (ปรากฏการณ์) และเมื่อไม่มีธรรมาภิบาล ธรรมชาติก็จะปฏิวัติ และทำลายสังคม รากเหง้าของการก่อการร้ายและสงครามนั้นมิอาจกำจัดได้โดยง่าย ดังคำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” 

หลักแห่ง..."สรรโวทัย"
 พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร. และประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ บอกว่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ไปเยือนศรีลังกา อย่างเป็นทางการ ในครั้งนั้นได้ไปเยี่ยมชมสำนักสรรโวทัยนี้เป็นขบวนการพัฒนาหมู่บ้านแบบครบวงจร เป้าหมายของสรรโวทัยมี ๓ ประการ คือ

 ๑.ปลุกจิตสำนึกของประชาชนด้วยการใช้ธรรมะในพระพุทธศาสนา ๒.แนะนำให้ประชาชนใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเอง และ ๓.ส่งเสริมให้หมู่บ้านดำเนินการปกครองตนเอง (Gram Swaraj) ด้วยระบอบธรรมาภิบาล

 ในการดำเนินการตามเป้าหมายข้อที่ ๑ สรรโวทัยเน้นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ๒ หัวข้อ คือ พรหมวิหาร ๔ และสังคหวัตถุ ๔ ตามหลักพรหมวิหาร ๔ นั้น ประชาชนต้องยึดหลักเมตตา คือ มีความรักความปรารถนาดีต่อทุกคน มีกรุณาคือความสงสารคิดช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกันให้พ้นทุกข์ มีมุทิตาคือพลอยยินดีเมื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญก้าวหน้า และมีอุเบกขาคือมีใจเป็นกลาง ไม่ทะเลาะกันเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา ไม่ถือเขาถือเรา แม้แต่คนในศาสนาอื่น สรรโวทัยก็ให้เข้ามาร่วมงานได้

 ชาวบ้านของสรรโวทัยต้องมีสังคหวัตถุ ๔ คือ ๑.ทาน คือ การให้ ต้องเป็นผู้ที่ให้ด้วยความรู้สึกเป็นสุข คนมีต้องช่วยเหลือคนจน ๒.ปิยวาจา คือ พูดจากันไพเราะอ่อนหวาน ประสานสามัคคี ๓.อัตถจริยา คือ บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน อาสาสมัครสรรโวทัยที่ไม่มีเงินก็สามารถใช้กำลังกายและกำลังปัญญาให้บริการแก่ชุมชนได้ และ ๔.สมานัตตตา คือ วางตนพอดีใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มุ่งความรักความสมานฉันท์ของชุมชนเป็นหลัก

 "ดร.เอ ที อริยรัตนะ เป็นคนที่ทุ่มเทจริงจัง เพื่อสรรโวทัย แม้เขาจะมีฐานอำนาจ คือ ชาวบ้านในชนบททั่วประเทศ เขาก็ไม่คิดแสวงหาอำนาจ คือ ไม่ผันตัวเองไปเล่นการเมือง เขาไม่ฉกฉวยโอกาสที่ชาวบ้านมีศรัทธาต่อเขาเอาไปเล่นการเมือง เมื่อถามเขาว่า ทำไมไม่คิดจะแสวงหาอำนาจทางการเมือง ดร.เอ ที อริยรัตนะ ตอบว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่ใช่หรือว่า ปฐัพยา เอกรัชเชน ซึ่งแปลว่าการเป็นพระโสดาบัน ดีกว่าการได้ครองราชย์ในปฐพี" พระธรรมโกศาจารย์กล่าว

 "ในสังคมชาวพุทธ เรามีความเชื่อโดยทั่วไปว่า ในสังคมใดก็ตาม เมื่อผู้ปกครองไร้คุณธรรม  ฝ่าฝืนหรือละเมิดนิยามธรรม (กฎจักรวาล) เมื่อไม่มีธรรมาภิบาล ธรรมชาติก็จะปฏิวัติ และทำลายสังคม"

0 เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู 0
0 ภาพ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มจร.0