
ชั่วโมงเซียน-เหรียญหลวงปู่ไข่เหรียญทองแดง..."แพงที่สุดในโลก!"
"วัตถุมงคลของท่านเด่นทางเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดครบเครื่อง"
นี่คือพุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมาของพระเครื่องและวัตถุมงคลของ หลวงปู่ไข่ อินฺทสโรภิกฺขุ (ไข่) หรือที่รู้จักกันดีในหมู่นักสะสมพระเครื่องว่า หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมมีด้วยกัน ๓ ชนิดใหญ่ๆ คือ เหรียญรูปไข่ พระปิดตา และพระอรหังกลีบบัว สำหรับพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักของท่าน เริ่มสร้างมาเมื่อประมาณปี ๒๔๖๐ เป็นต้นมา โดยมีการสร้างหรียญรูปไข่ในคราวทำบุญอายุครบ ๖ รอบ
นอกจากนี้ยังมีพระอรหังกลีบบัว เป็นพระเนื้อดินผสมผง มีทั้งเคลือบและไม่เคลือบ ส่วนเครื่องรางของขลัง ประกอบไปด้วย ประคำเนื้อทองคำ ตะกรุดศัตรูเป็นมิตร เนื้อทองคำ, เงิน ยาว ๒ นิ้ว ลงด้วยยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า ผ้ายันต์นางกวัก หมึกสีแดง ล้อมด้วยยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้าหมึกสีน้ำเงิน
เหรียญหลวงปู่ไข่ รุ่นแรกสร้าง ปี ๒๔๗๓ สันนิษฐานว่าสร้างไม่เกิน ๗๐ เหรียญ ถือว่าแพงสุดๆ ในบรรดาเหรียญพระสงฆ์ทั้งหมด เหรียญที่นำมาโชว์นี้ ที่มีค่านิยมสูงถึง ๒๕ ล้านบาท เหตุที่มีค่านิยมสูงเพราะเป็นเหรียญสวยที่สุดในวงการเท่าที่พบมา ซึ่งเคยผ่านตาเฉพาะที่เป็นภาพถ่าย ๔ เหรียญเท่านั้น
ทั้งนี้ เคยมีการจัดอันดับเหรียญพระสงฆ์ ที่ได้รับความนิยมเทียบเท่า หรือสูงกว่าเหรียญเบญจภาคีพระสงฆ์ที่เคยจัดลำดับไว้ในอดีต เช่น เหรียญหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว ฉะเชิงเทรา เหรียญหลวงพ่อคง วัดซำป่าง่าม ฉะเชิงเทรา เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เหรียญหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ และเหรียญสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นต้น
ปกติแล้ว ถ้าเป็นเหรียญวงรีรูปทรงไข่ การสร้างเหรียญตั้งแต่ปี ๒๔๖๐- ๒๔๘๐ ประมาณ ๙๘% จะเป็นเหรียญชนิดหูเชื่อม แต่ความพิเศษของเหรียญหลวงปู่รุ่นนี้ แม้จะสร้างในปี ๒๔๗๓ กลับเป็นเหรียญหูในตัว เข้าใจว่าจำนวนการสร้างที่น้อย ประมาณการว่ามีการสร้างเหรียญรุ่นนี้เพียง ๗๐ เหรียญเท่านั้น (สร้างตามอายุ)
ในกรณีการสร้างเหรียญปั๊มข้างกระบอก ส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญที่มีการสร้างในหลักร้อยเหรียญขึ้นไป การผลิตเหรียญรุ่นนี้ เป็นเป็นเหรียญข้างเลื่อย ชนิดหูในตัว (เหรียญที่เลื่อยเผื่อหูสำหรับเจาะรูภายหลัง โดยเหรียญและหูเชื่อมทำมาพร้อมๆ กัน)
นักเลงพระในอดีตบอกต่อๆ กันมาว่า เป็นเหรียญหูเชื่อม (เหรียญกับหูเชื่อมทำคนละครั้ง มาเชื่อมต่อกันภายหลัง) สันนิษฐานว่า เซียนไม่อยากเปิดเผยจุดสำคัญ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นได้ว่า เซียนต้องการซื้อเก็บไว้เอง ขณะเดียวกันอาจจะมีความรู้เรื่องเหรียญมากพอ
สำหรับเหตุผลที่ทำให้เหรียญรุ่นนี้มีค่านิยมสูงมาตั้งแต่อดีตนั้น เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดจากนักเลงพระยุคก่อนๆ ว่า “เหรียญหลวงปู่ไข่ วัดบพิตรภิมุข สร้างปี ๒๔๗๓ สันนิษฐานว่าสร้างไม่เกิน ๗๐ เหรียญ เป็นเหรียญในตำนาน ใครได้ครอบครองถือว่า เป็นสุดยอดของคนเล่นพระเหรียญ” ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีคนกล้าเช่าในราคาสูง เพราะถ้าเป็นคนเล่นเหรียญพันธุ์แท้ ต้องมีเหรียญหลวงปู่ไข่ด้วย
ส่วนการทำปลอมนั้น มีทั้งหูในตัว หูเชื่อม แต่ฝีมือการทำปลอมยังห่างไกลมาก เพราะไม่มีเหรียญแท้ไปเป็นแบบ เรียกว่าเก๊ดูง่าย ตลอดเวลาที่อยู่ในวงการพระมานาน เคยเห็นเหรียญหลวงปู่ไข่ที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดพระเครื่อง และหนังสือพระเพียง ๔ เหรียญเท่านั้น
นอกจากเหรียญหลวงปู่ไข่ รุ่นแรก ซึ่งเป็นรุ่นเดียวนั้น ยังมีพระปิดตาหลวงปู่ไข่ ที่มีการแสวงหาในหลักล้านบาท แต่ก็เป็นเรื่องแปลก สำหรับ พระอรหังกลีบบัวหลวงปู่ไข่ ค่านิยมอยู่ในหลักพันปลายๆ เท่านั้น เข้าใจว่าจำนวนการสร้างมีมากนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเหรียญหลวงปู่ไข่ และพระปิดตาหลวงปู่ไข่ จะขึ้นชื่อว่าสุดยอดของความแพง คืออยู่ในหลักล้านบาท แต่ยังมีพระดีราคาถูก ที่มีพุทธคุณไม่แพ้กัน คือ พระกลีบบัวอรหัง ซึ่งเป็นพระที่หลวงปู่ไข่สร้างไว้เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐ เพื่อไว้แจกโดยตรง เป็นว่าพระใช้งาน จำนวนมากหน่อย ปัจจุบันยังพอหาได้ไม่ยากนัก สวยๆ ก็อยู่ที่หลักหมื่น แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในหลักพันเท่านั้น
ปฏิปทา "หลวงปู่ไข่"
หลวงปู่ไข่ ไม่ได้มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นเพียงพระหลวงตาประจำวัด แต่การปฏิบัติ และกิตติคุณของท่าน เป็นที่เลื่องลือว่าทรงวิทยาวรคุณ เป็นพระวิปัสสนาที่มีชื่อเสียง และมีคุณธรรมสูง เป็นที่ยอมรับในหมู่นักปฏิบัติธรรม เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากจะเป็นผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติแล้ว ท่านได้สร้างพระแจกให้ลูกศิษย์ และผู้ที่มานมัสการท่าน เพื่อนำไปบูชาให้เกิดสิริมงคลอีกด้วย ปรากฏว่าวัตถุมงคลที่ท่านแจกไปนั้น เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเด่นในด้านเมตตา คงกระพัน มหาอุด และดีพร้อมทุกอย่าง
ในระหว่างที่หลวงปู่ไข่จำพรรษาอยู่ ณ วัดบพิตรมุข หลวงปู่ไข่ได้ปฏิบัติทางธรรมและสร้างการกุศลหลายประการ ได้แก่ สอนพระกรรมฐานแก่บรรพชิตและฆราวาส ช่วยอนุเคราะห์แก่ผู้เจ็บไข้ได้ทุกข์ บริจาคทรัพย์ส่วนตัว และชักชวนบรรดาศิษย์และผู้ที่คุ้นเคยให้มาร่วมการทำบุญ เช่น สร้างพระพุทธปฏิมา ซ่อมพระพุทธรูปของเก่าที่ชำรุดหักพังให้ดีขึ้น สร้างพระไตรปิฎก โดยหลวงปู่ไข่ลงมือจารใบลานด้วยตนเองบ้าง ให้ช่างจารขึ้นบ้าง ซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น สร้างกุฏิเป็นห้องแถวไม้ขึ้นอีกหลายกุฏิ ทั้งได้สร้างถนน สระน้ำ ถังรับน้ำฝน ขึ้นภายในบริเวณวัด สร้างแท่นสำหรับนั่งพักภายในคณะกุฏิให้เป็นที่สะดวกแก่พระภิกษุสามเณรที่อาศัยอยู่ในคณะนั้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า เมื่อครั้งหลวงปู่ไข่จำพรรษาอยู่ตามหัวเมือง ก็ได้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ มาแล้วหลายแห่ง
หลวงปู่ไข่ เป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัย มีจิตสุขุมเยือกเย็น ประกอบด้วยเมตตากรุณา มีจริยาวัตรอัธยาศัยเรียบร้อย เคร่งครัดในทางสัมมาปฏิบัติ เป็นที่เคารพนับถือแก่บรรดาศิษย์ และผู้ที่รู้จักคุ้นเคยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นอันมาก
หลวงปู่ไข่ มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๗๕ ด้วยวัย ๗๔ ปี พรรษา ๕๔ นับถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นปีที่ ๗๙ แล้ว แต่ความเชื่อความศรัทธาในบารมีแห่งตัวท่าน ผ่านวัตถุมคลของท่าน ยังคงอยู่ในความทรงจำ และความรู้สึกของลูกศิษย์อยู่เสมอ
บอย ท่าพรจันทร์