ศรัทธาสายมู

'วัดพระพุทธฉาย' อายุ 400 ปี สร้างในสมัยอยุธยาตั้งอยู่บนเชิงเขา พระพุทธฉาย

'วัดพระพุทธฉาย' อายุ 400 ปี สร้างในสมัยอยุธยาตั้งอยู่บนเชิงเขา พระพุทธฉาย

01 ส.ค. 2566

รู้จัก 'วัดพระพุทธฉาย' เก่าแกาอายุร่วม 400 ปี สร้างในสมัยอยุธยา ตั้งตระหง่านบนเชิงเขา พระพุทธฉาย เป็นกระแสอีกครั้งหลัง พิธา เตรียมไปเวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา

"วัดพระพุทธฉาย" ถูกพูดถึงอีกอย่างมากหลังจากที่กระแสข่าวว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะเดินทางไปเวียนเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชาในช่วงเย็น อย่างไรก็ตามทาง "วัดพระพุทธฉาย" ได้ออกมาชี้แจ้งว่า ยังไม่มีกำหนดการดังกล่าว

 

 

หลังจากที่กระแสออกไปว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเดินทางไปเวียนเทียนก็ทำให้ "วัดพระพุทธฉาย" ถูกพูดถึงในแง่ความงดงาม และเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญของไทยที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน

ประวัติ "วัดพระพุทธฉาย" ข้อมูลระบุว่า มีการสันนิษฐานว่าก่อนจะมาเป็นวัดพระพุทธฉาย มีการค้นพบ พระพุทธฉาย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หลังจากพบรอยพระพุทธบาท ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม (ปี 2163-2171) ซึ่งมีรับสั่งให้ค้นหารอยพระพุทธบาทตามภูเขาทุกแห่ง จึงพบ พระพุทธฉาย ณ ภูเขาแห่งนี้ สมัยที่ค้นพบ พระพุทธฉาย ได้สร้างพระมณฑปครอบพระบรมฉายาลักษณ์ไว้เป็นสถานที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ตลอดจนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

ขอบคุณภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

 

พระพุทธฉาย เป็นภาพสีของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเงาสีแดงคล้ายประภามณฑล หรือรัศมีโดยรอบพระพุทธรูปคล้ายสีดินเทศ มีความสูงประมาณ 5 เมตร ปรากฏประทับติดอยู่กับชะง่อนหน้าผาสูงบริเวณเชิงเขาปถวี ประดิษฐานอยู่ในมณฑป ณ เงื้อมเขาฆาฎะกะ (เขาช่องลม) ค้นพบสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งค้นพบพร้อมกับรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ในบริเวณใกล้เคียงมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา มณฑปหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ และมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อัญเชิญมาจากลังกา เมื่อปี 2492 ทุกปีจะมีงานนมัสการพระพุทธฉายพร้อมกับงานนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ จ.สระบุรี ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ "วัดพระพุทธฉาย"

 

 

ข้อมูลจากการเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทสไทย ระบุว่า  "วัดพระพุทธฉาย" ตั้งอยู่บนเชิงเขาพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี จ.สระบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ปี สร้างขึ้นในสมัยของ พระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่ได้มีการออกค้นหารอยพระพุทธบาทตามภูเขาทุกแห่งหน จนกระทั่งได้มาพบ รอยพระพุทธบาท และ พระพุทธฉาย รอยพระพุทธรูป หรือที่เชื่อกันว่าเป็นเงาของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่บนแผ่นหินตรงชะง่อนผา

 

ที่ผ่านมาเคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทจำลองออก ทั้งยังทุบซ่อมแซมพื้น จึงพบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ปัจจุบันรอยประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปน้อยบนยอดเขา นักท่องเที่ยวสามารถขับรถอ้อมขึ้นไปจอดด้านบน และเดินขึ้นบันไดต่อไปอีกเล็กน้อย ก็จะได้สักการะรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา พร้อมกับชมวิวทิวทัศน์รอบเขาพุทธฉาย ส่วนพื้นที่วัดบริเวณเชิงเขาค่อนข้างกว้างขวางและร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่ หากเดินเข้ามาในบริเวณวัด จะเห็นบันไดนาคนำไปยังมณฑปพระพุทธฉาย ซึ่งภายในปรากฏภาพเงาพระพุทธเจ้าเป็นรอยสีแดงจาง ๆ ให้เห็นอยู่บนหน้าผา ปัจจุบันพระพุทธฉายนี้เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก