วัดยายเขียด วันอันเป็นที่พักพึ่งพึงพา..."ทางใจ"
ไหว้พระขอพรหลวงปู่ทวดเอาฤกษ์เอาชัย กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปโดยปริยายสำหรับเจ้าหน้าที่ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ให้ชีวิตในห้วงตลอดระยะเวลาต้องทำงานในพื้นที่ หรือกว่าจะเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งของต้นสังกัด รวมถึงประชาชนทั่วไปที่นับถือศาสนาพุท
นอกจากนี้ยังมีวัดอีกหนึ่งแห่งที่อยู่ในอำเภอเดียวกัน และต้องพูดถึงคือ “วัดนิคมสถิตย์” หรือที่ชาวบ้านละแวกนี้เรียกกันว่า “วัดยางแดง” แต่สำหรับข้าราชการจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะตำรวจ และทหาร ซึ่งต้องเดินทางเข้ามาปฏิบัติงานใน จ.ปัตตานี หรือพื้นที่ใกล้เคียง ต่างมักคุ้นกับวัดแห่งนี้ในชื่อ “วัดยายเขียด” ซึ่งมีชื่อมาจาก “พระยายเขียด” และ “วัตถุมงคลพระยายเขียด” ที่วัดจัดสร้างขึ้นโดยมีพระเกจิคนสำคัญเป็นผู้ปลุกเสกนั่นคือ “พระครูวิสัยโสภณ” หรือพระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ในยุคนั้น และ “พระอาจารย์นอง” แห่งวัดทรายขาว
พระครูสถิตนิคมธรรม เจ้าอาวาสวัดนิคมสถิตย์ (ยางแดง) บอกว่า ในอดีตพื้นที่ยางแดงมีชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมจำนวนมากอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะวัดแห่งนี้เดิมเป็นโรงแปรรูปไม้ ก่อนจะกลายสภาพมาเป็นที่พักสงฆ์เล็กๆ เพื่อให้ญาติโยมและพุทธศาสนิกชนในละแวกใกล้เคียงได้ถวายสังฆทานในวันพระเป็นประจำ กระทั่งได้กลายเป็นสำนักสงฆ์ และเป็น “วัดยางแดง” โดยสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ ซึ่งรวมระยะเวลาที่เป็นวัดมาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้มีอายูกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ทั้งในช่วงที่มีการแบ่งเขตตำบลเปลี่ยนแปลงชื่อวัดยางแดง มาเป็นชื่อ “วัดนิคมสถิตย์” ซึ่งขึ้นอยู่กับหมู่ ๔ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ดั่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
พระพุทธรูปองค์เล็กประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดนิคมสถิตย์ ซึ่งประชาชนต่างเรียกว่า “พระพุทธรูปยายเขียด” นี้ เดิมทีมีสตรีสูงวัยชื่อ ”ยายเขียด” ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ได้ออกหาปลาโดยใช้ “ชะนาง” (เครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่ง) โดยพยายามตระเวนจับปลาทั้งวันแต่ไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว ขณะเดียวกันกลับได้พระพุทธรูปองค์หนึ่งขึ้นมาจากแอ่งน้ำ จึงได้อัญเชิญกลับบ้านก่อนจะนำไปถวายพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นจำวัด ณ วัดท่าเรือ โดยอยู่ใกล้ๆ กับบ้านของยายเขียด
กระทั่งพระรูปดังกล่าวเดินทางมาจำพรรษาที่วัดในพื้นที่ยางแดง ภายหลังจากวัดท่าเรือกลายเป็นวัดร้างเนื่องจากไม่มีพระภิกษุจำพรรษา กระทั่งวัดยางแดงได้กลายเป็นวัดนิคมสถิตย์ และพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวก็ถูกเรียกขานกันว่า “พระยายเยียด” ตั้งแต่อดีตมาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งมีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ส่วนอภินิหารพระพุทธรูปยายเขียดมีอภินิหารทางสัจจะ เป็นที่ยำเกรงของพวกทุจริตชนเป็นอันมาก กล่าวคือ เมื่อผู้ใดกระทำผิดต่อบุคคลอื่น เช่น ลักขโมย ฉ้อโกง หรือยักยอกทรัพย์สินผู้อื่น เมื่อเจ้าของทรัพย์นำตัวมาสาบานต่อหน้าพระพุทธรูปยายเขียดองค์นี้แล้ว ส่วนมากผู้กระทำผิดมักจะมีอันเป็นไปตามคำสาบานนั้น ถ้าบุคคลใดไม่มีความผิด ก็มักจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น
"ก่อนหน้านี้วัดมีเพียงชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงกับศิษยานุศิษย์แวะเวียนมาทำบุญเป็นสม่ำเสมอ ส่วนพุทธศาสนิกชนจากภายนอกจะเป็นกลุ่มเดิมที่เคยเดินทางมาที่วัดก่อนหน้านี้แล้วหากมีโอกาสก็จะกลับมาเยือนในภายหลังเสียเป็นส่วนใหญ่ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ปัญหาความไม่สงบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ชาวพุทธนอกพื้นที่ที่เดินทางมาทำบุญในอัตราที่ลดลง เนื่องจากมีอุปสรรคเรื่องของความปลอดภัยทำให้วัดหลายแห่งขาดปัจจัยในการบำรุงรักษาศาสนสถาน รวมถึงวัดนิคมสถิตย์แห่งนี้ ที่มีศาสนสถานที่มีอายุร่วมร้อยปีอยู่ในสภาพทรุดโทรม ต้องเร่งบูรณะโดยด่วน จึงได้แต่หวังว่าแรงศรัทธาจากสาธุชนคงจะช่วยค้ำจุนให้พุทธศาสนายังคงดำรงอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ได้ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน" พระครูสถิตนิคมธรรม กล่าว
ทรายเสกจากวัดยายเขียด
ความศักดิ์สิทธิ์ของ “พระยายเขียด” ซึ่งในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบยังมีพระเหลืออยู่เต็มตู้ แต่เมื่อเกิดเรื่องราวอันเป็นประสบการณ์จริงของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ทำให้มีผู้เดินทางมาบูชาพระเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะแวดวงข้าราชการชายแดนใต้ ส่งผลให้วัดมีรายได้ที่จะบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะสถานที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้นป็นลำดับ
ทหาร และตำรวจระดับปฏิบัติงานจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศที่ต้องเดินทางลงมาทำหน้าที่ในพื้นที่ก็มักจะมาไหว้พระขอพรและบูชาวัตถุมงคลติดตัวกลับไปเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือสร้างขวัญและกำลัง โดยส่วนใหญ่น้อยรายจะรู้ถึงประวัติที่มาในการสร้าง จวบจนกระทั่งเมื่อเกิดประสบการณ์แคล้วคลาด ปลอดภัย หรือรอดพ้นจากเหตุลอบระเบิด หรือคนร้ายซุ่มโจมตีก็เริ่มมีกองกำลังหลายหน่วยที่กระจายตัวปฏิบัติงานทั่ว ๓ จังหวัดเดินทางมาที่วัดเพื่อทำบุญและขอวัตถุมงคลติดตัวกลับไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจุดนี้เองกระมังที่ทำให้วัดเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในที่สุดวัดเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นตลอดห้วง ๖ ปีที่ผ่านมานับแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในดินแดนล่างสุดของประเทศ
นอกจากพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังมีพี่น้องต่างศาสนาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยึดอาชีพทำมาค้าขาย ต่างแวะเวียนเข้ามาให้เห็นอยู่เป็นประจำ โดยเดินทางมาเพื่อมาขอรับ “ทราย” จากมือของเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ที่ว่ากันว่าใครได้ไปแล้วจะช่วยให้ “ทำมาค้าคล่อง” จนเป็นที่เลื่องลือในหมู่พ่อค้าแม่ค้า ทั้งไทยและพุทธทั่วพื้นที่เป็นอย่างดี ถึงขึ้นที่ต้องเตรียมไว้เป็นกระสอบเพื่อให้เพียงพอสำหรับแจกจ่ายแก่ผู้เดินทางมาขอรับอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน
"ในอดีตพื้นที่ยางแดงมีชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมจำนวนมากอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาเป็นเวลาช้านาน กระทั่งเกิดปัญหาความไม่สงบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ชาวพุทธนอกพื้นที่เดินทางมาทำบุญในอัตราที่ลดลง"
เรื่อง -ภาพ... "สุพิชฌาย์ รัตนะ สำนักข่าวเนชั่น"