พระเครื่อง

พระปิดตามหาอุตฺตโม หลวงพ่อสาคร 
ศิษย์เอก หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่

พระปิดตามหาอุตฺตโม หลวงพ่อสาคร ศิษย์เอก หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่

24 มิ.ย. 2553

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ทิม อิสริโก พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เคยกล่าวไว้ในทำนองว่า...หลวงพ่อสาครรูปนี้ คือผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากท่าน

  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่ทิม อิสริโก ท่านได้สร้าง พระปิดตามหาอุตตโม ในเวลาต่อมา ด้วยอำนาจบุญบารมีแห่งพุทธคุณในพระปิดตาที่ท่านสร้างขึ้นนี้ ได้ก่อให้เกิดประสบการณ์กับผู้สักการบูชามากมาย ส่งผลให้พระปิดตามหาอุตตโมของท่านมีสนนราคาเช่าหาที่ค่อนข้างสูง และเป็นที่ต้องการของผู้คนทั่วไปในทุกวันนี้

 พระปิดตา นับว่าเป็นพระเครื่องพิมพ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมในวงการพระอย่างกว้างขวาง ด้วยความเชื่อกันว่า ถ้าได้บูชาพระพิมพ์ปิดตาแล้ว จะทำให้เกิดการอุดเงิน-อุดทอง ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเกิดจากความไม่เข้าใจในเรื่องของพุทธประวัติ และเคล็ดของวิชาอาคม ที่นำมาแอบอิงเข้ากับวัตถุมงคลประเภทนี้

 คติความเชื่อแห่งโบราณจารย์ ที่สืบต่อกันมาเกี่ยวกับ พระปิดตามหาอุตม์ ซึ่งมีลักษณะเป็นพระปิดตาหลายมือยกขึ้นปิดทวารทั้ง ๙ นั้น ท่านให้ความหมายไว้เป็น ๒ นัย

 กล่าวโดยนัยแรก หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่ทรงเข้านิโรธสมาบัติ เรียกว่า “ภควัม” ซึ่งเป็นการปิดเสียซึ่งการรับรู้ สำรวมแห่งอายาตนะภายนอกและภายในทั้งหลาย จิตจึงดำรงอยู่ในความสงบอย่างยิ่ง

 ส่วนนัยที่สอง ท่านหมายถึง พระภควัมปติเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล พระภควัมบดี หรือ พระมหากัจจายนะ นั้น ไม่ใช่รูปสมมติแทนองค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า

 คำว่า ภควัมบดี หรือ ภควัมปติ แปลว่า ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นอีกนามหนึ่งของ พระมหากัจจายนะ หนึ่งในพระสาวกผู้ทรงเอกทัคคะ (เป็นเลิศ) ๘๐ รูป ของพระพุทธองค์

 พระควัมปติเถระ มีคุณวิเศษมาก มีความเป็นเลิศทางการย่อพระธรรมคัมภีร์ให้สั้นลง และอธิบายความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง รูปเคารพของท่านนิยมสร้างเป็นรูปปิดตาบ้าง พระปิดทวารทั้ง ๙ บ้าง เป็นอุปเท่ห์หมายถึง ตอนที่พระภควัมปติเถระท่านกำลังเข้านิโรธสมบัติ ทวารทั้งเก้าก็จะปิดสนิท ไม่ยินดียินร้ายกับกิเลสทั้งหลาย หมายถึงดับสนิท อาสวะกิเลสต่างๆ ไม่อาจที่จะเข้ามาแผ้วพานได้เลย

 จากมูลเหตุนี้เอง โบราณจารย์ต่างๆ ท่านจึงสร้างรูปเคารพเป็นรูป พระปิดตา คือ มีมือคู่เดียวมาปิดที่หน้าบ้าง เป็นรูปพระปิดทวารทั้ง ๙ บ้าง

 และโดยส่วนใหญ่ ถ้าเป็นพระปิดตา พระเกจิอาจารย์ผู้สร้างมักจะปลุกเสกให้มีพุทธคุณโดดเด่นไปทางเมตตามหานิยม โชคลาภ โภคทรัพย์

 แต่ถ้าเป็นพระปิดทวารทั้ง ๙ ก็จะปลุกเสกให้เด่นไปทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี และแคล้วคลาด ปลอดภัย
 พระปิดทวารทั้ง ๙ ที่นิยมกันมาก คือ พระปิดทวาร ของหลวงปู่ทับ วัดทอง, หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง, หลวงปู่จัน วัดโมลี, หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก, หลวงพ่อปล้อง วัดหลุมดิน เป็นต้น

 คำว่า อุตฺตมะ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ตรงกับคำในภาษาไทยว่า อุดม มีความหมายว่าสูงยิ่ง เลิศ มากมาย บริบูรณ์ ส่วนคำว่า มหา นั้นมีความหมายว่า ยิ่งใหญ่ มากมาย

 ดังนั้น มหาอุตม์ หรือ มหาอุตฺตโม จึงมีความหมายว่า ผลอันเลิศ บริบูรณ์ ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่  และเป็นความหมายที่ถูกต้องกว่าคำที่ว่า มหาอุด

 พระปิดตามหาอุตม์ จึงเป็นพระที่อุดมไปด้วยความดี มีคุณวิเศษครบถ้วนทุกอย่างทุกทาง โดยสมบูรณ์ นับว่าใช้ได้ทุกทางที่เรียกว่า ครอบจักรวาล ไม่ใช่เป็นพระ อุด ดังมีความเข้าใจกันโดยทั่วๆ ไปแต่เพียงอย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้

 ในวาระกาลเข้าพรรษา ปี ๒๕๕๓ นี้ คณะกรรมการวัดหนองกรับ ได้กราบเรียนต่อ หลวงพ่อสาคร มนุญฺโญ ศิษย์เอกผู้สืบสานพุทธาคมของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ เพื่อขออนุญาตดำเนินการจัดสร้าง พระปิดตามหาอุตฺตโม ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้สมทบสร้างซุ้มประตู และกำแพงของวัดหนองกรับให้แล้วเสร็จต่อไป โดยได้ประกอบพิธีเททองชนวน หล่อขึ้นเป็นองค์พระเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล ตรงกับวันธงชัย เวลา ๑๖.๑๙ น.

 ฤกษ์บนเป็นเพชฌฆาตฤกษ์ หมายความว่าเป็นฤกษ์แห่งการฟันฝ่าอันตราย และอุปสรรคทั้งหลาย ให้ผลอันดีเยี่ยมในการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ทางแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพันชาตรี

 ฤกษ์ล่างเป็นปลอด หมายถึงความไม่มีอันตราย ส่งผลดี ปราศจากอุปสรรคมาขัดขวาง
สัปตฤกษ์เป็นกัมมะ หมายถึง เกิดผลดี ยั่งยืน สมบูรณ์ส่งเสริมฤกษ์บนดีนัก

 พระปิดตามหาอุตตโม ชุดนี้ได้ยึดถือรูปแบบเดิมของหลวงปู่ทิมเป็นหลัก แต่ได้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้แตกต่างออกไป เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพ่อสาคร มนุญฺโญ โดยจะดำเนินการอธิษฐานจิต ปลุกเสกเดี่ยว ตลอดไตรมาสในปี ๒๕๕๓

 กำหนดเปิดให้จองบูชาที่วัดหนองกรับ ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.๐๘-๙๕๔๕-๖๕๗๑, ๐๘-๕๙๕๕-๒๖๕๒

0 สิทธิ ศิษย์กวง 0