
มรรคนายก-ไวยาวัจกร
วัดโดยส่วนใหญ่นิยมแบ่งเขตภายในวัดออกเป็นสองส่วนคือ พุทธาวาส และสังฆาวาส โดยส่วนพุทธาวาสจะเป็นที่ตั้งของสถูปเจดีย์ อุโบสถ สถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ส่วนสังฆาวาส จะเป็นส่วนกุฏิสงฆ์สำหรับพระภิกษุสงฆ์สามเณรจำพรรษา
นอกจากนี้แล้ว ในปัจจุบันแทบทุกวัดจะเพิ่มส่วนฌาปนสถานเข้าไปด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการประกอบพิธีทางศาสนาของชุมชน เช่น การฌาปนกิจศพ โดยในอดีตส่วนนี้จะเป็นป่าช้า ซึ่งอยู่ติดหรือใกล้วัด ตามธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มฌาปนสถานในวัดพุทธศาสนาในประเทศไทยจะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นป่าช้าเดิม
ปัจจุบันในเมืองใหญ่ที่วัดกลายเป็นเพียงสถานที่จำพรรษาของพระสงฆ์และเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาเท่านั้น ส่วนวัดไทยในชนบทยังคงเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะมีพระแล้ว ยังมีฆราวาสที่ทำหน้าที่ของวัด อีก ๒ ตำแหน่งที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี คือ "มรรคนายก" และ “ไวยาวัจกร”
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "มรรคนายก" อ่านว่า “มัก-คะ-นา-ยก” ไว้ว่า ผู้นำทาง คือ ผู้นำบุญ ผู้แนะนำทางบุญ หรือ ผู้ชี้ทางบุญ ซึ่งบางครั้งจะเขียนว่า “มัคนายก” ก็มี
มรรคนายก ใช้เรียกคฤหัสถ์ผู้ประสานติดต่อระหว่างวัดกับชาวบ้านในกิจการต่างๆ ของวัด หรือผู้เป็นหัวหน้าในพิธีทำบุญ เช่น นำอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร นำถวายทาน ตลอดจนจัดแจงดูแลศาสนาพิธีอื่นให้ถูกต้องเรียบร้อย
มรรคนายกที่ดีและเก่งจะทำให้งานบุญต่างๆ ในวัดเสร็จเรียบร้อย เป็นระเบียบสวยงาม และราบรื่นไม่ติดขัด
มรรคนายก อาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้ และแต่ละวัดอาจจะมีหลายคนก็ได้
มรรคนายก คำนี้มักจะเรียกเพี้ยนไปว่า มรรคทายก ซึ่งแปลว่า ผู้ให้ทาง หรือ ผู้บอกทางบุญทางสวรรค์ให้ ก็มี
ส่วนคำว่า “ไวยาวัจกร” (อ่านว่า ไว-ยา-วัด-จะ-กร) เจ้าคุณทองดีให้ความหมายไว้ว่า ผู้ขวนขวายช่วยทำกิจของสงฆ์ หมายถึงผู้ช่วยเหลือรับใช้พระสงฆ์ ทำกิจธุรแทนสงฆ์
ไวยาวัจกร ตามกฎหมาย หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ และกำหนดให้ไวยาวัจกรเป็นพนักงานตามกฎหมาย
การแต่งตั้งไวยาวัจกรเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส วัดหนึ่งอาจจะมีไวยาวัจกรได้หลายคน ทั้งนี้ความเป็นไวยาวัจกรสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าอาวาสผู้แต่งตั้งให้ออก หรือพ้นจากความเป็นเจ้าอาวาส เช่น ลาออก ลาสิกขา หรือ มรณภาพ
" พระธรรมกิตติวงศ์"