ศรัทธาสายมู

ชมภาพ 'หลวงพ่อโสธร' งดงามทองสุกอร่าม หลังบูรณะใกล้แล้วเสร็จ

ชมภาพ 'หลวงพ่อโสธร' งดงามทองสุกอร่าม หลังบูรณะใกล้แล้วเสร็จ

25 มี.ค. 2566

ชมความงามในวาระใกล้บูรณ 'หลวงพ่อโสธร' เสร็จสมบูรณ์ ปิดทองคำเปลวทั่วองค์แล้ว เจ้าอาวาสวัดโสธร ระบุ เสร็จสิ้นช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้

ใกล้ได้เข้าสักการะอย่างเป็นทางการ พระราชภาวนาพิธาน วิ.เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เปิดเผยความคืบหน้าในการบูรณะหลวงพ่อโสธร พระคู่บ้านคู่เมืองของฉะเชิงเทรา ที่ก่อนหน้านี้ ทางกรมศิลปากรได้ลงน้ำรัก จนเป็นพระพุทธรูปสีดำ ที่ผู้คนให้ความสนใจ ล่าสุดในเพจของวัดโสธรวรารามวรวิหาร ได้ลงภาพปัจจุบันที่หลวงพ่อโสธรมีความงดงามถูกปิดทองคำเปลวใหม่ทั้งองค์ โดยจากการคาดการณ์การดำเนินการว่าจะแล้วเสร็จ สิ้นเดือ มีนาคมนี้ และพร้อมที่จะสมโภช งานนมัสการหลวงพ่อโสธร กลางเดือนห้าจึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมชมความงดงามหลวงพ่อโสธรและบริวารได้ตั้งแต่ ต้นเดือนเมษายน เป็นต้นไป

หลวงพ่อโสธร
สำหรับงานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อโสธร จัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง โดยกำหนดวันทางจันทรคติตามลำดับ คือ 1. งานเทศกาลกลางเดือน 5 ตั้งแต่วันขึ้น 14ค่ำ จนถึงวันแรก 1 ค่ำ เดือน 5 รวม 3 วัน 
 2. งานเทศกาลกลางเดือน 12 ระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 12 รวม 5 วัน 
3. งานเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันขึ้น 1-5 ค่ำ เดือน 3 รวม 3 วัน
หลวงพ่อโสธร

งานเทศกาลกลางเดือน5 จัดขึ้นรวม 3 วัน 3 คืน นับตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ จนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เทศกาลนี้จัดฉลองสมโภชเนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นวันคล้ายวันที่อาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากแม่น้ำ แล้วอัญเชิญท่านมาประดิษฐานที่วัดโสธรวรวิหาร งานเทศกาลกลางเดือน 12 เทศกาลนี้ได้จัดสืบต่อกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว คือ เริ่มจัดขึ้นในราว พ.ศ. 2434

หลวงพ่อโสธร

โดยมีมูลเหตุมาจากในปีนั้นประชาชนในท้องถิ่นประสบทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนแล้งทำการเพาะปลูกไม่ได้ผลทั้งยังเกิดโรคอหิวาต์และฝีดาษระบาดทั่วไปทำให้ผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงคราวเข้าตาจนเช่นนี้ชาวบ้านต่างพากันบนบานศาลกล่าวต่อหลวงพ่อให้ช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยเหล่านี้ ด้วยการปิดทองบ้าง ด้วยมหรสพสมโภชบ้าง และด้วยสิ่งอื่น ๆ กล่าวกันว่าความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่บันดาลให้เกิดฝนโปรยปรายลงมา ทำให้แผ่นดินชุ่มชื้น โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หายเป็นปลิดทิ้ง

หลวงพ่อโสธร

ชาวบ้านจึงร่วมใจกันจัดงานฉลองสมโภชหลวงพ่อครั้งใหญ่เพื่อแก้บน แต่เดิมงานเทศกาลในเดือนนี้มี 3 วัน คือ วันขึ้น 14-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ได้จัดเพิ่มขึ้นอีก 2 วัน คือ วันขึ้น 12-13 ค่ำ เดือน 12รวมทั้งสิ้นเป็น 5 วัน และถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ ในวันขึ้น 14 ค่ำจะมีการแห่หลวงพ่อทางบก วันขึ้น 15 ค่ำ มีการแห่ทางน้ำ และวันแรม 1 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายมีการเวียนเทียนและสรงน้ำพระ งานเทศกาลตรุษจีน จัดตามจันทรคติของจีน คือ ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ปีใหม่ (ชิวอิด) ไปจนถึงวันขึ้น 5 ค่ำ (ชิวโหงว) รวม 5 วัน 5 คืน ถ้าเทียบเป็นเดือนไทยก็คือ ราวเดือนยี่หรือเดือนสาม

หลวงพ่อโสธร

หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปที่มีอภินิหาร มีฤทธานุภาพของชาวไทย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ คือมีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย วางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา มีส่วนสูง 6 ฟุต 7 นิ้ว พระเพลากว้าง 5 ฟุต 6 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่ชาวไทยให้ความเลื่อมใสศรัทธามาอย่างยาวนาน ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
ตำนานเกี่ยวกับการสร้างพระหลวงพ่อโสธรที่น่าสนใจ คือ พระสามพี่น้อง คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) จ.สมุทรสงคราม หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ และ หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา มีเรื่องเล่าว่า พระสามพี่น้องนี้เป็นพระที่สร้างขึ้นโดยพี่น้องสามคนเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยพี่ชายคนโตเป็นคนที่เกิดวันพุธ 


จึงสร้างพระปางอุ้มบาตร คนกลางนั้นเกิดวันพฤหัสบดีจึงสร้างพระปางสมาธิ ส่วนน้องคนสุดท้องสร้างพระปางมารวิชัยแล้วต่อมาก็ว่ากันว่าพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ถูกนำมาซ่อนในแม่น้ำเพื่อหลบพม่า หรือบ้างก็ว่าเกิดอุบัติเหตุจากการขนย้ายทางเรือ แต่สุดท้ายแล้วพระพุทธรูปทั้งสามองค์นั้นก็เป็นพระที่อยู่ในแม่น้ำเหมือนกัน เมื่อพระพุทธรูปทั้งสามอยู่ในแม่น้ำทางภาคเหนือ ก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ล่องลอยมาตามแม่น้ำ แต่ละองค์ได้เลือกสถานที่แห่งใดบ้าง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานมาจวบเท่าทุกวันนี้

ความศักดิ์สิทธิ์และคติความเชื่อเกี่ยวหลวงพ่อโสธรรนั้น มีคำร่ำลือมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการยกเด็กที่เลี้ยงยาก รวมทั้งเป็นโรคภัยไข้เจ็บให้เป็น "ลูกของหลวงพ่อโสธร" ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ว่า เด็กที่ถูกยกให้เป็นลูกหลวงพ่อโสธรกลับกลายเป็นเด็กเลี้ยงง่าย และไม้เจ็บไข้ได้ป่วย