พึ่งตนพึ่งธรรม - ขึ้นเขาคิชฌกูฏ (ของเเท้)
กรุงราชคฤห์ อินเดีย-การจาริกแสวงบุญที่มีระยะทางไกลและทุรกันดารในถิ่นอินเดียนั้น เขาคิชฌกูฏ เป็นชื่อที่คนไทยคุ้นเคยมาก จุดเด่นของที่นี่คือ พระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า บนยอดเขาจุดสูงสุดของเขาคิชฌกูฏ
เขาคิชฌกูฏ เป็นหนึ่งของภูเขาห้าลูกที่ล้อมรอบกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ที่รุ่งเรืองในอดีต เมืองที่พระเจ้าพิมพิสาร เป็นกษัตรย์ทรงปกครองโดยมีภูเขาทั้งห้าลูก เป็นปราการ ยากต่ออริราชจะมาย่ำยี กรุงราชคฤห์ในปัจจุบัน ในเขตเมืองโบราณได้อนุรักษ์ไว้ ไม่มีผู้คนอาศัย ชาวอินเดียเรียกว่า เมืองราชคีร์ (Rajgir) อยู่ในเขตอำเภอนาลันทา รัฐพิหาร ห่างจากปัตนะเมืองหลวงรัฐพิหารประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร และห่างจากคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร ภายในตัวเมืองเก่าไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่นอกเมืองเก่ายังเป็นชุมชนใหญ่มีผู้คนอาศัยอยู่คึกคัก และภายในเมืองเก่ากรุงราชคฤห์มีโบราณสถานที่ยังอนุรักษ์ไว้อยู่ในสภาพที่ดี เช่น พระคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกฏ คุกขังพระเจ้าพิมพิสาร โรงพยาบาลหมอชีวก และวัดพระเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
มูลคันธกุฎี พระพุทธเจ้า อยู่บนยอดสูงสุดของเขาคิชกูฎ เด่นสง่าท่ามกลางทิวทัศน์รอบๆ เขาคิชกูฎ ผู้จาริกแสวงบุญที่มาถึงที่นี่ ได้สวดมนต์ กล่าวคำบูชา ทักษิณา รอบๆ มูลคันธกุฎี และนั่งสมาธิภาวนาเป็นการบูชาพระองค์ด้วยการปฏิบัติ หรือสวดอิติปิโสฯ จนเสร็จพิธีที่บริเวณมูลคัธกุฎี
ระหว่างทางขึ้นและลงนั้น เต็มไปด้วยพุทธประวัติมากมาย ระหว่างทางจะได้เห็นสถานที่ที่พระเทวทัตกลิ้งหินลงมาใส่พระพุทธเจ้า ได้เห็นถ้ำพระสารีบุตร ที่นี่ขอให้อธิษฐานขอให้มีปัญญา และถ้ำพระโมคคัลลา ได้รับคำแนะนำให้อธิษฐานขอให้มีสุขภาพดี มีพลัง เพราะท่านโมคคัลลาท่านมีฤทธิ์มาก
ระหว่างทางเข้าไปยังเขาคิชฌกูฏ ผ่านชีวกัมพวันซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่หมอชีวกได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก หมอชีวกผู้นี้ได้มีโอกาสถวายการรักษาพระพุทธองค์ เมื่อครั้งที่พระเทวทัตกลิ้งหินใส่จนห้อพระโลหิต
หมอชีวก หรือ "ชีวกโกมารภัจจ์" เป็นบุตรของนางสาลวตี ซึ่งเป็นหญิงนครโสเภณีประจำกรุงราชคฤห์ เมื่อนางคลอดลูกออกมาเป็นชายก็ได้นำไปทิ้งยังกองขยะ ต่อมาอภัยราชกุมารไปพบเข้าจึงนำไปเลี้ยงไว้ในวัง และให้ไปศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองตัก-กสิลา นครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ เมื่อจบออกมาก็เป็นหมอใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาก ปัจจุบันมีลักษณะเป็นลานกว้างมีหินก่อไว้พอสังเกตได้ว่าเป็นห้องๆ มีรั้วรอบขอบชิด
น่าสังเกตว่าสถานที่ระบุได้ชัดเจนนี้มีหลักฐานยืนยันได้จากหลักฐานบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ.๙๔๒ ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า เมืองราชคฤห์อยู่ในสภาพปรักหักพัง แต่ยังทันได้เห็นมูลคันธกุฎีวัดเวฬุวันปรากฏอยู่ และยังคงมีพระภิกษุหลายรูปช่วยกันดูแลรักษาปัดกวาดอยู่เป็นประจำ
ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ?ซึ่งได้จาริกมาเมืองราชคฤห์ราวปี พ.ศ.๑๓๐๐ ซึ่งท่านบันทึกไว้แต่เพียงว่า ท่านได้เห็นแต่เพียงซากมูลคันธกุฎีซึ่งมีกำแพงและอิฐล้อมรอบอยู่เท่านั้น ในสมัยนั้นเมืองราชคฤห์โรยราถึงที่สุดแล้ว พระถังซำจั๋งได้แต่เพียงจดตำแหน่งที่ตั้งทิศทางระยะทางของสถูปและโบราณสถานเก่าแก่อื่นๆ ในเมืองราชคฤห์ไว้มาก ทำให้เป็นประโยชน์แก่นักประวัติศาสตร์ในการค้นหาโบราณสถานต่างๆ ในเมืองราชคฤห์ในปัจจุบัน
พระมหาอ้าย ธีรปัญโญ ธรรมทูตอาสา ประจำวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ อินเดียกล่าวว่า การเดินทางตามดูพุทธสถาน ต้องมีศรัทธาและปัญญาควบคู่กันไป อย่าสุดโต่งจนเกินแก้ ท่านเจ้าคุณกุสินารา พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วิรยุทโธ) บอกไว้ว่า อยากโลภให้ไปฮ่องกง อยากหลงให้ไปอเมริกา อยากโมโหโกรธาให้ไปพม่า อยากมีปัญญาให้มาอินเดีย
๐ การเดินทางในอินเดียให้สนุกบันเทิงในธรรมแบบนักจาริกแสวงบุญมืออาชีพ ต้อง
- ไปแบบฝรั่ง
- ใช้สตางค์แบบญี่ปุ่น
- มีทุนแบบไทย
- ทำใจแบบทิเบต
- สังเกตแบบจีน
- กินแบบแขก
- บุกแหลกแบบพระธุดงค์
- มั่นคงแบบพระอรหันต์
นี่แหละคือสวรรค์ของนักจาริกบุญครับท่าน
ปัจจุบันคตินิยมของคนไทยในการเดินทางไปสวดมนต์ไหว้พระในแดนพุทธภูมิ นับว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาให้คิดว่า “เป็นการเรียนรู้”
ภาพ - เรื่อง... "ลุงแจ่ม คม ชัด ลึก"