เทศกาลคเณศจตุรถี วันแห่งการบูชา "พระพิฆเนศ" ขั้นตอนบูชาของไหว้มีอะไรบ้าง?
เทศกาล "คเณศจตุรถี" วันแห่งการบูชาเฉลิมฉลองวันกำเนิด "พระพิฆเนศ" ในปีนี้เทศกาลคเณศจตุรถี ตรงกับ วันที่ 6-7 กันยายน มูยังไงให้ปัง! เตรียมของไหว้บูชาอะไรบ้าง? และขั้นตอนการบูชาพระพิฆเนศ ต้องทำอย่างไร? คมชัดลึกออนไลน์ รวบรวมไว้ให้แล้ว
คเนศจตุรถี หรือ วินายกะจตุรถี เป็นเทศกาลในศาสนาฮินดูที่เฉลิมฉลองการประสูติของพระพิฆเนศ วันแห่งการบูชา เป็นวันสำคัญที่องค์พระพิฆเนศจะเสด็จลงมาประทานพรยังโลกมนุษย์ในทุกๆ ปี ซึ่งปีนี้ เทศกาลคเณศจตุรถี 2567 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 16:31 – วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2567 เวลา 19:07
เชื่อกันว่าใน เทศกาลคเณศจตุรถี องค์พระพิฆเนศจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประทานพรให้แก่ผู้ศรัทธาพระองค์ ถือเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์เป็นพิเศษ ชาวฮินดูและผู้เลื่อมใสศรัทธาจึงมักทำการเฉลิมฉลอง เพื่อต้อนรับพระองค์ ด้วยการบูชาในบ้านของตัวเองหรือเทวลัย ในปัจจุบันมักนิยมทำกัน 3 วัน 7 วัน หรือพิธีใหญ่ 10 วัน โดยทางประเทศ อินเดีย จะสร้างเทวรูปขึ้นจากดิน ปั้นขึ้นมาเป็นองค์เพื่อใช้ในการบูชาในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถีนี้ เมื่อเสร็จพิธีจะนำไปลอยน้ำ
สำหรับเทศกาลคเณศจตุรถี เริ่มต้นครั้งแรกในอินเดีย ก่อนจะขยายความนิยมไปทั่วประเทศ โดยการจัดงานมีด้วยกัน 10 วัน แต่ละวันมีพิธีกรรมที่แตกต่าง แต่วันที่สำคัญคือวันแรก จะมีพิธีกรรมทางพราหมณ์ ส่วนวันต่อมามีการอ่านบทสวด และแจกอาหาร ขนมให้กับผู้ยากไร้ พอถึงวันสุดท้ายของเทศกาลมีการนำองค์พระพิฆเนศไปลอยแม่น้ำ แต่ข้อห้ามสำคัญตลอดเทศกาลคือ ห้ามฆ่าสัตว์
ของไหว้บูชาพระพิฆเนศ
สำหรับของไหว้พระพิฆเนศ ห้ามใช้เนื้อสัตว์ทุกชนิด สามารถใช้ขนมที่มีส่วนผสมของไข่ได้บ้าง แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
- ผลไม้ : อ้อย
- เครื่องดื่ม : น้ำอ้อยและนมวัว
- ขนมไทยและขนมอินเดีย : ขนมโมทกะ, ขนมต้มแดง, ขนมต้มขาว และขนมหวานลาดูป
- ของไหว้อื่น ๆ : ข้าวสาร, เกลือ, พืช, ผัก, งา, สมุนไพร, ธัญพืช และเครื่องเทศทุกชนิด
ขั้นตอนการบูชาพระพิฆเนศ
- ถวายเครื่องบูชาสักการะ โดยนำของทั้งหมดวางไว้หน้าเทวรูปพระพิฆเณศ
- วางดอกไม้ไหว้หน้าเทวรูป หรือถ้าร้อยเป็นพวงให้นำไปคล้องที่พระกรของเทวรูป
- จุดเทียน ธูปหอม กำยาน ฯลฯ ต่อหน้าเทวรูป
- ทำจิตใจให้สงบแล้ว ตั้งนะโม 3 จบ และเริ่มกล่าวบทสวดพระพิฆเนศ
พอท่องบทสวดมนต์เสร็จแล้ว ให้อธิษฐานขอพรเป็นภาษาไทย
กล่าวคำว่า “โอม ศานติ” (3 ครั้ง) ขอความสันติและสงบสุข เป็นอันเสร็จพิธี *บทสวดพระพิฆเนศสามารถใช้บทสวดใดก็ได้เพียงบทเดียว หรือจะสวดหลาย ๆ บทต่อเนื่องกันก็ยิ่งดี แต่ที่นิยมใช้กันส่วนใหญ่คือ “โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา”
คำภาวนาก่อนเริ่มบทสวดพระพิฆเนศ
สำหรับชาวพุทธให้ตั้งนะโม 3 จบก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มบทสวดพระพิฆเนศ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)