ศรัทธาสายมู

รู้จัก 2 เกจิอาจารย์แห่ง ปัตตานี 'พ่อท่านเขียว - พ่อแก่เจ้าแสง '

รู้จัก 2 เกจิอาจารย์แห่ง ปัตตานี 'พ่อท่านเขียว - พ่อแก่เจ้าแสง '

11 มิ.ย. 2566

ทำความรู้จัก 2 ครูบาอาจารย์รูปสำคัญ แห่งดินแดนจังหวัดชายแดนใต้ เมืองปัตตานี พ่อท่านเขียว กิตฺติคุโณ วัดห้วยเงาะ ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ และ พ่อแก่เจ้าแสง จนฺทวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดประเวศน์ภูผา(บ้านตรัง) ต.ตรัง อ.มายอ

หากกล่าวถึงพระเกจิอาจารย์ ว่ากันว่า ครูบาอาจารย์ในสายภาคใต้นั้น ขึ้นชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ หรือคือ มีความเข้มขลังในวิชาอาคม ไสยเวท ไม่น้อยหน้าครูบาอาจารย์ในภาคอื่นๆ ในจ.ปัตตานี หนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ก็มีเกจิอาจารย์รูปสำคัญ 2 รูปด้วยกัน ที่มีความเชื่อมั่น เชื่อถือ ในความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันภัยอันตรายได้ 


2 พระเกจิที่กล่าวถึงนั้น คือ พระครูอนุศาสน์กิจจาทร หรือ  พ่อท่านเขียว กิตฺติคุโณ  วัดห้วยเงาะ ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ  พ่อแก่เจ้าแสง จนฺทวณฺโณ  อดีตเจ้าอาวาสวัดประเวศน์ภูผา(บ้านตรัง) ต.ตรัง อ.มายอ จ.ปัตตานี

พระครูอนุศาสน์กิจจาทร หรือ  พ่อท่านเขียว กิตฺติคุโณ  วัดห้วยเงาะ ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

สำหรับประวัติของ พ่อท่านเขียว เกิดเมื่อ พ.ศ.2472 ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา บิดาชื่อนายทอง เพ็ชรภักดี   มารดาชื่อ นางกิ๊ม เพ็ชรภักดี ถือกำเนิดในครอบครัวชาวนาใน จ.ยะลา เป็นบุตรคนที่ 3 จากจำนวนทั้งหมด 7 คน

 กระทั่งอายุได้ 20 ปี จึงอุปสมบทตามประเพณีนิยม ณ วัดนางโอ ปัจจุบัน คือ วัดบุพนิมิตร อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2492 ณ พัทธสีมา วัดนางโอ โดยมี พระครูมนูญสมณการ วัดพลานุภาพ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการแดง ธมฺมโชโต วัดนาประดู่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการทอง จนฺทโชโต วัดภมรคติวัน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

 เมื่ออุปสมบทครองผ้าเหลือง พ่อท่านเขียว ได้จำพรรษาอยู่วัดนางโอ โดยท่านได้ใช้เวลาที่ว่างจากกิจของสงฆ์ เล่าเรียนการสวดมนต์ในบทสำคัญต่างๆ รวมถึงการสวดภาณยักษ์ในแบบฉบับของภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยได้พบกันบ่อยนัก เหมือนก่อนแล้ว กระทั่งพรรษา 2 พ่อท่านเขียว ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดสุนทรบัญชาราม อ.รามัญ จ.ยะลา พรรษาที่ 3 พ่อท่านเขียว ได้ย้ายกลับมาจำพรรษาที่วัดนางโออีกครั้ง ได้ศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับ “ตาเลี่ยม” ฆราวาสที่เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนา อีกทั้งสรรพวิชาจากผู้เรืองพระเวทย์วิทยาคม ในเขตนั้นอีก จำนวนนับไม่ถ้วน
 


ซึ่งในทางธรรม พ่อท่านเขียว ปฏิบัติเคร่งครัด ศึกษาด้านปริยัติธรรมบาลีไวยากรณ์และนักธรรม รวมถึงการสวดมนต์ สาธยายธรรม  ด้วยเหตุนี้เอง พ่อท่านเขียว จึงสามารถสวดปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่ในพรรษาที่ 5 ท่านได้รับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดนางโอ จนกระทั่งได้เป็นเจ้าอาวาสในลำดับต่อมา

ในช่วงนี้เอง ที่ท่านได้เป็นสหธรรมมิกกับ พระครูวิสัยโสภณ หรือ พระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ด้วยความสนิทสนม ชอบพออัธยาศัย ไปมาหาสู่กันเสมอ ระยะทางระหว่างวัดทั้งสองไม่ไกลกันนัก โดยได้ร่วมสังฆกรรม สนทนาธรรมร่วมพิธีกรรมต่างๆ กันเสมอ


โดยเฉพาะเมื่อคราวที่ พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ สร้างพระ หลวงปู่ทวด เนื้อว่าน รุ่นแรก เมื่อปี 2497 เพื่อแจกแก่ผู้ที่ร่วมสร้างอุโบสถ วัดช้างให้ นั้น พ่อท่านเขียว เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมงาน โดยคลุกเนื้อผสมว่าน และร่วมอยู่ในพิธีกรรมเจริญพุทธมนต ระหว่าง ที่ พระอาจารย์ทิม อัญเชิญดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของ หลวงปู่ทวด เพื่อปลุกเสกพระเครื่องเนื้อว่าน รุ่นแรก ในปี 2497 และร่วมพิธีกรรมปลุกเสกอีกหลายวาระ จนเมื่อพระอาจารย์ทิมท่านมรณภาพแล้ว ยังมีพิธีกรรมที่สำคัญอีก 1วาระ คือ พิธีปลุกเสกพระหลวงปู่ทวด เนื้อว่าน  รุ่นปี 2524 ปัจจุบันเป็นที่เสาะหากันมาก เพราะมีประสบการณ์คุ้มภยันตรายแคล้วคลาดปลอดภัย แก่ผู้ที่นับถือ

พ่อแก่เจ้าแสง จนฺทวณฺโณ  อดีตเจ้าอาวาสวัดประเวศน์ภูผา(บ้านตรัง)

ส่วน พ่อแก่เจ้าแสง จนฺทวณฺโณ  อดีตเจ้าอาวาสวัดประเวศน์ภูผา(บ้านตรัง)  มีนามเดิมว่า แสง นามสกุลแก้วทอง เกิดวันที่ 7 ก.พ. 2462 บิดาชื่อนายบุญทอง มารดาชื่อนางแมะ แก้วทอง อุปสมบทเมื่ออายุ 21 ปี ที่วัดประเวศน์ภูผา เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.  2483 โดยมีท่านพระครูสุวรรณไพบูลย์ (จันทร์ทอง)เจ้าอาวาสวัดตะเคียนทอง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากบวชแล้วได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านตรัง พ่อแก่เจ้าแสง หมั่นศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จนสามารถสอบได้นักธรรมเอกในเวลาไม่นานนัก ตลอดถึงยังได้ศึกษาเวทย์มนต์ คาถาอาคมจากพ่อท่านทองแก้ว พระสงฆ์ผู้ทรงศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดบ้านตรัง และไม่ลืมที่จะหาเวลาเดินทางไปกราบสักการะเยี่ยมเยียนองค์อุปัชฌาย์พ่อท่าน จันทร์ทอง อยู่เสมอ


พ่อแก่เจ้าแสง ท่านมีความคิดที่มุ่งมั่นและตั้งใจที่จะบูรณะวัดบ้านตรังและสร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุต่างๆ ท่านจึง นำพาชาวบ้านและเพื่อนภิกษุไปเลื่อยไม้ เพื่อนำมาสร้างหอพระไตรปิฎก ศาลาโรงธรรมและโรงครัว ท่านเป็นพระนักพัฒนา นำพาชาวบ้านสร้างศาลากลางทุ่งนาเพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนชองชาวบ้าน ในการทำนาตลอดถึงเป็นผู้นำชาวบ้านในการทำถนนหนทางไปสวน ไปนา เพราะในอดีตนั้นการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ยวดยานพาหนะไม่ต้อง ต้องใช้การเดินเท้าเท่านั้น

พ่อแก่เจ้าแสง มุ่งมั่นตั้งใจนำพาชาวบ้านพัฒนาวัด พัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องมี ผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมายจวบจนพ.ศ.2487 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดประเวศน์ภูผา(บ้านตรัง) ตลอดชั่วชีวิตท่านได้สร้างคุณประโยชน์ต่อชาวบ้านตรังมากมายซื้อที่ดินมอบให้ สร้างโรงเรียนบ้านตรังเพื่อเป็นสถานที่ศึกษาของเหล่าลูกหลานในละแวกนั้น นับเป็นประโยชน์อย่างสูงที่ลูกหลานบ้านตรังได้รับ พ่อท่านแสง ท่านเป็นพระบริสุทธิ์สงฆ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านตรังตลอดถึง พื้นที่ใกล้เคียงด้วยวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย ดำรงตนอยู่อย่างสมถะเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เจริญรอยตามครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัดตามแบบฉบับพระโบราณ

นอกจากท่านจะเป็นพระนักพัฒนาแล้ว พ่อแก่เจ้าแสง ยังสืบทอดสายวิชา อาคมขลังมาจากครูบาอาจารย์ต่างๆมากมายหลายองค์ท่านสืบทอดวิชา”นะปถมัง”และ”นะปัดตลอด”มาจากสุดยอดพระเถราจารย์แห่งเมืองปัตตานีนามพ่อท่านจันทร์ทอง วัดตะเคียนทอง เทพเจ้าแห่งยะหริ่ง ท่านศึกษาเล่าเรียนวิชามาจากพ่อท่านจันทร์ทอง องค์อุปัชฌาย์ ของท่านมาอย่างเจนจบครบถ้วน


พ่อแก่เจ้าแสง มีความสามารถเขียนอักขระเลขยันต์ ลบถบ ทำผงนะปถมังและนะปัดตลอดได้อย่างเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ประดุจดังองค์อาจารย์ ของท่าน ตามตำราทางไสยศาสตร์อิทธิคุณอานุภาพของผงปถมังหนักไปทางด้านอิทธิฤทธิ์อยู่ยงคงกระพัน ชาตรีจังงังกำราบศัตรูหมู่ปัญจามิตรสะกดทั้งมนุษย์และสัตว์ให้ตกอยู่ในอำนาจและเป็นกำบังล่องหนหายตัวถึงทางเมตตามหานิยมก็ใช้ได้เหมือนกันใช้ผสมทำเครื่องรางเมื่อพกพาติดตัวทำให้อยู่ยงคงกระพันหรือนำผงทาตัวเป็นล่องหนกำบังหายตัวได้ครูบาอาจารย์โบราณได้กล่าว


นอกจากที่ท่านศึกษามาจากพ่อท่านจันทร์ทอง แล้วท่านยังได้ศึกษาวิชาอาถรรพณ์โบราณมาจากพ่อท่านไชย อดีตเจ้าอาวาสของวัดบ้านตรังอีกมากมาย ทั้งจากตำรับตำราโบราณของคู่วัดบ้านตรังที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องและยาว นาน โดยเฉพาะวิชาสั่งสูญ(ธนูสั่ง) วิชาสั่งสูญ เป็นยอดวิชาชั้นสูงที่หาผู้สืบทอดและปฏิบัติได้จริงน้อยมาก สมาธิจิตที่กล้าแข็งผนวกพลังจิตสุดอัศจรรย์ กับการภาวนากำกับอักขระเลขยันต์คาถาอาคมขลังลงสู่ลูกธนู ก่อนที่จะยิงออกไปให้ถูกต้องตามที่ต้องการ


นอกจากนี้ยังมีในส่วน วิชากายะพัน มหาอุดหยุดปืนเป็นอีกสรรพวิชาโบราณที่ท่านมีความเชี่ยวชาญและทำได้ขลังนัก ผู้นำไปบูชาต่างมีประสบการณ์มากมาย อุปเทห์วิธีใช้หากพาดทางซ้ายอุดมไปด้วยเมตตามหานิยม พาดทางขวาเป็นมหาอุดหยุดปืน แคล้วคลาดคงกระพันชาตรี ตลอดถึงวิชาอาถรรพณ์ผูกหุ่นพยนต์ ควายธนูท่านก็เชี่ยวชาญเข้มขลังยิ่งนัก อีกทั้งวิชาอาถรรพณ์ส่งผี แก้ชิน แก้บน เหยียบเสน(ปาน) เจ็บป่วย ไข้ ไม่สบายหาสาเหตุไม่เจอ เป็นต้องมาหาท่านให้ช่วยรักษา


นอกจากวิชาในข้างต้น พ่อแก่เจ้าแสง ยังได้สืบสายวิชาทางด้านมโนราห์ โดยได้ศึกษาจาก โนรานุ่ม โนรานิ่ม โนราแคล้ว ซึ่งมีชื่อเสียงมากในขณะนั้นในหัวเมืองปัตตานี ได้ศึกษาเรียนวิชาสืบทอดมหามนต์แห่งมโนราห์ มาอย่างเจนจัด วิชาเสกหวาย วิชามงกุฎพระพุทธเจ้าวิชาหุงสีผึ้งเมตตามหานิยม วิชาทำเชือกครองหงส์ วิชาคันธนูพรานบุญ เรียกได้ว่าครบถ้วนท่านจึงเป็นพระเถราจารย์ที่ลูกหลานมโนราห์ต่างให้ความเคารพนับถือแลศรัทธาเป็นที่สุด


วัตถุมงคลต่างๆท่านสร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดวิชาตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาและ เมตตามอบให้กับศิษยานุศิษย์นำไปบูชาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต และย้ำเสมอให้อยู่ศีลธรรมอันดีงาม แม้ในช่วงที่มีเหตุการณืร้ายแบบรายวัน ข่มขวัญเขย่าจิตใจผุ้คนไปทั่วก่อนหน้านี้ แต่มีการพูดถึงกันว่า ชาวบ้านในต.ตรัง กลับใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข แม้จะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิมแต่ทุกคนที่อาศัยอยู่ในหมู่ บ้านต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ว่าเหตุการณ์จะทวีความรุนแรงเพียงใด พวกเขาทุกคนก็จะยืนหยัดต่อสู้จะไม่ยอมทิ้งถิ่นฐานแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน ไม่หนีหรืออพยพโยกย้ายไปไหนแน่นอน เพราะพื้นที่ทุกตารางนิ้วบรรพบุรุษปู่ย่า ตายายของเขาเกิดที่นี่ โตที่นี่และก็ตายที่นี่ ทุกๆคนได้อาศัยบารมีของพ่อแก่เจ้าแสง ช่วยคุ้มครองนั่นเอง.