พระเครื่อง

บิณฑบาตแดนใต้ ธรรมดาวัตรของสงฆ์ที่ไม่ธรรมดา

23 มิ.ย. 2553

"การออกบิณฑบาต" เป็นกิจวัตรของพระภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทั้งนี้ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการบิณฑบาตว่า เป็นกิจอันประเสริฐ หรือในสามัญเรียกว่า "การโปรดสัตว์"

 เพราะการออกบิณฑบาตนั้น นับว่าเป็นการเผยแผ่พระศาสนาทางหนึ่งด้วย ดังในสมัยพุทธกาลที่พระภิกษุสงฆ์จะเทศนาโปรดแก่บรรดาชาวบ้านซึ่งมาร่วมทำบุญ อันเป็นต้นเหตุแห่งการสวดให้พร

 ภาพการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาต อาจจะเป็นภาพที่พุทธศาสนิกชนเห็นจนชินตา กลายเป็นเรื่องปกติ แต่การบิณฑบาตของพระใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไม่ใช่เรื่องธรรมดา

 “นานพอสมควรแล้วที่พระไม่ได้ออกบิณฑบาตนอกวัด เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะนับตั้งแต่คนร้ายลอบก่อเหตุกับพระภิกษุสงฆ์ใน จ.นราธิวาส ขณะออกปฏิบัติศาสนกิจ ทำให้คณะสงฆ์ในจังหวัดมีมติงดบิณฑบาตเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าวันนี้จะมีบางวัดสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็ต้องมีกำลังทหารคอยดูแลชนิดไม่คลาดสายตา ส่วนวัดไหนอยู่พื้นที่เสี่ยงเหล่าญาติโยมก็นำอาหารมาใส่บาตรให้ที่วัด”

 นี้คือคำบอกเล่าจากความรู้สึกของ “พระครูสังคสิทธิพิทักษ์” เจ้าอาวาสวัดสังฆสิทธาราม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่สะท้อนภาพบรรยากาศอันไม่ปกติสุขที่เกิดขึ้นกับวิถีพุทธในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

 สำหรับวัดสังฆสิทธารามแห่งนี้ มีพระภิกษุจำวัดจำนวน ๓ รูป และงดบิณฑบาตมาแล้วเป็นเวลากว่า ๒ ปี ด้วยเหตุผลเดียวคือ “ความไม่ปลอดภัย” นับตั้งแต่เกิดเหตุกับพระภิกษุสงฆ์ ประกอบกับมีมติจากคณะสงฆ์จังหวัดนราธิวาสให้งดบิณฑบาตนอกวัด เพื่อป้องกันความสุ่มเสี่ยงและลดความสูญเสียที่จะเกิดกับพระภิกษุและชาวพุทธในพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่ใดที่มั่นใจว่าปลอดภัยให้สามารถออกบิณฑบาตได้ตามปกติ

 แต่สำหรับที่วัดแห่งนี้ ดูเหมือนว่าจะห่างไกลกับคำว่า "สถานการณ์ปกติ" ทำให้ต้องยุติกิจของสงฆ์ชั่วคราวอย่างไร้กำหนด

 "วันนี้พระและวัดยังอยู่ได้ด้วยแรงศรัทธาจากสาธุชนที่ดั้นด้นนำภัตตาหารมาใส่บาตรถึงวัดในทุกๆ วัน แม้ว่าใจจริงแล้วอาตมาก็อยากออกบิณฑบาตตามกิจของสงฆ์ที่พึงกระทำ แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ทุกอย่างต้องปลง โดยได้แต่หวังว่า เมื่อใดที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ยุติลงได้ วันนั้นภาพที่พระภิกษุยืนรับบาตรจากญาติโยมคงจะกลับมาปรากฏดั่งวันวานอีกครั้ง" พระครูสังคสิทธิพิทักษ์ กล่าวด้วยความหวัง

 ความรู้สึกไม่ต่างไปจาก พระครูวรปัญญาประยุต เจ้าอาวาสวัดราษฎร์สโมสร อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ทว่า วัดแห่งนี้โชคดีหน่อยที่พระยังพอมีโอกาสออกบิณฑบาตได้บ้าง เนื่องจากมีพระภิกษุสงฆ์จำวัดจำนวน ๕ รูป ที่ร่วมกันยืนหยัดอยู่ในพื้นที่ แม้สถานการณ์ความไม่สงบจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ในพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ภารกิจหนึ่งที่พระทุกรูปในวัดแห่งนี้พยายามประคับประคองให้สามารถปฏิบัติอย่างต่อเนื่องให้ได้ คือ การ “ออกบิณฑบาต” ในทุกๆ เช้า แม้ความรู้สึกจะอดประหวั่นพรั่นพรึงมิได้ต่อการพยายามจ้องฉวยโอกาสก่อเหตุของบรรดาแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม แต่เพราะอยากให้ประชาชนได้มีขวัญกำลังใจที่ดีและใช้ชีวิตอย่างที่คุ้นเคยและเป็นมาเหมือนในอดีตนั่นเอง

 พระครูวรปัญญาประยุต เจ้าอาวาสวัดราษฎร์สโมสร ยอมรับว่า การบิณฑบาตคือ ภารกิจสำคัญที่ต้องให้คงอยู่ และปรากฏเสมือนหนึ่งภาวะปกติให้ได้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวพุทธในพื้นที่ทุกคน ทุกๆ เช้าจะต้องมีกำลังทหารคอยทำหน้าที่อารักขาดูแลความปลอดภัยชนิด “ปิดหัว” และ “ปิดท้าย” ขบวนตั้งแต่ก้าวแรกออกพ้นประตูเขตพัธสีมาสู่เส้นทางบิณฑบาตรอบวัด ภาพเจ้าหน้าที่สวมเครื่องแบบและอาวุธครบมือเดินลาดตระเวนคอยดูแลความปลอดภัยพระภิกษุขณะออกบิณฑบาต อาจเป็นภาพที่ไม่งดงามในยามเช้า กลายเป็นภาพที่แปลกตา แต่คุ้นชินความรู้สึกของชาวพุทธละแวกนี้ไปแล้ว เพราะไม่มีทางเลือกใดดีกว่านี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่  ซึ่งไม่มีทีท่าว่า จะยุติลงได้โดยง่าย หากไม่มีเจ้าหน้าที่คอยคุ้มครองความปลอดภัยเหล่าพระภิกษุก็คงไม่สามารถปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้

 พระสุนทรปริยัติวิธาน เจ้าอาวาสวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ได้ร่วมสะท้อนภาพให้ฟังว่า การออกบิณฑบาตในปัจจุบันสามารถทำได้เพียงแค่รัศมีรอบๆ วัดเท่านั้น ทั้งที่ในอดีตพระภิกษุจะเดินออกจากวัดไปรับบิณฑบาตจากพุทธบริษัททั่วทุกพื้นที่หมู่บ้านนับหลายกิโล ไม่ใช่หลายเมตรเหมือนในพื้นที่บางแห่งในห้วงเวลาปัจจุบัน โดยเฉพาะในย่านตลาดร้านค้าต่างๆ แม้ระยะทางจะห่างจากวัดมากน้อยเท่าไหร่ แต่ไม่อาจเลี่ยงศรัทธาได้  แต่ด้วยปัจจัยเรื่องความไม่ปลอดภัย ทำให้วันนี้ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ดั่งวันวานอีกแล้ว

 เฉกเช่นเดียวกับ พระครูบุญญาธรณ์ เจ้าอาวาสวัดศรีสาคร จ.นราธิวาส ที่ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา วัดแห่งนี้เคยงดบิณฑบาตนอกวัดเป็นเวลาติดต่อถึง ๓๐ วัน ตามมติคณะสงฆ์ในจังหวัด ในช่วงที่เหตุรุนแรง ผนวกกับกระแสข่าวการลอบทำร้ายพระเป็นช่วงๆ เวลาไป กระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ๓ ฝ่าย ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหารออกดูแลความปลอดภัย จึงกลับมาปฏิบัติศาสนกิจบิณฑบาตนอกวัดในทุกเช้าอีกครั้ง แต่ต้องมีการจัดวางกำลังดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทางบิณฑบาตอย่างรัดกุม

บิณฑบาตโปรดสัตว์
 กิจวัตรของพระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระพุทธศาสนาในการออกเดินถือ "บาตร" รับการถวายภัตตาหาร หรือสิ่งของจากชาวบ้านในเวลาเช้า เรียกว่า "การออกบิณฑบาต" ทั้งนี้ พระภิกษุจะใช้ ๒ มือประคองบาตรเอาไว้ แล้วเดินในกิริยาสำรวม พระภิกษุจะไม่เอ่ยปากขออาหารจากผู้คน หรือแสดงกิริยาในการขอ

 ส่วนมากเวลาที่พระภิกษุออกบิณฑบาต คือ ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด (ประมาณ ๐๕.๐๐ น. อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้บ้างเล็กน้อยในแต่ละท้องที่) จนถึงก่อน ๐๗.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาที่พระภิกษุฉันอาหารมื้อเช้า

 พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ให้ความหมายของคำว่า "บิณฑบาต" ในคำวัดหมายถึงอาหารสำหรับถวายพระซึ่งเป็นปัจจัย ๑ ใน ๔ สำหรับพระสงฆ์ จะถวายโดยใส่บาตรหรือใส่ภาชนะอื่นใดก็เรียกเหมือนกัน

 บิณฑบาต หมายถึง การที่ภิกษุสามเณรไปรับอาหารที่เขาถวายโดยบาตรก็ได้ เช่น ใช้ว่า "พระออกไปบิณฑบาตกันแต่เช้า ยังไม่กลับจากบิณฑบาตเลย"

 บิณฑบาต หมายถึง การที่พระสงฆ์ขอร้องมิให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ เช่นใช้ว่า "อาตมาขอบิณฑบาตเถอะ อย่าได้ถึงกับฆ่าแกงกันเลย"

 บิณฑบาต มักเขียนผิดไปว่า บิณฑบาตร โดยอาจเข้าใจว่าเป็นคำเดียวกับ "บาตร" ซึ่งออกเสียงเหมือนกัน ทั้งนี้ จะใช้คำว่า "บาตร" เช่น ใส่บาตร ตักบาตร

 "การบิณฑบาต คือ ภารกิจสำคัญที่ต้องให้คงอยู่และปรากฏเสมือนหนึ่งภาวะปกติให้ได้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวพุทธในพื้นที่ทุกคน"

0 เรื่อง สุพิชฌาย์ รัตนะ 0
0 ภาพ จรูญ ทองนวล 0