พระเครื่อง

เมื่อ...อมตพระกรุไม่อมตะ

เมื่อ...อมตพระกรุไม่อมตะ

24 มี.ค. 2552

หนังสือในวงการพระเครื่องและวัตถุมงคล หากจะแบ่งประเภทของหนังสือในวงการพระเครื่องและวัตถุมงคลแล้ว น่าจะแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑.นิตยสารทั้งรายปักษ์และรายเดือน ๒.หนังสือสี่สีปกอ่อนเล่มบาง และ ๓.หนังสือสี่สีปกแข็งเล่มหนา

  สำหรับหนังสือพระเครื่องประเภทนิตยสารนั้น ปัจจุบันนี้มีผู้พิมพ์หนังสือพระเครื่อง เพื่อการศึกษาและสะสมพระเครื่องออกมาจำหน่ายจำนวนมาก ตั้งแต่เล่มละไม่กี่บาทจนไปถึงเล่มละหลายพันบาท

 หนังสือพระที่มีคุณภาพบางเล่ม ผู้จัดทำเป็นที่ยอมรับของวงการพระเครื่อง และจำนวนการพิมพ์จำกัด นอกจากจะขายหมดภายในเวลาสั้นแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ราคาหนังสือจะสูงกว่าราคาปกด้วย ส่วนใหญ่ราคาจะสูงกว่าราคาที่แจ้งไว้หน้าปกประมาณ ๓๐-๕๐% บางเล่มสูงขึ้น ๕-๑๐ เท่า โดยเฉพาะหนังสืออมตพระกรุของ นายพิศาล เตชะวิภาค อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย หรือที่รู้จักกันในนาม "ต้อย เมืองนนท์" ราคาปกนั้น ๑,๒๐๐ บาท ปัจจุบันมีการหาซื้อสูงถึง ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท

 ด้วยเหตุที่มีความสมบูรณ์ด้วยเนื้อหา และเพียบพร้อมด้วยภาพ หนังสืออมตพระกรุ จึงถือว่าเป็นหนังสือที่ถูกยกให้เป็นตำราในการศึกษาพระเครื่องอันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

 ที่สำคัญคือ มักจะถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการเขียน ด้วยเหตุที่ว่าเป็นหนังสือเล่มครูที่ได้กล่าวถึงพระกรุต่างๆ ทั่วเมืองไทย พร้อมประวัติ และรูปภาพพระกรุต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน
 
 อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุแห่งความต้องการ และเสียงเรียกร้องของผู้อ่านทั้งในวงการพระเครื่องและนอกวงการ ต้อย เมืองนนท์ จึงจัดทำ "หนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย" น้ำหนักประมาณ ๕ กก. หนาประมาณ ๓.๕ นิ้ว จำนวน ๘๓๓ หน้า โดยได้ปรับปรุงทั้งเนื้อหาและรูปภาพเพิ่มเติมจากเล่มเดิม โดยจำหน่ายในราคา ๒,๕๐๐ บาท

  "หนังสือพระเครื่อง รวมทั้งหนังสืออื่นๆ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป คุณค่าไม่ได้ลดลงตามกาลเวลาที่เพิ่มขึ้น มีแต่จะเพิ่มขึ้นทั้งคุณค่าและราคา ตามกาลเวลาที่เพิ่มขึ้น ช่วงหนึ่งผมเคยคิดว่า เพื่อรักษาความเป็นอมตะไว้ ไม่ควรพิมพ์เพิ่มอย่างเด็ดขาด แต่เมื่อกลับมาคิดดูแล้วความเป็นอมตะหรือจะสู้การให้ความรู้เรื่องพระกรุได้กระจายออกไปสู่ในสังคมวงกว้าง จึงตัดสินใจพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง โดยปรับปรุงทั้งภาพและเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้น การจะพิมพ์ครั้งนี้ แม้ว่าจะทำให้หนังสือเล่มแรกสูญเสียความเป็นอมตะแต่สิ่งที่ได้มาคือ คนได้ครอบครอง และอ่านหนังสือผมมากขึ้น เมื่อคนได้อ่านมากขึ้นก็มีความรู้มากตาม ซึ่งผมว่ามันสำคัญยิ่งกว่าความเป็นอมตะเสียอีก" นี่คือคำยืนยันของ ต้อย เมืองนนท์

 พร้อมกันนี้ ต้อย เมืองนนท์ ยังบอกด้วยว่า การเขียนและพิมพ์หนังสืออมตพระกรุ ออกมาเพื่อการค้นคว้าเผยแพร่สู่ประชาชน และผู้ที่จะเรียนรู้เรื่องพระกรุต่างๆ มีเพิ่มมากทุกวัน ครั้นจะลงทุนซื้อหนังสือเก่าก็ต้องใช้เงินมาก ขณะพระกรุต่างๆ ก็มีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการจัดพิมพ์หนังสือครั้งที่ ๓ ความหนาของหนังสือเพิ่มขึ้นตามลำดับ ด้วยเหตุที่ว่าความนิยมพระกรุต่างๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ พระกรุที่ปรากฏในหนังสืออมตพระกรุ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีพระกรุอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก เฉพาะพระกรุต่างๆ เช่น ในสุพรรณบุรี อยุธยา สุโขทัย กำแพงเพชร ลพบุรี ในจังหวัดเหล่านี้มีพระกรุนับร้อยๆ กรุ จังหวัดเหล่านี้นักเลงพระจัดว่าเป็น "เมืองพระ" หากรวบรวมกันจริงๆ พิมพ์เป็นหนังสือที่มีความหนาขนาดเดียวกันได้อีกหลายสิบเล่ม

 “ผมอยากให้คนที่เข้ามาสู่ในวงการพระเครื่อง เล่นพระอย่างมีความรู้ มีเหตุ มีผล มีข้อมูลที่ถูกต้อง ประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่ศึกษาด้วยการฟังเหมือนเช่นในอดีต ผิดบ้างถูกบ้างไม่มีเอกสาร ข้อความ และภาพถ่ายยืนยัน เมื่อมีหนังสือพระดีๆ มีคุณภาพ ก็ทำให้วงการพระมีคุณภาพไปด้วย” ต้อย เมืองนนท์ กล่าว

เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"

หนังสือพระอมต
 “แม้ว่าหนังสืออมตพระกรุของคุณต้อย เมืองนนท์ เล่มล่าสุดราคาจะไม่หวือหวา และส่งผลให้ราคาของเล่มแรกไม่สูงขึ้นอย่างที่น่าจะเป็น แต่การตัดสินใจพิมพ์เพิ่มอีกครั้งของคุณต้อยถือว่าเป็นคุณูปการต่อวงการพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการศึกษาเรื่องพระกรุ ซึ่งถือเป็นสุดยอดของหนังสือที่ยังไม่มีใครทำได้คุณภาพดี และเป็นที่ยอมรับเท่ากับคุณต้อย วันนี้ราคาอาจจะไม่สูงจากหน้าปก วันหน้าหนังสือเล่มนี้ราคาคงสูงกว่าหน้าปกหลายเท่า เช่นกับเล่มแรก" นี่คือความเห็นของ น.ส.อรวรรณ แสนประเสริฐ หรือ ติ๋ม ท่าพระจันทร์ เจ้าของแผงขายหนังสือพระเครื่องและวัตถุมงคล ที่เปิดดำเนินการมากว่า ๓๐ ปี

 สำหรับหนังสือที่ขึ้นชื่อว่าแพงอมตะและราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น ติ๋ม ท่าพระจันทร์ บอกว่า ต้องยกให้หนังสือที่จัดทำโดย อ.นิพัทธ์ จิตรประสงค์ ซึ่งมีอยู่ ๓ เล่ม คือ ๑.หนังสือพระเครื่อง และเครื่องรางของขลัง พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ ความหนา ๒๕๖ หน้า ราคาปก ๕๙๐ บาท ปัจจุบันขาย ๑๘,๕๐๐ บาท ๒.หนังสือพระปิดตามหาอุตม์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ความหนา ๒๙๖ หน้า ราคาปก ๗๙๐ บาท ปัจจุบันขาย ๑๘,๕๐๐ บาท และ ๓.หนังสือพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระรูปหล่อ เหรียญ นางขวัก ฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ความหนา ๔๖๘ หน้า ราคาปก ๑,๐๙๐ บาท ปัจจุบันขาย ๒๕,๐๐๐ บาท

 ส่วนมือทำหนังสืออีกท่านหนึ่ง ที่ถือว่าแพงและเป็นอมตะไม่แพ้กัน คือ อ.ประชุม กาญจนวัฒน์ ซึ่งน่าจะเป็นหนังสืออมตตลอดกาล เพราะไม่มีการจัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่อีกแล้ว ซึ่งมีอยู่หลายเล่ม แต่ที่เป็นอมตะสุดๆ คือ หนังสือภาพพระเครื่อง ๑ ฉบับเล่มครู หนังสือขาวดำสลับสี ความหนา ๓๙๓ หน้า ซึ่งมีการจัดพิมพ์ถึง ๘ ครั้ง แต่ก็ยังได้รับความนิยม โดยพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ ราคา ๕๕๐ บาท ขณะนั้นถือว่าเป็นหนังสือแพงที่สุด และครั้งที่ ๘ พิมพ์เมื่อ ๒๕๓๙ ราคา ๘๕๐ บาท ปัจจุบันราคา ๘,๕๐๐ บาท ในขณะที่หนังสือภาพพระเครื่องซึ่งเป็นหนังสือสี่สีทั้งเล่ม ความหนา ๕๖๕ หน้า มีการพิมพ์ซ้ำถึง ๓ ครั้ง คือ พ.ศ.๒๕๒๙ พ.ศ.๒๕๓๕ และพ.ศ.๒๕๓๘ ราคาปก ๑,๔๕๐ บาท ปัจจุบันขาย ๑๘,๕๐๐ บาท

 “หนังสือพระเครื่องที่อมตทุกเล่ม ติ๋มเองเคยขายในราคาปก อย่างกับหนังสือของ อ.นิพัทธ์ ท่านมาฝากขายครั้งละ ๑๐๐ เล่ม ขายหมดท่านก็นำมาเพิ่มให้ โดยไม่ต้องเก็บค่ามัดจำล่วงหน้า ขณะนั้นขายตามราคาปก แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่าให้หลังจากนั้น ๑๐ ปี ราคาขยับขึ้นเฉียดหลักหมื่นบาท ซึ่งหลายครั้งต้องซื้อกลับคืนมาในราคาแพง ทั้งๆ ที่เราเคยขายไปในราคาเท่าหน้าปก ส่วนเหตุที่คนนิยมมาก เพราะทั้งภาพและข้อมูลสมบูรณ์มาก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า หนังสือฝีมือการทำหนังสือของทั้ง ๒ ท่านนี้ ถือว่าเป็นอมตะ ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน“ ติ๋ม ท่าพระจันทร์ กล่าวทิ้งท้าย