พระเครื่อง

พระประธานยืน 
๑ เดียวในพระอุโบสถ "วัดเครือวัลย์ฯ"

พระประธานยืน ๑ เดียวในพระอุโบสถ "วัดเครือวัลย์ฯ"

10 ก.ย. 2553

"พระประธาน" คือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหรือวิหารพระพุทธรูป เป็นองค์สำคัญที่สุด มีวัดละองค์ หากเป็นพระประธานในอุโบสถปางที่นิยมสร้ามีอยู่ ๒ ปาง คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระพุทธรูปปางสมาธิ หรือพระพุทธรูปปางตรัสรู้

  พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะนั่งขัดสมาธิราบ (เหมือนปางสมาธิหรือปางตรัสรู้) หรือขัดสมาธิเพชร เหมือนปางขัดสมาธิเพชร แต่พระหัตถ์เบื้องขวาคว่ำที่พระเพลา ปลายนิ้วพระหัตถ์ชี้ลงแผ่นดิน หมายถึงเรื่องพระพุทธประวัติเมื่อทรงอ้างพระธรณีเป็นพยานแก่พระยามาร เครื่องประกอบมักทำเป็นรูปยักษ์มาร และนางแม่พระธรณีบีบมวยผม พระปางนี้นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นคติที่พระองค์ทรงพิชิตพระยามาร บ้างเรียกว่าปางผจญมาร, ปางมารสะดุ้ง (ภายหลังผิดเพี้ยนเป็นปางสะดุ้งมาร) การสร้งพระพุทธรูปปางนี้เกิดขึ้นในสมัยคันธาระ (กรีก) ซึ่งมีอยู่ ๙ ปาง ด้วยกัน คือ ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางอุ้มบาตร ปางประทานพร ปางประทานอภัย ปางลีลา ปางมหาปาฏิหาริย์ และปางปรินิพพาน

 ส่วนพระพุทธรูปปางสมาธิ หรือพระพุทธรูปปางตรัสรู้ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระพทธรูปปางเริ่มมีขึ้นในสมัยลังกา ซึ่งมีอยู่ ๕ ปางด้วยกัน คือ ปางสมาธิ ปางรำพึง ปางลีลา ปางประทานอภัย และปางปรินิพพาน

 อย่างไรก็ตาม ในจำนวนพระประธานในอุโบสถ ของวัดในกรุงเทพฯ พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดเครือวัลย์วรวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ วัดซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับกรมอู่ทหารเรือ แตกต่างจากพระประธานวัดอื่น คือ เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันจันทร์ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ฝ่าพระหัตถ์แบไปด้านหน้า แสดงกิริยาห้ามให้หยุด

 การสร้างพระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากพุทธประวัติตอนหนึ่ง เป็นเหตุการณ์หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว มีอยู่สมัยหนึ่งพระกษัตริย์แห่งโกลิยะวงศ์ ซึ่งเป็นพระประยุรญาติ ทางฝ่ายพระพุทธมารดา กับพวกกษัตริย์แห่งศากยวงศ์ ซึ่งเป็นพระประยูรญาติ ทางฝ่ายพระพุทธบิดา ต่างแย่งน้ำกัน โดยต่างฝ่ายต่างก็ให้ทดน้ำจากแม่น้ำโรหิณีเข้านาของฝ่ายตน เนื่องจากปีนั้นฝนน้อย น้ำไม่พอทำนา เกิดการวิวาทกันขึ้นจนถึงขึ้นใกล้จะทำสงครามกัน

 พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ จึงได้เสด็จไป ณ ที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน และตรัสถามว่า วิวาทกันด้วยเรื่องอะไร ทั้งสองฝ่ายทูลตอบว่า วิวาทกันเรื่องน้ำ พระองค์จึงตรัสถามต่อไปว่า น้ำกับกษัตริย์ อย่างไหนสำคัญและจะมีค่ามากกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายก็ทูลตอบว่า กษัตริย์สำคัญ และมีค่ามากกว่า พระพุทธองค์จึงได้เทศนาให้ทั้งสองฝ่ายฟัง เหตุการณ์จึงสงบลงได้ด้วยดี

 วัดเครือวัลย์วรวิหาร เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระยาอภัยภูธร และเจ้าจอมเครือวัลย์ในรัชกาลที่ ๓ ผู้เป็นธิดาได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเครือวัลย์” พระอุโบสถหน้าประดับลายปูนปั้นลายเครือเถาบานประตูและหน้าต่างมีลายปูนปั้นบนแผ่นไม้ลงรักปิดทองจิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๓ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันแต่ง ด้วยดอกไม้ปูนปั้น ระเบียงและมุขด้านหลังปูหินอ่อน ซุ้มประตูและหน้าต่างทำลายดอกไม้ปูนปั้น ลงรักปิดทองเคยซ่อมมาแล้ว ส่วนบานหน้าต่างใช้ลายเดียวกันกับบานประตู แต่ลายด้านนอกปูนแทนด้วยการแกะสลัก ผนังภายในทั้ง ๔ ด้าน ใช้ลายกั้นเป็นช่อง สี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๕๐ ซม. แต่ละช่องเขียนเรื่องพระชาติของพระพุทธเจ้าไว้ถึง ๕๐๐ พระชาติ

พระยืนใน กทม.
 ๑.หลวงพ่อโตปางอุ้มบาตร "วัดอินทรวิหาร" หรือ "หลวงพ่อโต" บางขุนพรหม กทม.โดยเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่สูงที่สุดในโลก คือมีความสูงประมาณ ๓๒ เมตร และบนยอดเกตุของหลวงพ่อโตก็มีพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลประเทศศรีลังกามอบให้รัฐบาลไทยประดิษฐานอยู่ ส่วนองค์ของหลวงพ่อโตนั้นก็ประดับด้วยกระจกโมเสกทองคำแท้จากประเทศอิตาลีทั้งองค์

 ๒.พระอัฏฐารส มีความสูงถึง ๕ วา ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว (๒๑ ศอก ๑ นิ้ว) มีพระนามเต็มว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุ ๗๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปยืนหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย เดิมประดิษฐานอยู่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหาร วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร

 ๓.พระยืน วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า เป็นวัดในพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามภายในพระบรมมหาราชวัง และด้วยเหตุที่เป็นวัดในวัง ดังนั้น จึงไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ปัจจุบัน วัดบวรสถานสุทธาวาสตั้งอยู่ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นวัดที่ไม่มีการประกอบสังฆกรรมใด ๆ และถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีไหว้ครู พิธีครอบครู และพิธีมงคลต่างๆ ของบรรดานาฏศิลปิน ดุริยางคศิลปินและกรมศิลปากร

 ๔.พระยืนปางห้ามญาติในพระวิหารพระยืน วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร วัดประจำพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่มีความโดดเด่นตรงที่มีศิลปกรรมแบบจีนสอดแทรกอยู่ในวัดไทย

 ๕.พระยืนด้านนอกพระวิหาร วัดดุสิดารามวรวิหาร บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่รวมเอาพื้นที่ของวัดเก่า ๓ วัดรวมเข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน คือ วัดดุสิดาราม วัดน้อยทองอยู่ และวัดภุมรินราชปักษี

 ๖.พระพุทธโลกนาถ ในพระวิหารทิศตะวันออกที่ "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" หรือวัดโพธิ์ท่าเตียน เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาตินี้มีขนาดสูง ๒๐ ศอก เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ ขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกจนปัจจุบัน

 นอกจากนี้ในวัดโพธิ์นี้ยังมีพระยืนอีกองค์หนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะเป็นพระพุทธรูปยืนที่ประดิษฐานอยู่ในพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชรดาญาณเจดีย์

เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "ประเสริฐ เทพศรี"