คำวัด - เทพ-พรหม-พระเจ้า
การนับถือเทพเจ้าของชาวจีนในประเทศไทย ผสมผสานความเชื่อของพุทธศาสนา การบูชาบรรพบุรุษ ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื้อ และการนับถือเทพเจ้า ชาวจีนจะนิยมไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษ ในขณะเดียวกันก็ทำบุญตักบาตร หรือให้ลูกบวชเรียนในพุทธศาสนา โดยไม่ถือว่ามีความขัดแย้งกัน
การนับถือเทพเจ้าเป็นความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุด ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมา มีเทพเจ้าประจำสถานที่ ทะเล ภูเขา ป่า แม่น้ำ บ้านเรือน ประจำอาชีพ เทพเจ้าชั้นสูงที่มีคุณธรรมเป็นเลิศ ทั้งนี้จะมีการสร้างศาลเจ้าขนาดต่างๆ ไว้ในชุมชน หรือสถานที่ต่างๆ เพื่อการสักการะ
ในทางพระพุทธศาสนา มีคำที่เกี่ยวเนื่อง ๓ คำ คือ "เทพ พรหม และพระเจ้า" ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "เทพ" แปลว่า ผู้เล่นเพลิดเพลินอยู่กับกามคุณ ผู้รุ่งเรืองด้วยสิริของตน ผู้เป็นทิพย์ รวมทั้งหมายถึง เทวดา เทพเจ้า และชาวสวรรค์
เทพ ในคัมภีร์ศาสนา หมายถึง เทพ ๓ ระดับ คือ
๑.สมมติเทพ หมายถึง เทพโดยยกย่องนับถือกันมาเป็นจารีต หรือเทพโดยมติยอมรับของสาธารณชน ได้แก่ พระราชา พระราชโอรส
๒.อุบัติเทพ หมายถึง เทพโดยกำเนิด คือ เกิดเป็นเทพอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามบุพกรรมของตน เช่น เทพชั้นดาวดึงส์ เทพชั้นดุสิต รวมถึงพระพรหมทั้งหมด
๓.วิสุทธิเทพ หมายถึง เทพโดยความบริสุทธิ์ของตน คือ เป็นผู้หมดกิเลสเศร้าหมองด้วยการบรรลุโลกุตรธรรมแล้ว ได้แก่พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งปวง
ในขณะที่คำว่า “พรหม” เจ้าคุณทองดี ได้ให้ความหมายไว้ว่า ผู้ประเสริฐ ทั่วไปหมายถึง เทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า พระพรหม
พรหม ตามคติของพราหมณ์ว่า เป็นผู้สร้างโลก และเป็นผู้กำหนดชะตา หรือความเป็นไปของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า พรหมลิขิต
พรหม ในพุทธศานาหมายถึง ผู้ได้รับรูปฌาน และอรูปฌาณแล้วไปเกิดเป็นเทพอยู่บนพรหมโลกซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด เป็นผู้ปราศจากกาม ไม่ข้องแวะกับกาม ไม่มีความใคร่ในกามารมณ์ และยังหมายถึงผู้ตั้งมั่นประพฤติมั่นอยู่ในธรรม ๔ ประการ ที่เรียกว่า พรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ด้วย เช่น ยกย่องบิดามารดาว่าเป็นพรหมของบุตร
ส่วนคำว่า “พระเจ้า” เจ้าคุณทองดี ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นคำใช้เรียกพระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์มาแต่โบราณ เช่น พระเจ้าพระสงฆ์ พระเจ้า ๕ พระองค์
ในภัทรกัป คือในยุคปัจจุบันมี พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ มาตรัสรู้ ได้แก่ ๑.พระกกุสันธะ ๒.พระโกนาคมนะ หรือ พระโกนาคมน์ ๓.พระกัสสปะ หรือ พระกัสสป ๔.พระโคดม หรือ พระสิทธัตตะพุทธเจ้า และ ๕.พระเมตไตรย หรือ พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอาริยเมตไตรยเทพเจ้า
"พระธรรมกิตติวงศ์"