ประวัติ หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ เกจิอาจารย์รูปสำคัญ แห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี
สายมู ต้องศึกษา ประวัติครูบาอาจารย์รูปสำคัญ แห่ง ลุ่มน้ำนครชัยศรี หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ นครปฐม วิชาเด่นด้านการสักยันต์ อักขระเสือ
พระอุดมประชานาถ หรือ หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ยอดพระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี ผู้เรืองพระเวทย์วิทยาอาคมมีชื่อเสียงโด่งดัง และมีลูกศิษย์ลูกหามากที่สุดองค์หนึ่งของเมืองไทย พระผู้ทรงคุณวิเศษแก่กล้า
หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ มีนามเดิมว่า นายเปิ่น ภูระหงษ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ส.ค.2466 ที่บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 5 ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
ในวัยเด็ก ให้ความสนใจในเรื่องวิทยาคม ครอบครัวของท่านอยู่ใกล้กับวัดบางพระ ด.ช.เปิ่น จึงเข้าออกอยู่กับวัดบางพระเป็นประจำ
ครั้นต่อมาครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากทำมาหากินที่บ้านทุ่งคอก อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อแดง แห่งวัดทุ่งคอก อ.สองพี่น้อง ศิษย์เอกของหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน ได้รับการถ่ายทอดวิชาหลายแขนง
ในเวลาต่อมา ย้ายภูมิลำเนากลับสู่บ้านที่นครปฐม เนื่องจากท่านอายุครบเกณฑ์ทหาร ได้รับตำแหน่งเป็นทหารราชโยธา และต่อมาตำแหน่งนี้ถูกประกาศยกเลิก หลวงพ่อท่านจึงออกมาช่วยบิดามารดาทำนาเลี้ยงชีพต่อไป ขณะเดียวกัน ร่ำเรียนวิชาการสักยันต์จากพระอาจารย์หิ่ม อินทโชโต วัดบางพระ
เมื่ออายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดบางพระ ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มีพระอาจารย์หิ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทองอยู่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธัมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐิตคุโณ”
ภายหลังอุปสมบท คอยอุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์หิ่ม ซึ่งท่านให้ความเมตตาอนุเคราะห์ ถ่ายทอดอักขระโบราณ เป็นรูปแบบยันต์ต่างๆ การลงอาคม
หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ อยู่ปรนนิบัติเป็นเวลา 4 ปี กระทั่งพระอาจารย์หิ่ม มรณภาพ จากนั้น ท่านออกจาริกธุดงควัตรและไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโอภาสี แห่งอาศรมบางมด ศึกษาวิทยาคมจากท่านประมาณ 1 ปี ก่อนออกธุดงค์ต่อไปยังภาคใต้ เพื่อบำเพ็ญเพียรฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน และสรรพวิชาจนมีความเชี่ยวชาญกล้าแข็ง ทั้งด้านวิชาอาคม และสมาธิจิต ที่มีความแกร่งกล้ามาก
ในปี พ.ศ.2504 หลวงพ่อเปิ่น มาปักกลดที่ชายทุ่งนาใกล้วัดทุ่งนางหลอก อ.ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี ใช้ความรู้ด้านสมุนไพรยารักษาโรค รักษาชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย จนชาวบ้านนิมนต์ท่านให้มาช่วยพัฒนาวัดทุ่งนางหลอก หลวงพ่อเปิ่น ล้มป่วยกะทันหัน กลับมารักษาตัวที่วัดบางพระ กระทั่งหาย ท่านตั้งใจจะเดินทางไปที่อื่น แต่ชาวบ้านขอให้ไปพัฒนาวัดโคกเขมาแทน จึงได้ไปอยู่ที่วัดโคกเขมา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อ
หลวงพ่อเปิ่น สร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกในชีวิตของท่าน เป็นเหรียญหลวงพ่อเปิ่นรุ่นแรก พ.ศ.2509 หลวงพ่อเปิ่นยังได้จัดสร้างเหรียญและวัตถุมงคลออกมาอีกหลายรุ่น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เช่าหาบูชากัน นำเงินบำรุงพัฒนาวัด ปัจจุบันพระเครื่องวัดโคกเขมาหายากมาก
ในปี พ.ศ.2516 หลวงพ่อทองอยู่ เจ้าอาวาสวัดบางพระ มรณภาพ ชาวบ้านจึงพร้อมใจนิมนต์ หลวงพ่อเปิ่น ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระสืบต่อ
หลวงพ่อเปิ่นเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2518
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2514 เป็นพระใบฎีกา ฐานานุกรมในพระอุดมสารโสภณ ช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา
พ.ศ.2522 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่พระครูฐาปนกิจสุนทร พ.ศ.2532 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2537 หลวงพ่อเปิ่น ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอุดมประชานาถ ด้วยผลงานการพัฒนาวัดและชุมชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาบัตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ ในปี 2538
หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ ในฐานะเจ้าอาวาสวัดบางพระ ทำการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ บูรณะอุโบสถหลังใหม่ เป็นพระอุโบสถคอนกรีต นอกจากนี้ ยังบูรณะและก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เพื่อเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนามากมาย จวบจนสิ้นสุดชีวิตของท่าน
วิชาอาคม หลวงพ่อเปิ่น
วิชาอาคม หลวงพ่อเปิ่น ท่านได้สนใจด้านวิชาอาคมไสยเวทย์ตั้งแต่ก่อนที่จะได้อุปสมบท โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก จ.สุพรรณบุรร จนได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาทุกแขนง และต่อมาท่านได้อุปสมบท ณ วัดบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมีหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมต่าง ๆ ด้วยเกียรติคุณและชื่อเสียงของท่านที่สั่งสมมา ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักและเล่าลือกัน ถึงพลังพุทธาคมของท่าน ประจวบกับท่านได้เริ่มสร้างวัตถุมงคล และการสักยันต์ จนเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันไปทั่ว
หลวงพ่อเปิ่นท่านได้ถึงแก่มรณะภาพ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2545