ไสยศาสตร์ ความหมายและลักษณะพิเศษ
ไสยศาสตร์ ถือว่าเป็นศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยในบรรดาศาสตร์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่มีความเป็นมาที่ยาวนานที่สุดศาสตร์หนึ่ง
ความเป็นมาของความรู้สายนี้นั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดว่า เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ หรือเป็นสิ่งที่หลอกลวง นำไปสู่ความงมงาย ความชัดเจนของศาสตร์แขนงนี้ในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่วิทยาการสมัยใหม่กำลังเจริญรุ่งเรือง “ไสยศาสตร์” ถูกมองว่าเป็นรากเหง้าของความหลงงมงาย อันทำให้ประชาชนหลงเชื่อในสิ่งที่ไร้เหตุผล
ในประเทศไทยมีความพยายามอธิบายที่มาของ “ไสยศาสตร์” ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยการวิเคราะห์ศัพท์จากภาษาบาลี ที่พบกันบ่อย มักมีการให้อรรถาธิบายว่า คำว่า “ไสย” มาจากคำว่า “เสยฺย” ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า “ประเสริฐ” จึงทำให้แปลว่า “ไสยศาสตร์” ว่า เป็น “ศาสตร์อันประเสริฐ”
กระนั้นเอง การอธิบายทฤษฎีนี้ ก็มิได้ให้ความสนใจแก่คำว่า “ศาสตร์” ซึ่งเป็นศัพท์จากภาษาสันสกฤต
ขณะเดียวกัน บางท่านอธิบายว่า คำว่า “ไสย” มาจากคำว่า “ไสยาสน์” ซึ่งแปลว่า “นอน” และแปลคำว่า “ไสยศาสตร์” ว่าเป็น “ศาสตร์แห่งความหลับใหล”
กระนั้นก็มิได้ให้อธิบายที่มาของศัพท์นี้ว่า มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตเช่นกัน
ดร.นพ.มโน เมตตานันโท เลาหวณิช ที่ปรึกษาพิเศษในเลขาธิการใหญ่องค์การสมัชชาศาสนาเพื่อสันติแห่งโลก (ดับเบิลยูซีพีอาร์) บอกว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้การตีความของคำว่า “ไสยศาสตร์” ตามทฤษฎีทั้งสองประการข้างต้นนี้ มิได้มีความสัมพันธ์กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของอินเดียและไทยเลย หากพิจารณ์ด้วยเหตุผลทางไวยากรณ์สันสกฤต และข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณกรรมสามารถสรุปได้ว่า
คำว่า “ไสยศาสตร์” เป็นคำศัพท์ที่รากมาจากภาษาสันสกฤตโดยตรง คือ เป็นคำสมาส “ศาสตร์” หมายถึงแขนงหนึ่งของความรู้ และ “ไสย" มาจาก “ไศวะ" ซึ่งเป็นศัพท์สันกสฤต ที่เกิดจากการพฤตสระจากคำว่า “ศิวะ" โดยที่สระอิถูกพฤตให้เป็นสระ “ไอ” และ “ว” แปลงสภาพเป็น “ย” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายตามหลักของภาษาศาสตร์ เพราะทั้ง “ว” และ “ย” นั้น เป็นพยัญชนะกึ่งสระ ซึ่งมีฐานกรณ์เดียวกัน เสียง “ว” จึงกลายเป็น “ย” ได้อย่างง่ายดาย
ในขณะเดียวกัน “ศ” กลายเป็น “ส” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางเสียงที่เกิดขึ้นได้ง่ายในภาษาไทย เนื่องจาก “ศ” “ษ” และ “ส” นั้น ต่างออกเสียงเหมือนกัน คือ “ส” แทนได้ทั้งหมด
“ไสยศาสตร์ เป็นคำศัพท์ในภาษาไทย ซึ่งมีรากเดิมจากภาษาสันสกฤตจากศัพท์ของคำสมาสว่า “ไศฺวศาสฺตร” (อ่านว่า ฉัย-วะ-ฉาสฺ-ตฺระ) ซึ่งแปลว่า “ศาสตร์ที่เนื่องด้วยจากพระศิวะ” หรือ “ศาสตร์ที่มาจากพระศิวะ” ดร.นพ.มโน กล่าวสรุป
พร้อมกันนี้ ดร.นพ.มโน ยังบอกด้วยว่า ลำพังการวิเคราะห์ศัพท์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาไวยากรณ์สันสกฤตมิได้หมายความว่า สิ่งที่คนไทยมองเห็นว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้เวทมนตร์ โองการและพิธีกรรมต่างๆ นั้น จะเป็นสิ่งที่ตรงกับความเชื่อในอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ที่มาจากพระศิวะจริง เพราะความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่ง ที่มีความแตกต่างทางค่านิยมดั้งเดิมของตนเองนั้น จะยังคงรักษาความดั้งเดิมไว้ได้เหมือนเมื่อครั้งอยู่ในประเทศต้นกำเนิด
นอกจากนี้แล้ว ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของภาษาสันสกฤต เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดศาสตร์ที่ต่อมารู้จักกันในหมู่คนไทยว่า “ไสยศาสตร์”
แต่เนื่องจากพิธีกรรมที่ถูกจำกัดให้อยู่ในหมู่พราหมณ์ และการปฏิบัติกับคนต่างวรรณะในเชิงดูถูกและรังเกียจเดียดฉันท์ คัมภีร์ของศาสตร์ที่เนื่องด้วยพระศิวะเหล่านี้ ต่อมาภายหลังจึงสูญหายไป และต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น คัมภีร์ภาษาบาลีจึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบเดียวกัน และการใช้คัมภีร์บาลีของเถรวาทแทนสันสกฤต จึงเกิดขึ้น และเป็นที่แพร่หลายในเขมรและไทย ในขณะที่สัญลักษณ์และศัพท์ต่างๆ ที่เคยใช้กันมาอย่างคุ้นเคยจากสันสกฤต และศาสตร์ของพราหมณ์สายไศวะยังได้รับการยกย่องนับถือเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เกิดการผสมผสานเป็นไสยศาสตร์แบบไทย ซึ่งแตกต่างไปจากไสยศาสตร์แบบเขมร และอินเดียประเทศต้นตำรับอย่างสิ้นเชิง ในที่สุดไสยศาสตร์ได้เข้ามาผสมผสานกับความเชื่อเรื่องผีของบรรพบุรุษไทยอย่างกลมกลืน
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"
ลักษณะพิเศษ
ไสยศาสตร์ นั้น มิใช่เรื่องไม่มีเหตุมีผล แต่เป็นเรื่องของการใช้ “อำนาจ” ซึ่งมีระบบของเหตุผล หลักการ แหล่งของอำนาจหรือความศักดิ์สิทธิ์ อุปกรณ์ และกระบวนการต่างๆ อันมีขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์ ที่ผู้ประกอบพิธีตั้งความปรารถนาไว้ ปัจจัยต่างๆ ของพิธีกรรมทางไสยศาสตร์นั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้ประกอบพิธี มิใช่เกิดขึ้นลอยๆ โดยที่ประกอบพิธีนั้น เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด สามารถบงการให้เกิดสิ่งต่างๆ ซึ่งอยู่นอกกรอบของเหตุผลของสามัญสำนึกของสามัญชนจะคาดหวังได้
พิธีกรรมทางไสยศาสตร์นั้น จะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อเงื่อนไขของพิธีกรรมทั้งหมดได้บรรลุ สิ่งนี้อาจเรียกได้ว่า เป็นการควบคุมคุณภาพของผู้ประกอบพิธีกรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ โดยมีการแบ่งแยกที่ชัดเจน ระหว่างผู้ประกอบพิธี (คนใน) และผู้อื่นที่เข้าร่วมพิธี (คนนอก) ยิ่งพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์เท่าใด ช่องว่างและเงื่อนไขที่แบ่งแยกระหว่างคนในและคนนอกยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น พร้อมกันนั้น คือ ความลึกลับที่คนในเท่านั้นที่มีสิทธิ์ที่จะเข้าใจ ส่วนคนนอกเป็นพวกที่ไม่มีสิทธิ์จะเรียนรู้สาระของพิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเลย
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของไสยศาสตร์ คือ การร่ายมนตร์ หรือ คาถา ของผู้ประกอบพิธี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องกระทำให้ได้จังหวะที่พอเหมาะพอดีกับขั้นตอนต่างๆ ตลอดพิธีกรรม
แนวคิดในเรื่องการสาธยายมนตร์นี้ คือ ความเชื่อที่ว่า “อักขระนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีวันสูญสลาย” และมนตร์ต่างๆ ที่ผู้ประกอบพิธีได้เปล่งออกจากปากของตนแล้ว ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถยังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นได้ตรงตามวัตถุประสงค์ และหากเปล่งออกมาผิด ผลกระทบก็จะกลับเป็นวิบากแก่ผู้สาธยายนั้นเอง
นั่นหมายถึงความเป็นมงคลต่างๆ จะกลายเป็นอัปมงคล โชคจะกลายเป็นเคราะห์ และอำนาจที่ถูกใช้ไปเพื่อประทุษร้ายผู้อื่น อำนาจนั้นก็จะย้อนกลับมาประทุษร้ายผู้ร่ายเวท และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน