
หน่อพันธุ์พุทธฯในมะกัน จากมุม...พระครูวิเทศพรหมคุณ (พระ ดร.มหาวินัย)
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ โดย พันเอก เอช เอส ออลคอตต์ ได้แต่งหนังสือเรื่องหนึ่งชื่อว่า ปุจฉาวิสัชชนาทางพระพุทธศาสนา (Buddhist Catechism) ออกเผยแผ่ แต่ประชาชนยังไม่ได้ให้ความสนใจ จากนั้น พ.ศ. ๒๔๓๖ ท่านอนาคาริก ธร
พ.ศ. ๒๔๔๘ มีชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้สร้างวัดทางพระพุทธศาสนานิกายสุขาวดีขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการบำเพ็ญศาสนกิจ และเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติธรรม จึงทำให้ชาวอเมริกันเริ่มหันมาให้ความสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น และพ.ศ. ๒๔๕๗ ชาวพุทธในรัฐแคลิฟอร์เนีย และชาวพุทธในสหรัฐอเมริกา ได้จัดตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้น ซึ่งสมาคมนี้ในปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่และขยายสาขาไปยังรัฐต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย
ปัจจุบัน มีประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาทมีจำนวนมากขึ้น และกระจายไปยังเมืองต่างๆ มีวัดพระพุทธศาสนาจำนวนมากขึ้นตามชุมชนที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาอยู่ ซึ่งมีวัดไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ ๑๕๐ วัด บทบาทนอกเหนือจากศาสนกิจแล้ว ยังเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของไทยไปด้วย ได้แก่ การเปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และภาคฤดูร้อนให้เด็กๆ ลูกหลานไทยที่เกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกาได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ภาษาไทย ที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยด้วย
พระครูวิเทศพรหมคุณ เจ้าอาวาสวัดพรหมคุณาราม (Wat Promkunaram) เมืองฟินิกซ์ รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา และนักศึกษา สสสส.ร ๒ สถาบันพระปกเกล้าฯ บอกว่า ขณะนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่พระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรืองในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้มีชาวไทยและชาวเอเชียที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่กระจัดกระจายตามรัฐต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๖ แสนคน จากการสำรวจใน ค.ศ.๑๙๙๕ เพิ่มขึ้นเป็น ๑.๘ ล้านคน โดยกระจายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่หนาแน่น เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐอิลลินอยส์ และนิวยอร์ก
ส่วนองค์การพุทธศาสนาสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา ได้แก่ พุทธสมาคมในวอชิงตัน ดีซี ชื่อว่า “สหายพุทธศาสนา” (Friend of Buddhism) ทำหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนาในสหรัฐ จนเป็นที่สนใจของประชาชนชาวสหรัฐอเมริกาไม่น้อย จนถึงกับเปิดหลักสูตรวิชาพุทธศาสตร์ในระดับปริญญาเอกขึ้นเป็นแห่งแรกในอเมริกา ในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในแผนกวิชาภารตศึกษา ทั้งนี้ ประเทศพุทธศาสนาต่างๆ ๘ ประเทศ โดยการประชุมกันของเอกอัครราชทูต คือ พม่า กัมพูชา ลังกา อินเดีย ลาว ไทย เวียดนาม ไต้หวัน และญี่ปุ่น ได้ร่วมกันก่อสร้างวัดพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔
นอกจากนี้แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกามากขึ้นนั้น พระครูวิเทศพรหมคุณ บอกว่า พ.ศ.๒๕๐๔ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตร์ ในระดับปริญญาเอก และพ.ศ. ๒๕๑๘ จึงได้ตั้งมหาวิทยาลัยพุทธธรรมขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเปิดสอนสาขาวิชาพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ซึ่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา จัดว่ามีความสมบูรณ์ทุกประการ เช่น การจัดปาฐกถา การอภิปราย สนทนาธรรม สัมมนาทางวิชาการ การจัดอบรมทางพระพุทธศาสนาภาคฤดูร้อน เปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ การแสดงพระธรรมเทศนา การบำเพ็ญกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงเป็นบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามากขึ้น
"กระแสความนิยมพระพุทธศาสนาในอเมริกาก็มาจากตัวอย่างผู้คนในสังคมหลักที่ทำหน้าที่สื่อสารกับมวลชน เช่น พวกดาราภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา นักกีฬา นักดนตรี ที่มีชื่อเสียงและผู้คนอื่นๆ ที่มีหน้ามีตาในสังคมอเมริกันประกาศตัวเป็นชาวพุทธ ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้พุทธศาสนาโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้การนับถือพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นแฟชั่นเท่านั้น แต่เป็นการแซกซึมเข้าไปอยู่ในกระแสหลักของสังคมและวัฒนธรรมอเมริกันเสียแล้ว" พระครูวิเทศพรหมคุณกล่าว
พระธรรมทูตอ่อนหัด
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น พระดร.มหาวินัย บอกว่า หากพิจารณาตามความรู้สึกของผู้คนที่เป็นชาวพุทธ จะมีความรู้สึกหลากหลาย อาทิ พระสงฆ์ไทยไปอยู่ในประเทศนี้ เพื่อหวังเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามอุดมการณ์ เพื่อหวังความก้าวหน้าในชีวิตของตนเอง เพื่อหวังต้องการหาลู่ทางในการแสวงหาที่อยู่ เหล่านี้เป็นต้น แม้จะมีบางท่านกล่าวว่า พระธรรมทูตบางรูปไม่มีความชำนิชำนาญในการใช้ภาษา ถึงขั้นอธิบายหลักธรรมให้แก่เจ้าของประเทศนั้นๆ ได้ พระธรรมทูตไปทำหน้าที่ได้เฉพาะพิธีกรรม เช่น การทำบุญในโอกาสต่างๆ พระทูตบางรูปไม่เคร่งครัดในวินัย แสดงพฤติกรรมต่างๆ เช่น ดูหมอ รดน้ำมนต์ เสดาะเคราะห์ พระธรรมทูตบางรูปไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลายในตัวพระธรรมทูต โดยมีคำเบื้องต้นเป็นจุดมุ่งหมาย การทำงานจะสำเร็จตามมุ่งหวัง แม้คนไทยในสหรัฐอเมริกาจะไม่ค่อยสนใจคุณสมบัติของพระสงฆ์หรือพระธรรมทูต แม้จะมีผู้หวังให้มีการทบทวนกระบวนการเลือกสรรพระสงฆ์ไปทำงานในต่างประเทศเสียใหม่ ในความเป็นจริงในปัจจุบัน พระธรรมทูตต้องรอการปรับตัวเองให้เป็นผู้ที่มีความรู้ดี มีความสามารถดีและมีจริยสมบัติดี จึงจะไปเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศได้ การอบรมและปลูกฝังความเป็นพระธรรมทูต ด้วยการเคร่งครัดในวิธีการพูด วิธีการเขียน และวิธีการเป็นตัวอย่าง ตั้งใจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยคณะสงฆ์ได้ดำเนินการผ่านมหาวิทยาลัยสงฆ์และองค์กรกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ พระดร.มหาวินัย ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาว่า คณะสงฆ์ต้องสนับสนุนให้พระธรรมทูตก่อนไปต่างประเทศได้มีโอกาสศึกษาและสามารถพูดภาษาประเทศนั้นๆ แต่ทุกวันนี้การไปเป็นพระธรรมทูตโดยไม่มีการเตรียมการไว้ก่อน เป็นเรื่องที่หนักใจและเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก ต้องเอาคนที่ยอมรับงานหนัก เป็นงาน ที่ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องมีความอดทนสูง บางแห่งไม่มีรายได้ บางแห่งมีรายได้น้อย ในการดำรงอยู่ แต่เพื่อความสุขสบายใจของประชาชน โดยยึดหลักแห่งคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
"ทุกวันนี้การนับถือพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นแฟชั่นเท่านั้น แต่เป็นการแซกซึมเข้าไปอยู่ในกระแสหลักของสังคมและวัฒนธรรมอเมริกันเสียแล้ว"
0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0