ความเป็นมา เทียนพรรษา ทำไมต้องถวาย วันเข้าพรรษา ที่มา ประเพณีแห่เทียนพรรษา
ความเป็นมา เทียนพรรษา มีต้นกำเนิดจากอะไร ทำไมถึงเรียกว่า เทียนพรรษา และทำไมต้องถวายวัน เข้าพรรษา พร้อมความเป็นมาของ ประเพณีแห่เทียนพรรษา
เข้าพรรษา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา โดยพระทุกรูปจะต้องอยู่วัดเดิมไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกกันว่า จำพรรษา
ทำไมต้องเข้าพรรษา ?
ในช่วง เข้าพรรษา ไปจนถึง ออกพรรษา จะเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่เดินทางสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านเริ่มทำการเกษตร พระจึงต้องจำพรรษา เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝนด้วยนั่นเอง
เทียนพรรษา
ในช่วงฤดู เข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนชาวพุทธมักจะนำ เทียน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเทียนทั่วไปหรือก็คือ เทียนพรรษา ถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือนจึงปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็น "ประเพณีแห่เทียนพรรษา"
การถวายเทียนจำนำพรรษา เชื่อกันว่ามีสาเหตุ 2 ประการ คือ
1. พระอนุรุทธะ สาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ฉลาดรอบรู้พระธรรมวินัยอย่างแตกฉาน เพราะในชาติปางก่อนพระอนุรุทธะเคยให้แสงประทีปเป็นทาน
2. หญิงคนหนึ่งไปฟังธรรมที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี พอพลบค่ำก็ให้คนไปนำประทีปที่บ้านตนมาจุดให้แสงสว่างแก่คนที่มาฟังธรรม ครั้นนางตายไปก็ไปเกิดเป็นเทพธิดามีรัศมีเป็นแสงสว่างสวยงาม
เทียนพรรษา คืออะไร
เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)
ต้นกำเนิด เทียนพรรษา
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นับถือวัวเพราะถือว่า วัวเป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตาย จะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเคารพ แต่ชาวพุทธซึ่งนับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยการเอารังผึ้ง ร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็น ศอกแล้วใช้จุดบูชาพระ เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไป ถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน
วิวัฒนาการเทียนพรรษา
- นำรังผึ้งมาต้มเอาขี้ผึ้งไปฟั่น เป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ
- เอาเทียนเล่มเล็ก ๆ หลาย ๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับ ต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือต้นเทียนพรรษา
- รวมกันบนแกนไม้ไผ่ให้เป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษเงิน กระดาษทองเป็นลายต่าง ๆ ติดประดับโดยรอบต้นเทียน
- คิดทำต้นเทียนเป็นต้นเดี่ยว เพื่อใช้จุดให้ได้นาน โดย การใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องเป็นแบบหล่อ เมื่อหล่อเทียนเป็นต้นเสร็จแล้วจึงนำมาติดที่ฐาน และจัด ขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัด
- การตกแต่งต้นเทียนเริ่มขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ใช้ขี้ผึ้งลนไฟหรือตากแดดให้อ่อน ปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือเอาขี้ผึ้งไปต้มให้ละลาย แล้วใช้ผลมะละกอ หรือ ผล ฟักทองนำมาแกะเป็นลวดลาย ใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น แกะขี้ผึ้งออก จากแบบ ตัดและตกแต่งให้สวยงามนำไปติดที่ต้นเทียน
- พ.ศ. 2482 มีช่างทองชื่อ นายโพธิ์ ส่งศรี เริ่มทำลายไทยไปประดับบนเทียน โดยมี การทำแบบพิมพ์ลงในแผ่นปูนซีเมนต์ซึ่งถือว่าเป็นแบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์ แล้วเอาขี้ผึ้งที่อ่อนตัว ไปกดลงบนแม่พิมพ์จะได้ขี้ผึ้งเป็นลายไทย นำไปติดกับลำต้นเทียน
- ต่อมา นายสวน คูณผล ได้คิดทำลายให้นูนและสลับสี จนเห็นได้ชัด เมื่อส่งเทียนเข้า ประกวดจึงได้รับรางวัลชนะเลิศ
- ในปี พ.ศ. 2497 นายประดับ ก้อนแก้ว คิดประดิษฐ์ทำหุ่นเป็น เรื่องราวพุทธประวัติ และเอาลวดลายขี้ผึ้งติดเข้าไปที่หุ่น ทำให้มีลักษณะแปลกออกไป จึงทำให้ เทียนพรรษาได้รับรางวัลชนะเลิศ และชนะเลิศมาทุกปี ในเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์
- ปี พ.ศ. 2502 มีช่างแกะสลักลงในเทียนพรรษาคนแรก คือ นายคำหมา แสงงาม และ คณะกรรมการตัดสินให้ชนะการประกวด ทำให้เกิดการประท้วงคณะกรรมการตัดสิน ทำให้ในปี ต่อๆ มามีการแยกประเภทต้นเทียนออกเป็น 2 ประเภทชัดเจนคือ
1. ประเภทติดพิมพ์ (ตามแบบเดิม)
2. ประเภทแกะสลัก
แห่เทียนพรรษา หรือ ประเพณีแห่เทียนพรรษา
ประเพณีแห่เทียนพรรษา หรือ การแห่เทียนพรรษา เกิดขึ้นมาจาก ในสมัยก่อนนั้นพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้นมา เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน ซึ่งการนำเทียนพรรษาไปถวายนั้น ชาวบ้านก็มักนิยมจัดทำขบวนแห่อย่างเอิกเกริกสนุกสนาน ไปถวายที่วัด จนกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา นอกจากจะเป็นงานบุญประเพณีที่ชาวบ้านได้ทำร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจ เริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียนเอามาหลอม หล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน การแสดงให้ห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้าน ทั้งลวดลายบนเทียนพรรษา การแกะสลักลวดลายลงบน ต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน
การจัดขบวนแต่งกายฟ้อนรำกันตามแบบของแต่ละวัฒนธรรมท้องถิ่น การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจาก วิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน ศิลปะการฟ้อนรำที่นิยมนำมาประกอบการแสดงในขบวนแห่ คือ การรำเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งกระลอ เซิ้งกระติบ เซิ้งสวิง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ซึ่งดัดแปลงมาจากการประกอบอาชีพในวิถีชีวิต ประจำวันทั้งสิ้น
ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่ทำให้ในทุกๆ ปี คนหนุ่มสาวมได้มีโอกาสเข้าใกล้ และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีนับตั้งแต่การเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ เป็นลูกมือช่างของทางวัด ในการแกะสลักทำลวดลายต้นเทียน
อานิสงส์ของผู้ถวายเทียนจำนำพรรษา ได้แก่
1. ทำให้เกิดปัญญา ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน
2. ทำให้ชีวิตสว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ
3. ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่างๆ ที่มีปัญหาร้ายกลับกลายเป็นดี
4. ย่อมเจริญไปด้วยมิตรและบริวาร
5. ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
6. เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว
7. เมื่อลาลับโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่สุคติและสวรรค์
8. หากสั่งสมบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่นิพพาน
อ้างอิง