
ธรรมนูญ แสงรังษี กับ...ปาฏิหาริย์พระบรมฉายาลักษณ์ 'ในหลวง'
"ภาพถ่าย" มีคุณค่ามากมายมหาศาล ทั้งในแง่ของศิลปะ และการบันทึกปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพบุคคล สถานที่ หรือเหตุการณ์ ขณะเดียวกันภาพถ่ายยังทำหน้าที่เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ดีเยี่ยมและนานแสนนานอีกด้วย แม้ว่าคนที่ถ่ายภาพน
และหนึ่งในช่างภาพที่คนไม่รู้จัก แต่มีผลงานและเป็นผู้หนึ่งที่บันทึกภาพอันเป็นประวัติศาสตร์ คือ "นายธรรมนูญ แสงรังษี" ช่างภาพและคนข่าววัย ๗๘ ปี
นายธรรมนูญ เล่าว่า เริ่มเข้าทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งเป็นยุคการปกครองภายใต้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติสำเร็จ ได้มีนโยบายปกป้อง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเผยแพร่พระราชกรณียกิจ จึงมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นศูนย์กลางเผยแพร่เกี่ยวกับข่าวสารในพระราชวัง และพระราชกรณียกิจทุกพระองค์ ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ที่ได้รับมอบหมายงานสำคัญนี้ จึงติดตามทำข่าวและบันทึกพระบรมฉายาลักษณ์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ ที่แห่งใด
ในการทำงานถ่ายภาพนั้น คิดว่าเป็นเพียงหน้าที่ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะกลายเป็นผู้บันทึกเรื่องราวในประวัติศาสตร์คนหนึ่ง โดยเฉพาะภาพในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ถ่ายภาพวัดที่ถือว่าเป็นภาพถ่ายประวัติศาสตร์ เช่น วัดพระแก้ว ที่ถ่ายจากมุมศาลอาญา ซึ่งยังมีปั๊มน้ำมัน ๓ ทหารตั้งอยู่ บริเวณศาลหลักเมืองในปัจจุบัน ภาพถ่ายพระศรีสรรเพชญ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ภาพถ่ายพระอัฏฐารส จ.พิษณุโลก ก่อนการบูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ รวมทั้งวัดวังก์วิเวการาม ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก่อนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะสร้างเขื่อน
สำหรับการตามเพื่อถ่ายภาพในหลวงเสด็จฯ ไปกราบพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น นายธรรมนูญเล่าว่า การเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรของในหลวงตามท้องถิ่นต่างๆ นั้น พระองค์ท่านจะเก็บข้อมูลสารทุกข์สุกดิบของคนจากคน ๓ กลุ่ม กลุ่มแรก ข้าราชการในท้องที่ กลุ่ม ๒ ประชาชนในท้องที่นั้นๆ และ ๓ พระสงฆ์ ทั้งนี้ พระองค์ท่านจะเสด็จฯ ไปวัดก่อน หรือหลังไปเยี่ยมเยียนราษฎรทุกครั้งไป เพราะพระสงฆ์จะรู้เรื่องราวทุกข์สุขของชาวบ้านทุกเรื่อง ที่สำคัญคือ เป็นข้อมูลที่ตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม ภาพภาพหนึ่งที่คนไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี คือ ภาพในหลวงทรงถือกล้องและถ่ายภาพระหว่างเสด็จฯ ไปตามพื้นที่ต่างๆ หลายคนอาจจะเคยตั้งข้อสงสัยว่า "ทำไม?" จากการถ่ายภาพในหลวงเสด็จฯ ตามท้องที่ต่างๆ หากนำภาพที่ถ่ายมาเปรียบเทียบกันระหว่างประชาชนในพื้นที่ต่างๆ จะบ่งบอกถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างชัดเจนที่สุด ตั้งแต่เสื้อผ้าที่สวมใส่มารับเสด็จ ร่ม หมวก งอบ รองเท้า ผ้าปูรองนั่ง ของที่ทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งผ้าปูที่ประชาชนมักปูเป็นลาดพระบาทให้ในหลวงเหยียบ ภาพถ่ายใบเดียวมีข้อมูลเหล่านี้บันทึกอยู่ทั้งหมด อย่างที่วงการถ่ายภาพพูดกันว่า “ภาพถ่าย ๑ ใบ แทนคำบรรยายได้ล้านคำ” นั่นแหละ
“สิ่งที่ผมประทับใจในหลวงมากที่สุดก็คือ ได้เห็นพระองค์ท่านไม่ถือพระองค์ว่าเป็นพระเจ้าอยู่หัว แต่ท่านทรงปฏิบัติตนเยี่ยงสามัญชน ท่านสามารถจะเข้าถึงพสกนิกรทุกชนชั้น โดยเฉพาะการถ่ายรูปของช่างภาพ พระองค์ท่านทรงเมตตาให้ช่างภาพสื่อต่างๆ อย่างใกล้ชิด ผมถ่ายภาพในหลวงกับพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายรูป ทั้งเหนือ อีสาน และใต้ เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น แต่ภาพหนึ่งที่คุ้นตาประชาชน คือ ภาพในหลวงกับหลวงพ่อคูณ โดยถ่ายไว้เมื่อครั้งทำงานที่การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อนำมาทำปฏิทินในช่วงเทศกาลปีใหม่” นายธรรมนูญ กล่าวอย่างภูมิใจ
เมื่อถามถึง พระสมเด็จจิตรลดา นายธรรมนูญบอกว่า เกือบได้รับพระราชทาน แต่ไม่ได้ ครั้งหนึ่งเคยตามเสด็จฯ ไปถ่ายภาพยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อนที่เป็นช่างภาพทีวีด้วยกัน ๔ คน กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาจากในหลวงโดยตรง พระองค์ก็พระราชทานให้ ซึ่งวันนั้นตรงกับวันที่ต้องสลับเวรกับเพื่อน จึงไม่ได้รับพระราชาทาน แต่ด้วยความอยากได้ จึงไปคุยกับคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ว่ายังไม่ได้พระสมเด็จจิตรลดา คุณขวัญแก้วแนะนำว่า ต้องกราบบังคมทูลขอพระราชทานด้วยตัวเอง พร้อมกับรับปากว่าจะพาไป
เช้าวันรุ่งขึ้น คุณขวัญแก้วพาไปดักรอรับเสด็จ โดยยืนอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้กำลังใจ เมื่อพระองค์เสด็จฯ มาถึง ผมก็กราบบังคมทูลขอพระราชทานว่า “ข้าพระพุทธเจ้า นายธรรมนูญ แสงรังษี ยังไม่ได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาเลยพ่ะย่ะค่ะ” พระองค์ท่านไม่มีรับสั่งอะไร แต่ทรงล้วงพระหัตถ์เข้าไปในกระเป๋าฉลองพระองค์สูททั้ง ๒ ข้าง จากนั้นก็โชว์พระหัตถ์ หมุนไปมา ๒-๓ ครั้ง พร้อมกับแย้มพระสรวลโดยไม่มีรับสั่งอะไร แม้จะไม่ได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา แต่ก็ได้พระราชทานเหรียญที่ระลึก ๒ ครั้ง คือ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ ได้รับพระราชทานเข็มที่ระลึกของฝูงบินไทเกอร์เจ็ต หน่วยทหารของไต้หวัน ซึ่งได้รับจากพระหัตถ์โดยตรง และปีกฝนหลวง จากการที่ไปถ่ายภาพเผยแพร่โครงการฝนหลวงมาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งทุกวันนี้ได้เก็บไว้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับเหรียญในหลวงทรงถือกล้องถ่ายรูป ที่ใส่สร้อยห้อยคอเอาไว้ตลอดเวลามานานเกือบ ๕๐ ปีแล้ว
ส่วนการอัดพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงขายนั้น นายธรรมนูญบอกว่า พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงช่วยทำให้คนมีรายได้ บางคนยึดเป็นอาชีพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การนำภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงมาอัดขายนั้น แรกเริ่มมาจากรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ ขออนุญาตยืมฟิล์มของกรมมาอัดขายในราคาใบละ ๑ บาท ส่วนจะเป็นภาพใดนั้น แม่ค้าในย่านตลาดบางลำพู ท่าพระจันทร์ จะสั่งตามภาพที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ และไม่คิดเลยว่า พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงที่ถ่ายไว้เมื่อ ๓๐ ปีก่อน จะมาช่วยอีกครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิต
"พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงช่วยทำให้คนมีรายได้ บางคนยึดเป็นอาชีพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และไม่คิดเลยว่าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงที่ถ่ายไว้เมื่อ ๓๐ ปีก่อน จะมาช่วยอีกครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิต"
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"