เปิดกรุพระเครื่อง ชุด พระเบญจภาคี รู้จัก สุดยอดพระเครื่อง ของแต่ละยุคสมัย
พระเบญจภาคี สุดยอดปรารถนาของเหล่านักเลงพระ รวมสุดยอดพระของแต่ละยุคสมัย และเป็นสุดยอดของพุทธคุณ ผู้ใดได้ครอบครองเป็นเจ้าของก็เชื่อได้ว่าคนผู้นั้นเปี่ยมด้วยวาสนา บารมี
หากพูดถึงชุดพระเครื่อง "พระเบญจภาคี" เรียกได้ว่าคนในวงการพระเครื่อง รู้จักกันเป็นอย่างดีในเรื่องของความเป็นสุดยอดพระเครื่องของเมืองไทย ที่เป็นที่นิยมมาของวงการพระเครื่องและและครองความนิยมและสุดยอดปรารถนาของเหล่านักเลงพระ เป็นสุดยอดพระของแต่ละยุคสมัย และเป็นสุดยอดของพุทธคุณ ผู้ใดได้ครอบครองเป็นเจ้าของก็เชื่อได้ว่าคนผู้นั้นเปี่ยมด้วยวาสนา บารมี ประกอบด้วย
- พระสมเด็จวัดระฆัง จัดได้ว่าเป็นสุดยอดพระเครื่องตลอดกาล หรือ "จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง" พุทธคุณครอบจักรวาล เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์
- พระรอด กรุมหาวัน เรียกตาม พระรอดองค์ใหญ่ หรือ พระรอดหลวง หรือ แม่พระรอด พุทธคุณเด่นทางด้านแคล้วคลาดนิรันตราย เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยทราวดีตอนปลาย (หริภุญชัย)
- พระกำแพงซุ้มกอ เป็นหนึ่งในพระกรุชุด ทุ่งเศรษฐี สร้างจากเนื้อดินผสมว่าน หรือ เกสรดอกไม้ พุทธคุณเด่นทางด้านโชคลาภ โภคทรัพย์ เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยสุโขทัย
- พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พุทธคุณเด่นทางด้านโภคทรัพย์ แคล้วคลาด อยู่ยง เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอู่ทอง
- พระนางพญา พุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยมอยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอยุธยา
ที่มาที่ไป ชุดพระเครื่อง เบญจภาคี
พระเครื่อง ในชุดเบญจภาคี นั้น ได้ถือกำเนิดเป็นปฐมบท เมื่อ "พ.อ.(พิเศษ) ประจน กิตติประวัติ" อดีตนายทหารประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดหรือ "ตรียัมปวาย" ได้จัดทำเนียบชุด "พระเครื่องเบญจภาคี" ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2495 โดยเมื่อแรกเริ่มยังคงเป็นเพียง "ไตรภาคี" คือ มีเพียง 3 องค์เท่านั้น ประกอบด้วย 'พระสมเด็จ' วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์ประธาน ซ้ายขวาเป็นพระนางพญา จ.พิษณุโลก และพระรอด จ.ลำพูน
หลังจากนั้นจึงได้ผนวก 'พระกำแพงซุ้มกอ' กำแพงเพชร และ 'พระผงสุพรรณ' สุพรรณบุรี เข้าเป็นชุด เบญจภาคี สุดยอดปรารถนาของนักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย จากค่านิยมกันในหลักพันบาท และทะยานเข้าสู่หลักหลายสิบล้านในปัจจุบันนี้
พระสมเด็จวัดระฆัง
พระสมเด็จวัดระฆัง จัดได้ว่าเป็นสุดยอดพระเครื่องตลอดกาล หรือ "จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง" พุทธคุณครอบจักรวาล เน้นบุญฤทธิ์ หนุนดวงชะตา เมตตามหานิยม แคล้วคลาดภัยพิบัติ คงกระพัน โชคลาภ ใครมีบารมีได้ไว้จะรุ่งเรืองไม่มีวันตกต่ำ มีเรื่องเล่าในตำนานว่า เมื่อครั้งที่ สมเด็จโต เดินทางไปเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร และได้ค้นพบ เจดีย์โบราณ 3 องค์ ที่นครชุมเก่า และท่านได้นำจารึก และผงบางส่วนมาจัดสร้าง ซึ่งเป็นของ พระซุ้มกอ
พระรอด กรุมหาวัน
พระรอด กรุมหาวัน เรียกตาม พระรอดองค์ใหญ่ หรือ พระรอดหลวง หรือ แม่พระรอด ที่ประดิษฐานที่ วัดมหาวัน จ.ลำพูน
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระรอด สร้างในสมัยทวาราวดีเมื่อนับพันปีมาแล้ว สมัยที่พระนางจามเทวี ปกครองเมืองหริภุญชัย พระนางทรงสถาปนาพระอารามชื่อ จตุรพุทธ ปราการ (วัดมหาวัน) ขึ้น จึงดำริให้สร้างพระเจดีย์ไปพร้อมกัน พร้อมทั้งบรรจุ "พระรอด" ไว้ โดยพระสุมณานารทะฤๅษี เป็นผู้สร้าง
สำหรับการค้นพบ มีการขุดเจอครั้งแรก ช่วงสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ปี 2435 ในคราวเจดีย์ใหญ่ของวัดมหาวันชำรุด ได้มีการรื้อเพื่อเตรียมปฏิสังขรณ์ จึงได้พบกับพระรอด และได้นำมาแจกจ่ายกับผู้ร่วมงานในครั้งนั้น แล้วมีการจัดสร้างพระรอดชุดใหม่ บรรจุในเจดีย์แทน ถัดมายังมีการขุดพบพระรอด ใต้กุฏิพระในวัดอีก 300 องค์ นับเป็นพระรอดกรุใหม่
จากนั้นในปี 2506 วัดมหาวัน รื้อพระอุโบสถ ปฏิสังขรณ์ใหม่ ก็พบพระรอดอีกครั้ง ถือกันว่าเป็นครั้งสุดท้าย มีจำนวนมากถึง 300 องค์เศษ สำหรับพุทธคุณของ พระรอดนั้น เน้นเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน อุดมด้วยโภคทรัพย์ ร่ำรวยทรัพย์ เด่นทางแคล้วคลาด คุ้มภัย
พระกำแพงซุ้มกอ
พระกำแพงซุ้มกอ เป็นหนึ่งในพระกรุชุด ทุ่งเศรษฐี สร้างจากเนื้อดินผสมว่าน หรือ เกสรดอกไม้ มีลักษณะนั่งสมาธิประบนบัวเล็บช้าง มีลายกนกด้านข้าง
มีจำนวน 5 พิมพ์ ที่ค้นพบ มีพุทธคุณครบเครื่องไม่ว่าเรื่องเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ตลอดจนเรื่องโชคลาภ จนมีคำพูดที่พูดติดปากกันมาแต่โบราณกาลว่า “มีกูแล้วไม่จน” ประกอบกับพระกำแพงซุ้มกอ ถูกจัดอยู่หนึ่งในห้าของชุดเบญจภาคี
ความต้องการของนักนิยมพระเครื่องจึงมีความต้องการสูงเพราะทุกคนต้องการแต่พระกำแพงซุ้มกอทั้งนั้น ราคาเช่าหาจึงแพงมาก และหาได้ยากมากด้วย ถ้าไปในที่ต่างๆ อยากกินน้ำ หาน้ำไม่ได้ ท่านให้อาราธนาพระใส่ไว้ในปาก หายอยากน้ำแล ถ้าเอาพระไว้บนศีรษะแล้ว ปืนแลหน้าไม้ยิงมาเป็นห่าฝนก็ไม่ถูกตัวเรา
จากตำนานที่ว่า สมเด็จโต มาพบพระเจดีย์ริมฝั่งแม่น้ำปิง บริเวณนครชุมเก่า ของกำแพงเพชร และพบพระซุ้มมกอจำนวนมาก หลังจากที่ท่านไปชักชวนเจ้าเมืองในขณะนั้นมาร่วมกันบูรณะ สมเด็จโต จึงได้นำเอาพระซุ้มกอบางส่วนกลับกรุงเทพฯมาด้วย
พระผงสุพรรณ
พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีคนจีน ปลูกผักอยู่ใกล้บริเวณวัด แล้วลักลอบปีนพระปรางค์เข้าไป
แล้วพบทองคำ อัญมณีมีค่า รวมทั้งพระเครื่อง พระบูชา แต่เลือกเอาไปเฉพาะวัตถุมีค่า แล้วจึงกลับเมืองจีน ต่อมาคนในพื้นที่ที่ทราบข่าว ก็ลอบเข้าพระปรางค์บ้าง ก็ได้เข้าไปเอาพระเครื่องออกมา จนเจ้าเมืองสุพรรณบุรี ต้องตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบ พบพระเครื่อง ที่เรียกว่า พระผงสุพรรณ พระพุทธรูป แผ่นลานเงิน ลานทอง
บางส่วนที่ยังหลงเหลือ มีการระบุว่า มีพระฤาษี 11 ตน ซึ่ง มีพระฤาษีพิมพิลาไลย พระฤาษีตาวัว พระฤาษีตาไฟ เป็นประธานในการจัดสร้างพระเครื่องในกรุนี้
พุทธคุณของพระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี เป็นที่เลื่องชื่อลือชาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งปรากฏในจารึกลานทองที่ได้จากกรุและถูกคัดลอกออกเป็น 6 สำเนา กล่าวถึงกรรมวิธีการสร้าง และ "อุปเท่ห์" อันหมายถึงวิธีการอาราธนาองค์พระเพื่อให้ท่านช่วยเหลือในสถานการณ์ต่างๆ เช่น แม้อันตรายสักเท่าใดก็ดีให้นิมนต์พระใส่ไว้บนศีรษะหรืออาราธนาผูกไว้ที่คอ อันตรายทั้งปวงหายสิ้น แล ถ้าจะเข้าการรณรงค์สงคราม ให้เอาพระสรงน้ำมันหอม เสกด้วยนวหรคุณ แล้วเอาน้ำมันหอมมาใส่ผม ไปได้สำเร็จความปรารถนาแล
พระนางพญา
พระนางพญา มีต้นกำเนิดที่ “วัดนางพญา” ในคราวปฏิสังขรณ์วัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองพิษณุโลกนัก ในอดีตวัดนางพญาเคยมีพื้นที่ติดต่อกับวัดราชบูรณะ เป็นวัดพี่วัดน้อง
ใช้อุโบสถหลังเดียวกัน แต่ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนพิษณุโลก-หล่มสัก วัดทั้งสองจึงแยกกันอยู่คนละฝั่งถนน และเชื่อกันว่าผู้ที่สร้างพระนางพญาขึ้นก็คือพระวิสุทธิกษัตรี มเหสีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา กษัตริย์ในสมัยอยุธยานั่นเอง
เมื่อ พ.ศ.2444 รัชกาลที่ 5 จะเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกเพื่อทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง จึงสร้างปะรำพิธีรับเสด็จที่วัดนางพญา เมื่อคนงานขุดหลุมจึงพบพระเครื่องจำนวนมาก ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “พระนางพญา” และไม่เพียงที่วัดนางพญาเท่านั้นที่พบพระนางพญา แต่ที่วัดราชบูรณะและตามกรุต่างๆ ก็พบพระนางพญาด้วยเช่นกัน