โบสถ์-อุโบสถ-ผูกพัทธสีมา
"การทำบุญปิดทองฝังลูกนิมิตได้บุญมาก" เป็นคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลที่ว่า "หนึ่งวัดจะจัดได้เพียงครั้งเดียว ผู้ที่มีโอกาสได้ทำบุญปิดทองฝังลูกนิมิต จึงถือว่าได้ทำบุญที่ยิ่งใหญ่ เป็นมหากุศลบารมีประดับชีวิตตลอดไป เป็นบุญที่จะหาโอกาสทำได้ไม่ง่ายนัก"
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "โบสถ์ " แปลว่า เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกัน เพื่อทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่น สวดปาติโมกข์ อุปสมบท มี "สีมา" เป็นเครื่องบอกเขต ทั้งนี้คำว่า “โบสถ์” เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพุทธศาสนา
โบสถ์ เรียกเต็มว่า อุโบสถ หรือโรงอุโบสถ ถ้าเป็นพระอารามหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือ สิม
โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า “วิสุงคามสีมา”
ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัย จะต้องมีการทำสังฆกรรม ที่เรียกว่า ผูกสีมา หรือ ผูกพัทธสีมา ก่อน
ส่วนคำว่า “อุโบสถ” (อุ-โบ-สด) มีหลายความหมาย คือ ๑.สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรม ตามพระวินัย เรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง แต่เรียกโดยทั่วไปว่า “โบสถ์”
การเข้าจำวัด คือ การรักษาศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เรียกว่า รัก รักษาอุโบสถ หรือ รักษาอุโบสถศีล
วันพระ หรือ วันฟังธรรมของคฤหัสถ์ คือ ขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่คฤหัสถ์รักษาอุโบสถศีลกัน เรียกว่า วันอุโบสถ
วันที่พระสงฆ์ลงฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เรียกว่า วันอุโบสถ
การสวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน หรือทุกวันอุโบสถของพระสงฆ์ เรียกว่า การทำอุโบสถ
ในขณะที่คำว่า “พัทธสีมา” เจ้าคุณทองดีให้ความหมายไว้ว่า “สีมา” หมายถึงเขต หรือ แดนที่กำหนดไว้สำหรับการทำสังฆกรรมของสงฆ์ เป็นเขตชุมนุมสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งพระสงฆ์กำหนดว่า ผู้อยู่ในเขตนั้นต้องร่วมกันทำสังฆกรรม โดยความพร้อมเพรียงกัน
“พัทธสีมา” หมายถึง สีมา หรือเขตแดนที่พระสงฆ์ผูกไว้แล้ว คือ พระสงฆ์ร่วมกันกำหนดเป็นเขตทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกพิธีกรรมที่กำหนดอย่างนั้นว่า ผูกสีมา โดยทั่วไปเรียกพัทธสีมาว่า โบสถ์ หรือ อุโบสถ
นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ “วิสุงคามสีมา” (วิ-สุง-คาม-มะ-สี-มา) แปลว่า เขตแดนส่วนหนึ่งจากแดนบ้าน คือ ที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง ซึ่งเป็นเขตที่พระจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะ โดยเป็นประกาศพระบรมราชโอการ
ที่ดินที่พระราชทานแล้วจะมีเครื่องหมายเป็นเครื่องบอกเขต เครื่องหมายนี้เรียกว่า “นิมิต” ภายในวิสุงคามสีมา นิยมสร้างโรงอุโบสถไว้เพื่อทำสังฆกรรม
การที่จะเป็นอุโบสถถูกต้องตามพระธรรมวินัยนั้น จะต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน แล้วพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันสวดถอนพื้นที่ทั้งหมดในเขตสีมานั้น เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่เป็นสีมาเก่า เรียกว่า “ถอนสีม” หลังจากนั้นจึงสวดประกาศให้พื้นที่นั้นเป็น สีมา เรียกว่า “ผูกสีมา” ทำดังนี้จึงจะเป็นสีมา หรือเป็นอุโบสถถูกต้องพระธรรมวินัย
"พระธรรมกิตติวงศ์ "