วัตถุมงคล หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง พระเครื่องทรงคุณค่า
วัตถุมงคลทรงคุณค่า แห่งย่านบางขุนเทียน พระเครื่อง ของ หลวงพ่อไปล่ แห่ง วัดกำแพง นักสะสมนิยมพระเครื่อง ให้ความนิยม
หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2403 เป็นบุตรของนายเหลือ และนางทอง นามสกุล ทองเหลือ เป็นชาวบ้าน ต.บางบอนใต้ อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน เมื่ออายุ 8 ขวบ ได้ไปศึกษาหนังสือไทยและขอมกับพระอาจารย์ทัด วัดสิงห์ สมัยวัยรุ่น ท่านเป็นคนมีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญ ทรหดอดทน มีเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นชาวบ้านบางบอนใต้เป็นแดนนักเลงหัวไม้ เวลาวัดมีงานมักจะนัดตีกันเป็นประจำ
ตัวท่านถูกพรรคพวกยกย่องให้เป็น ลูกพี่ ทำให้บิดามารดาเกรงว่าจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีหรือคนพาล จึงขอร้องให้บวชพระสัก 1 พรรษา ท่านก็ไม่ขัดข้อง โดยได้รับการอุปสมบทที่วัดกำแพง เมื่อ พ.ศ.2426 อายุ 23 ปี พระอุปัชฌาย์ คือ พระอาจารย์ทัด วัดสิงห์, หลวงพ่อพ่วง วัดกก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฉันทสโร”
หลังบวชแล้วท่านได้สนใจศึกษาทางพุทธธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ท่องบทสวดมนต์จนจบทุกบททุกคัมภีร์ จดจำได้แม่นยำ จนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง เมื่อครบกำหนด 1 พรรษาแล้ว ท่านไม่ยอมสึก พอเข้าพรรษาที่ 2 ท่านได้ตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างเต็มที่ จนสามารถท่องพระปาฏิโมกข์ได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งการเรียนรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐาน และวิปัสสนาธุระกับพระอุปัชฌาย์ และพระคู่สวด ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางนี้ นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เรียนทางคงกระพันชาตรีกับพระอาจารย์คง เรียนวิชาผูกหุ่นพยนต์กับ หลวงพ่อหรุ่น วัดบางปลา เรียนทางเมตตามหานิยมกับหลวงพ่อพ่วง วัดกก เรียนทางสักยันต์คงกระพัน กับหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง
แม้จะมีวิชาอาคมเก่งกล้าขนาดไหนก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยคุยโม้โอ้อวด หรือข่มเหงใคร ชอบดำรงตนแบบสมถะ ไม่ทะเยอทะยานในลาภยศ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ กวาดกุฏิเอง ของส่วนตัวทำเองหมด ไม่เคยใช้ให้ใครทำ
นอกจากนี้ท่านยังขยันในการทำวัตรสวดมนต์อย่างเคร่งครัด ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชอบความมีระเบียบเรียบร้อย ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตบางขุนเทียน และด้วยปฏิปทาอันน่าศรัทธาเลื่อมใสของท่านนี้เองทำให้ชาวบ้านมีความเคารพนับถือท่านมาก ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพง ตั้งแต่ พ.ศ.2431จนถึงมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2489 แม้จะมรณภาพไปแล้ว แต่เนื้อหนังของท่านก็ยังเหนียว พวกสัปเหร่อเอามีดตกแต่งศพก็เฉือนไม่เข้า ต้องจุดธูปจุดเทียนบอกกล่าวขอขมาก็ยังเฉือนไม่เข้า จนสรีระของท่านแห้งไปเฉยๆ ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นแต่ประการใด ทั้งนี้ ก็เพราะวิชาอาคมของท่านขลังจริง หรือจะคิดอีกทางหนึ่งก็ได้ว่า ตลอดชีวิตสมณเพศของท่านได้รักษาศีลอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องทุกลมหายใจก็ได้
หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง ได้สร้างเหรียญหล่อโบราณที่วงการนิยมกันอย่างกว้างขวาง โดยแบ่งออกเป็น 4 แบบ คือ 1.เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ มี 2 แบบ คือ 1.เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ เนื้อฝาบาตร หรือเนื้อทองเหลือง พิมพ์มาตรฐาน และ 2.เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ เนื้อสัมฤทธิ์ พิมพ์ชาวบ้าน ลักษณะเหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อไปล่ นั่งขัดสมาธิราบ บนฐานชั้นเดียว รูปทรงจอบ มีเส้นโค้งนูน โดยรอบเหรียญ 2 เส้น ปรากฏรายละเอียดบนใบหน้าพอประมาณ ครองจีวรเห็นรัดประคดชัดเจน ด้านบนเหรียญ มีหูหล่อในตัว
ด้านหลังมีอักษรไทยนูนสูง เขียนว่า “ที่ระฤก 2478” หล่อด้วยเนื้อทองเหลือง (ฝาบาตร) เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อขันลงหิน 2.เหรียญหล่อพิมพ์รูปไข่ มี 2 เนื้อ คือเนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อทองเหลือง หรือเนื้อฝาบาตร
ลักษณะเหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อไปล่ นั่งขัดสมาธิราบ บนฐานเขียง เห็นผ้าสังฆาฏิและรัดปะคดชัดเจน เป็นเหรียญรูปไข่ มีหูหล่อในตัว ด้านหลังมีอักษรไทยเขียนว่า “ที่ระฤก 2478”
มีเรื่องเล่ากันว่า ในวันทำพิธีเททองหล่อเหรียญรุ่นนี้ ปรากฏว่า สายสิญจน์ในพิธีตกลงมาถูกเทียนชัย แต่สายสิญจน์ไม่ไหม้ เป็นที่มหัศจรรย์มาก โดยขณะนั้นท่านกำลังนั่งปรกบริกรรมปลุกเสกด้วยจิตอันเป็นสมาธิแน่วแน่
3.เหรียญหล่อพิมพ์ห้าเหลี่ยม วงการเรียกว่า “รุ่นล้างป่าช้า” สร้างในวาระที่ท่านบูรณปฏิสังขรณ์ป่าช้าวัดกำแพง ซึ่งชำรุดเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธ ประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานบัว 2 ชั้น อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีหูหล่อในตัว ด้านหลังมีอักษรขอม แปลเป็นภาษาไทยว่า “สุคโต” และมีตัว “อุ” ด้านบน หล่อด้วยเนื้อสัมฤทธิ์
4.เหรียญหล่อพิมพ์เสมา เนื้อสัมฤทธิ์ (มีน้อยมาก) ลักษณะเหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อไปล่ อยู่ในกรอบรูปเสมา มีห่วงหล่อในตัว ด้านหลังมีทั้งแบบหลังเรียบ และแบบหลังมีอักษรไทย เนื้อสัมฤทธิ์ เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ และ เหรียญหล่อพิมพ์รูปไข่ สร้างในปีเดียวกัน คือ พ.ศ.2478 ในวาระที่ท่านมีอายุครบ 75 ปี โดยทำพิธีหล่อหลายครั้ง ตามความต้องการของลูกศิษย์ที่มาให้ช่างหล่อให้ เล่ากันว่า ช่างหล่อพระเป็นน้องชายแท้ๆ ของหลวงพ่อ หากมีลูกศิษย์นำเนื้อโลหะอะไรมาให้หล่อ ช่างก็จะหล่อให้ตามความประสงค์ และหลวงพ่อจะปลุกเสกให้เป็นคราวๆ ไป
ส่วน เหรียญหล่อพิมพ์เสมา และ เหรียญหล่อพิมพ์ ๕ เหลี่ยม ไม่แน่ชัดว่า สร้างในปีใด การแจกเหรียญนั้น บางท่านเล่าว่า เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ ท่านไว้แจกผู้ชาย เหรียญหล่อพิมพ์รูปไข่ไว้แจกสตรี ส่วนเหรียญพิมพ์เสมา เนื้อสัมฤทธิ์ สำหรับแจกเด็ก พระพุทธคุณ เหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ขึ้นชื่อในเรื่องมหาอุด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม จนเป็นที่เลื่องลือทั่วไป และเป็นเหรียญหล่อโบราณที่ได้รับความนิยมสูง มีสนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักแสนปลายขึ้นไปจนถึงหลักล้าน โดยได้รับการจัดอันดับ เหรียญแพง ที่ 2 รองจาก พระหล่อโบราณรูปเหมือน และ เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่-พิมพ์จอบเล็ก หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร