ศรัทธาสายมู

เปิดตำนาน "บั้งไฟพญานาค" เริ่มมาจากไหน ทำไมถึงมีแค่ วันออกพรรษา

เปิดตำนาน "บั้งไฟพญานาค" เริ่มมาจากไหน ทำไมถึงมีแค่ วันออกพรรษา

11 ต.ค. 2567

เปิดตำนาน "บั้งไฟพญานาค" มาจากไหน มีลักษณะอย่างไร ความเชื่อ ความศรัทธา เริ่มมาจากอะไร ทำไมถึงมีให้ชมแค่ วันออกพรรษา

เริ่มใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับ งานประเพณีออกพรรษา ซึ่งนอกจากจะเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธแบบไทย-ลาว แล้ว ยังเป็นวันที่นักท่องเที่ยวต่างตั้งตารอคอยที่จะชม บั้งไฟพญานาค ซึ่งมักจะมีให้เห็นในช่วง วันออกพรรษา บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และจะเห็นได้ในจังหวัดทางภาคอีสานที่อยู่ริมน้ำโขงเท่านั้น โดยในปี 2567 นี้ ทาง จ.หนองคาย ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาในช่วงเทศกาล 

 

 

บั้งไฟพญานาค

 

บั้งไฟพญานาค หรือก่อน พ.ศ. 2529 เรียก บั้งไฟผี เป็นลูกไฟที่ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น และไม่มีควัน ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในสองฝั่งแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับลาวต่างก็เชื่อกันว่า ขึ้นมาจากแม่น้ำโขง บั้งไฟพญานาคเกิดช่วงวันออกพรรษาทุกปี

 

ลักษณะ บั้งไฟพญานาค เป็นดวงไฟขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็น หรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น จะเริ่มปรากฏจากเหนือผิวน้ำ ตั้งแต่ระดับ 1 - 30 เมตร พุ่งสูงขึ้นไปประมาณระดับ 50 - 150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5 - 10 วินาที แล้วจะดับหายวับไปในอากาศ ทั้งที่ดวงไฟยังโตอยู่ มิได้หรี่เล็กลงแล้วค่อยๆ ดับ และไม่มีลักษณะโค้งตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ

 

นายวินิจ พลพิทักษ์ หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.หนองคาย อธิบายว่า ทั่วจังหวัดหนองคายมีตำแหน่งที่มักปรากฏบั้งไฟพญานาคประมาณ 20 จุด โดยพบที่อำเภอโพนพิสัยมากที่สุด บั้งไฟพญานาคยังขึ้นอยู่ตามหนองน้ำ บ่อน้ำ ลำห้วย ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากลำน้ำโขงราว 500 เมตร ก็มีผู้พบเห็น สำหรับระยะเวลาในการขึ้นของบั้งไฟพญานาคนั้นจะขึ้น ระหว่างตะวันตกดินถึงประมาณ 23.00 น.

 

 

พญานาค

 

ตำนาน บั้งไฟพญานาค

 

ตำนานการเกิด บั้งไฟพญานาค ตามพุทธประวัติกล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พระองค์ได้เสด็จเผยแพร่ศาสนาไปทั่วชมพูทวีปพญานาคีบังเกิดความเลื่อมใสและศรัทธายิ่ง จึงจำแลงกายเป็นบุรุษขอบวชเป็นสาวกค่ำคืนหนึ่งพญานาคีเผลอหลับใหลคืนร่างเดิม พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงขอให้ลาสิกขา เนื่องจากเป็นเดรัจฉานจะบวชเป็นภิกษุมิได้ พญานาคียอมตามคำขอแต่ขอว่ากุลบุตรทั้งปวงที่จะบวช ให้เรียกขานว่า "นาค" เพื่อเป็นศักดิ์ศรีของพญานาคก่อนเข้าโบสถ์

 

จากนั้นเป็นต้นมาจึงเรียกขานกุลบุตรทั้งหลายที่จะบวชว่า "พ่อนาค" ต่อมาเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  หลังจากเสด็จไปโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อกลับสู่โลกมนุษย์ เหล่าบรรดาพญานาคี นาคเทวี พร้อมทั้งเหล่าบริวารจัดทำเครื่องบูชาและพ่นบั้งไฟถวายซึ่งชาวบ้าน เรียกว่า "บั้งไฟพญานาค"

 

 

ชมบั้งไฟพญานาค

 

 

ปรากฏการณ์ธรรมชาติ

 

งานวิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยหลายฉบับสรุปว่า บั้งไฟพญานาค คือ แก๊สมีเทน-ไนโตรเจนเกิดจากแบคทีเรียที่ความลึก 4.55 - 13.40 เมตร อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนน้อย ในวันที่เกิดปรากฏการณ์มีแดดส่องช่วงประมาณ 10, 13 และ 16 นาฬิกา มีอุณหภูมิมากกว่า 26 องศาเซลเซียสทำให้มีความร้อนมากพอย่อยสลายสารอินทรีย์ และจะมีแก๊สมีเทนจากการหมัก 3 - 4 ชั่วโมง มากพอให้เกิดความดันก๊าชในผิวทรายทำให้ก๊าซจะหลุดออกมาและพุ่งขึ้นเมื่อโผล่พ้นน้ำ ฟองก๊าซที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำบางส่วนจะฟุ้งกระจายออกไป ส่วนแกนในของก๊าซขนาดเท่าหัวแม่มือจะพุ่งขึ้นสูงกระทบกับออกซิเจน รวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงยามกลางคืนทำให้เกิดการสันดาปอย่างรวดเร็วจนติดไฟได้

 

น.พ.มนัส กนกศิลป์ กล่าวในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ว่า "บั้งไฟพญานาค น่าจะเป็นสสาร และจะต้องมีมวล เพราะแหวกนํ้าขึ้นมาได้ จึงน่าจะเป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จุดติดไฟได้เอง และต้องเบากว่าอากาศ" เขายังพบว่าความเป็นกรดด่างของน้ำในแม่น้ำโขงสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ที่จะเกิดการหมักมีเทน ซึ่งเขาเคยไปวางทุ่นดักก๊าซในแม่น้ำโขง และพบว่าก๊าซที่ดักได้ในแม่น้ำโขงสามารถนำไปจุดติดไฟ จะเกิดการพุ่งวูบขึ้นมีสีออกเป็นแดงอมชมพู ส่วนคำถามที่ว่าทำไม บั้งไฟพญานาค ถึงเกิดขึ้นในคืน วันออกพรรษา เขาบอกว่าในคืนนั้นมีอ็อกซิเจน ก๊าซที่ช่วยให้ติดไฟสูงสุดในรอบปี ซึ่งก็เกิดจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงพลังงานรังสีของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลก

 

มีคำอธิบายที่คล้ายกันเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงในฟิสิกส์พลาสมา (plasma physics) โดยเป็นลูกพลาสมาลอยอิสระซึ่งสร้างจากไฟฟ้าสถิต (เช่น จากตัวเก็บประจุ) ถูกปล่อยสู่สารละลาย ทว่า การทดลองบอลพลาสมาส่วนใหญ่กระทำโดยใช้ตัวเก็บประจุค่าแรงดันสูง ตัวกำเนิดสัญญาณไมโครเวฟหรือเตาอบไมโครเวฟ มิใช่ภาวะธรรมชาติ

 

 

บั้งไฟพญานาค

 

 

 

ความเชื่อ

 

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับลาวต่างก็เชื่อกันว่า เกิดจากการกระทำของพญานาค และยังระบุอีกว่า ตราบเท่าที่ความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านเกี่ยวกับพญานาคยังคงอยู่ คนอื่นๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ก็ควรยึดหลัก "ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่"

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย / phonphisai.go.th