คำวัด - ญาณ-ฌาน
จริต คือ ลักษณะนิสัยพื้นฐานที่ประพฤติปฏิบัติ เป็นพฤติกรรมตามสภาพของจิตใจอันเป็นปกติของบุคคลนั้น โดยแบ่งออกเป็น ๖ แบบ คือ ๑.ราคจริต ๒.โทสจริต ๓.โมหจริต ๔.วิตกจริต ๕.ศรัทธาจริต และ ๖.พุทธิจริต
การรู้จริตของตน ทำให้เกิดการรับรู้ว่า จะต้องพัฒนาตนเองอย่างไร มีสิ่งใดที่เหมาะสมอยู่แล้ว มีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเอง และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข ในด้านการปฏิบัติธรรมนั้น การรู้จริตสามารถเลือกแนวทางการปฏิบัติธรรมได้อย่างเหมาะสมกับจริตของตน
อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติธรรมมีคำอยู่ ๒ คำ ที่ออกเสียงคล้ายหรือใกล้เคียงกัน รวมทั้งมีคนมักเข้าใจมีความหมายคล้าย หรือเหมือนกัน คือ คำว่า "ญาณ" และ "ฌาน"
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "ญาณ" อ่านว่า “ยาน” ไว้ว่า ความรู้ คือปรีชาหยั่งรู้ หรือกำหนดรู้ได้ด้วยอำนาจการบำเพ็ญวิปัสสนา เรียกว่า วิชชา
วิชชา แปลว่า ความรู้แจ้ง คือ ความรู้แจ่มแจ้ง ความรู้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ตรัสรู้” ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากการบำเพ็ญวิปัสสนา มิใช่ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน หรือ การนึกคิดคาดคะเนเอา
คำว่า “ญาณ” ในความหมายเฉพาะ หมายถึง พระปรีชาหยั่งรู้ของพระพุทธเจ้า ความรู้แจ้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เรียกเต็มว่า โพธิญาณ หรือ สัมมาโพธิญาณ ซึ่งมีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑.บุพเพนิวาสานุสสติญาณ หมายถึง ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ในอดีตได้ คือ ระลึกชาติได้นั่นเอง
๒.จุตูปปาตญาณ หมายถึง ความรู้ในจุติและอุบัติของสัตว์โลกได้ เรียกว่า ทิพพจักขุญาณ หรือ ทิพยจักษุญาณ
๓.อาสวักขยญาณ หมายถึง ความรู้ในการกำจัดอาสวกิเลสให้สิ้นไป
ส่วนคำว่า “ฌาน” อ่านว่า “ชาน” เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า การเพ่ง ซึ่งหมายถึง การเพ่งอารมณ์จนจิตสงบนิ่งแน่วแน่เป็นสมาธิ หรือ ภาวะที่จิตสงบนิ่งอันเนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์
ฌาน แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ รูปฌาน และอรูปฌาน ซึ่งมีความหมายดังนี้
รูปฌาน คือ การเพ่งรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ ระดับ ตามอารมณ์ที่ประณีตขึ้นไปตามลำดับ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน
อรูปฌาน คือ การเพ่งอรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ ระดับ คือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน และ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เรียกการที่ผู้ได้ฌานนั่งสงบจิตเพ่งอารมณ์นิ่งแนวอยู่ว่า เข้าฌาน
"พระธรรมกิตติวงศ์ "