
'เหยียบฉ่า' วัดเกาะหงษ์ แพทย์แผนพระในวันที่...'ไร้พระสืบทอด'
การเหยียบฉ่า เพื่อรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดเมื่อยตามแขนขา หรือตามร่างกาย ด้วยการที่พระหมอจะเอาเท้าเหยียบยาสมุนไพรหรือน้ำมันยาแล้วเหยียบลงไปบนแผ่นเหล็กที่เผาไฟจนแดงร้อนจัด หรือใช้เท้าลนไฟถ่านให้ร้อนจัดแล้วเหยียบลงบนคนไข้ จนเกิดเสียงดัง 'ฉ่า' คนไข้ที่ม
ในสมัยก่อนเป็นวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องการ 'เหยียบฉ่า' และการรักษาแผนสมุนไพร ไสยศาสตร์ รดน้ำมนต์และคาถาอาคม เป็นวัดที่มีพระภิกษุที่เป็นที่เคารพศรัทธาของเหล่าข้าราชการและประชาชนทั่วไปนั้น เดิมทีอยู่ที่วัดพระปรางค์เหลือง ต.น้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ นับตั้งแต่หลวงพ่อดำ หลวงพ่อสี จนถึงหลวงพ่อเงิน เป็นพระเกจิชื่อดังในสมัยนั้น
ทั้งนี้ พระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕) เสด็จฯ มาถึงวัดพระปรางค์เหลือง ถึง ๓ ครั้ง ในการเสด็จประพาสต้นทางภาคเหนือ ครั้งที่ ๑ เมื่อ ร.ศ.๑๒๐ ตรงกับวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๔๔ ในเวลา ๔ โมงเย็น ทอดพระเนตรพระอุโบสถ และกุฏิที่เป็นฝีมือช่างชาวจีนสร้างไว้ และทรงสนพระราชหฤทัยการ 'เหยียบฉ่า' โดยหมอจีน ครั้งที่ ๒ ใน ร.ศ.๑๒๕ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๔๙
หลังจากหลวงพ่อเงินมรณภาพ ไม่มีพระเกจิอาจารย์รูปใดสืบทอดวิชาอาคมนี้ ในที่สุดการเหยียบฉ่าก็สูญไปจากวัดท่าพระปรางค์เหลือง แต่วิชานี้ไม่ได้สูญหายไปเสียเลยทีเดียว เพราะมีผู้รับการสืบทอดโดยหลวงพ่ออินทร์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะหงษ์ ซึ่งเรียนวิชาจากหลวงพ่อกัน สหธรรมิกของหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง จากนั้นก็ถ่ายทอดมาถึงหลวงพ่อบุญชู เจ้าอาวาสวัดเกาะหงษ์รูปปัจจุบัน
และการเหยียบฉ่าที่วัดเกาะหงษ์ ก็จะมีสภาพเดียวกับที่วัดพระปรางค์เหลือง ด้วยเหตุว่า “ไม่มีพระรูปใดที่จะสืบทอดแพทย์แผนพระจากหลวงพ่อบุญชู”
“อย่าว่าแต่พระที่บวชในพรรษาที่ผ่านมาเลย เอาเป็นว่าพระที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่อาตมาเหยียบฉ่ารักษาโรคไม่มีพระรูปใดที่จะสนใจเรียนเลย มีแต่พระจากต่างวัด จากต่างจังหวัด รวมทั้งชาวบ้านจากต่างถิ่นมาเรียนวิชานี้ อย่างกับสุภาษิตไทยที่ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ คือ ใกล้เกลือกินด่าง” นี้คือคำบอกเหล่าของหลวงพ่อบุญชู
กว่า ๔๐ ปี ที่หลวงพ่อบุญชูรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเหยียบฉ่า มีผู้ป่วยนับหมื่นๆ คนที่ผ่านเท้าหลวงพ่อ ทั้งนี้ หลวงพ่อได้รักษาฟรี ไม่เคยเรียกร้องสักบาท ไม่มีแม้กระทั่งค่าขันบูชาครู แต่เมื่อใครหายก็กลับมาทำบุญเอง ทั้งทอดกฐินและถวายผ้าป่า ปัจจัยที่ได้จากกิจนิมนต์ จากไปเทศน์ก็นำไปซื้อสมุนไพรมาปรุงเป็นตัวยา เพราะท่านคิดอยู่เสมอว่า อโรคยา ปรมา ลาภา หมายถึง ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งเป็นความปรารถนาของทุกคน เมื่อเป็นโรคก็เป็นทุกข์เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น เมื่อพ้นจากโรคก็เป็นสุขเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น
ขณะเดียวกัน ผู้ที่มาให้หลวงพ่อเหยียบฉ่าไม่ต้องนัดวันล่วงหน้า ไม่ต้องเข้าคิว มาเมื่อไรก็เจอเมื่อนั้น ด้วยเหตุที่ว่า หลวงพ่อบุญชูจะทิ้งวัดไปไหนไม่เกินชั่วโมง ไม่เคยปล่อยให้คนไข้รอ เพราะท่านให้ความสำคัญต่อการรักษาเป็นอันดับแรก ส่วนกิจนิมนต์เป็นอันดับรองๆ ลงมา ถ้านิมนต์ไปเหยียบนอกสถานที่ ท่านจะตอบปฏิเสธ ด้วยเหตุเดียว คือ “เดี๋ยวคนมาวัดรอเก้อ”
ส่วนประเด็นที่มีคนบอกว่า "การรักษาโรคไม่ใช่หน้าที่ของพระ เพราะการแพทย์แผนปัจจุบันเจริญแล้ว" หลวงพ่อชูตอบสวนมาว่า คนที่พูดคือคนไม่รู้จักพระ ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ศาสนา สมัยก่อนอะไรก็อยู่และเกิดจากวัดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือ วิชาช่าง งานศิลปะ รวมทั้งการรักษาโรค ตั้งแต่เกิดไปจนตายก็ว่าได้ พอการแพทย์แผนปัจจุบันรุ่งเรือง ก็ลืมการแพทย์แผนโบราณ แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล ก็กลับมาพึ่งการแพทย์แผนโบราณ อย่างนี้เขาเรียกว่า อยู่กับทองคำ อยู่กับเพชรกลับ แต่กลับไม่รู้คุณค่าของมันเลย มันสมควรที่จะปล่อยให้ทองคำและเพชรหายไป ระหว่างเหยียบฉ่า อาตมาจะสอดแทรกธรรมะให้แก่ผู้มารักษาด้วย โดยเฉพาะธรรมข้อที่ว่า 'อโรคยา ปรมา ลาภา' "
สำหรับแนวทางการถ่ายทอดวิชาเหยียบฉ่าของหลวงพ่อบุญชูนั้น ท่านยึดแนวของหลวงปู่อินทร์ คือถ่ายทอดให้ผู้สนใจใคร่อยากรู้ทุกอย่าง โดยไม่ปิดบังเลยสักอย่าง เพราะท่านเชื่อว่า คนเราอยู่ได้ไม่เกินร้อยปีก็ตายกันหมด ส่วนที่เกินร้อยก็มีอยู่ไม่เท่าไร วิชาเหล่านี้มีค่ามหาศาลยิ่งนัก มันสมควรอยู่เป็นสมบัติของมนุษยชาติ ถ้าปิดหรือเก็บไว้มันก็ตายตามตัวเราไปเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ หลวงปู่อินทร์มักสอนเสมอๆ ว่า ใครอยากเล็กให้หามาใส่ ใครอยากใหญ่ให้ถ่ายออก ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ตกทอดมาถึงรุ่นเรา เพราะพระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดให้สาวกลงมาตามลำดับขั้น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า ถ้าอยากให้อะไรคงอยู่บนผืนโลกต้องบอก ต้องประกาศให้คนหมู่มากรู้ เพื่อจะได้ช่วยรักษาสมบัติอันล้ำค่าไว้
“ถ้าหลวงพ่อมรณภาพไป การเหยียบฉ่าที่วัดนี้อาจจะสูญไป แต่ที่วัดอื่นอาตมาเชื่อว่าต้องมีแน่ เพราะก่อนหน้านี้ การเหยียบฉ่ามีเฉพาะที่วัดพระปรางค์เหลืองเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้เหลือที่วัดเกาะหงษ์ ส่วนที่วัดพระปรางค์เหลืองไม่มี ต่อไปอาจจะไปดัง หรือทำชื่อเสียงให้วัดอื่น ก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าวิชายังอยู่ เช่นที่จันทบุรี กาญจนบุรี กำแพงเพชร และปทุมธานี ด้วยเหตุนี้ อาตมาจึงอยากฝากบอกถึงพระทุกรูปว่า พระที่จะไปดังจะมีชื่อเสียงโดยไม่มีความรู้ทางเปรียญธรรม หรือมีสมณศักดิ์ทางการปกครอง ต้องมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้คาถาต่างๆ ซึ่งไม่เกินวิสัยของพระ” หลวงพ่อบุญชูพูดทิ้งท้าย
วัดเกาะหงษ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตก หมู่ที่ ๖ บ้านเกาะหงษ์ ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ห่างจากตัวเมืองนครสวรรค์ ประมาณ ๘ กม. ถนนสายนครสวรรค์-โกรกพระ-อุทัยธานี สอบถามเส้นทางได้ที่โทร.๐-๕๖๓๕-๘๐๔๐ หรือ ๐-๕๖๓๕-๘๑๑๘
"ก่อนหน้านี้ การเหยียบฉ่ามีเฉพาะที่วัดพระปรางค์เหลืองเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้เหลือที่วัดเกาะหงษ์ ส่วนที่วัดพระปรางค์เหลืองไม่มี ต่อไปอาจจะไปดัง หรือทำชื่อเสียงให้วัดอื่น อย่างกับสุภาษิตไทยที่ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ คือ ใกล้เกลือกินด่าง"
เรื่อง... " ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร"