คำวัด - กิจ - ของสงฆ์
"อะไรที่ไม่เกินกว่าพระธรรมวินัย ล้วนเป็นกิจของสงฆ์ทั้งสิ้น คนพึ่งวัดตั้งแต่เกิดจนตาย ทำไมพระและวัดจะทำอะไรกลับคืนเพื่อคนในสังคมไม่ได้" นี่เป็นคำจำกัดความของคำว่า "กิจของสงฆ์" ของ พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสวนแก้ว
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดโอรสาราม กทม. ได้ให้ความหมายของคำว่า “กิจ” ไว้ว่า สิ่งที่พึงทำ ใช้หมายถึง ธุระ งานที่พึงจัดพึงทำให้สำเร็จไป มาจากคำวัดว่า “กิจจ” เมื่อนำไปประกอบกับคำอื่นจึงอ่านเต็มรูปว่า กิดจะ เช่น กิจกรรม อ่านว่า กิด-จะ-กำ กิจวัตร อ่านว่า กิด-จะ-วัด กิจการ อ่านว่า กิด-จะ-กาน
กิจ ที่ใช้เกี่ยวกับภิกษุ เช่น กิจวัตร หมายถึง กิจทางศาสนา ที่ทำเป็นประจำ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น
กิจสงฆ์ หมายถึงงานที่เป็นหน้าที่ของสงฆ์ เช่น กิจวัตร การรักษาธรรมวินัย การทำสังฆกรรม การดูแลรักษาวัด การเผยแผ่ศาสนา
กิจนิมนต์ หมายถึง กิจที่ต้องไปในงานต่างๆ ตามคำนิมนต์ เช่น งานบุญ งานเทศน์ งานสอน งานสงเคราะห์อื่นๆ
กิจวัตร อ่านว่า กิด-จะ-วัด หมายถึง กิจทางพระพุทธศาสนา ที่ภิกษุสามเณรทำเป็นประจำ หรือทุกครั้งที่กำหนดไว้เป็นประจำ
กิจวัตร ได้แก่ การออกบิณฑบาต การทำวัตรเช้า การทำวัตรเย็น การสวดมนต์ไหว้พระ การปลงอาบัติ การลงปาฏิโมกข์ เป็นต้น
กิจวัตร ยังร่วมไปถึงการปฏิบัติกิจต่างๆ เช่น การศึกษาเล่าเรียน การสอนธรรมแก่ชาวบ้าน การกวาดวัด อันเป็นกิจพิเศษเข้าไปด้วย แม้ว่าเป็นกิจไม่ประจำทุกวันก็ตาม แต่เป็นกิจที่ภิกษุสามเณรปฏิบัติกันเป็นปกติ
ในขณะที่คำว่า “ของสงฆ์” เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า ของที่เป็นของวัด ของที่สงฆ์ในวัดใช้ร่วมกัน
ของสงฆ์ ได้แก่ สมบัติของวัดทุกอย่างที่เป็นของส่วนกลาง ถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวม ภิกษุสามเณรในวัดทุกรูปในวัดมีสิทธิ์ใช้สอยร่วมกัน เช่น อาคารสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ส่วนกลาง
ของสงฆ์ เป็นของที่ภิกษุสามเณรทุกรูปในวัดต้องช่วยกันดูแลรักษา นำไปใช้แล้วต้องเก็บงำ หากนำไปใช้ส่วนตัวแบบถาวร ต้องขออนุญาตสงฆ์ก่อน เมื่อชำรุดเสียหายต้องซ่อมแซม เมื่อสูญหายต้องชดใช้ หากนำไปใช้แล้วปล่อยปละละเลยไม่เก็บงำ ย่อมถูกปรับเป็นอาบัติ
ของสงฆ์ ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ที่ธรณีสงฆ์ ท่านห้ามซื้อขาย กฎหมายว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น
"พระธรรมกิตติวงศ์"