ศรัทธาสายมู

ส่องพระเครื่องคู่ใจ 'อ.ไข่ มาลีฮวนน่า' ศรัทธา พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

ส่องพระเครื่องคู่ใจ 'อ.ไข่ มาลีฮวนน่า' ศรัทธา พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

19 มิ.ย. 2566

ศรัทธาสายมู ส่องพระเครื่องคู่ใจ ติดกาย ขุนพลเพลงเพื่อชีวิตแดนใต้ อ.ไข่ มาลีฮวนน่า แขวนเดี่ยวองค์เดียว ปิดตาขึ้นชื่อ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

คฑาวุธ ทองไทย หรืออาจารย์ไข่ นักร้องนำขุนพลเพลงเพื่อชีวิตแดนใต้ แห่งวงมาลีฮวนน่า ฝีไม้ลายเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ บทเพลงที่ขับขานขึ้นหิ้งระดับตำนานหลากหลายบทเพลง  ในอีกแง่มุมหนึ่ง อาจารย์ไข่ ก็เป็นดั่งลูกผู้ชายที่ศรัทธาในพุทธาคม และ วัตถุมงคล และเป็นหนึ่งในบุคคลที่เคยได้ประกอบพิธีแช่ว่านรางยาในถ้ำ ของวัดเขาอ้อมาแล้ว ศรัทธาสายมู จึงต้องขอสัมภาษณ์ถึงพระเครื่องคู่ใจของอาจารย์ไข่ ว่าบูชาอะไรติดตัว

คฑาวุธ ทองไทย หรืออาจารย์ไข่ วงมาลีฮวนน่า

เมื่อได้มีจังหวะปลีกตัวจากงานประกวดพระเครื่องปี2566 อาจารย์ไข่ ได้บอกเล่าถึงพระเครื่องที่เห็นได้อย่างสะดุดตาว่า พระเครื่ององค์นี้เป็นที่สุดที่ตนบูชา ติดตัวอยู่ตลอดซึ่งได้รับมอบมาจาก ป๋ายัพ พยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ถือเป็นที่สุดของตน โดยพระเครื่องคู่ใจอ.ไข่นั้น เป็นพระปิดตา ที่ขึ้นชื่อของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ย่านวุฒากาศ ฝั่งธนบุรี  พระปิดตายันต์ยุ่งของท่าน ได้รับความนิยมอย่างมาก รวมทั้งเครื่องราง หมายทุย ก็เป็นอีกหนึ่งของศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน รวมทั้ง หลวงปู่เอี่ยม ยังเป็นเกจิอาจารย์ ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงให้ความเคารพนับถือ จนมีเรื่องราวปราฏิหารย์เป็นที่เลื่องลือ 

พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม

หลวงปู่เอี่ยม พื้นที่ถิ่นเกิด กำเนิดเป็นชาวบางขุนเทียน ริมคลองบางหว้า ท่านเกิดเมื่อ วันศุกร์ เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ จุลศักราช 1149 ปีมะโรง จัตวาศก ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2375 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรของ นายทอง และ นางอู่ ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวน  ตระกูล หลวงปู่เอี่ยม แต่เดิม มีนามสกุลว่า ทองอู่ แต่ไปคล้ายกับพระนามเจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่ง เมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล จึงได้เปลี่ยนเป็น ทองอู๋ และใช้สืบมาจนปัจจุบัน 

หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

ในวัยเด็ก โยมพ่อโยมแม่ของท่านได้นำท่านมาฝากมาเรียนหนังสือที่สำนัก หลวงปู่รอด อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง อายุ 11 ปี ได้เริ่มศึกษาพระปริยัติธรรม และต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วัดเลียบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2387 เมื่อท่านมีอายุครบ 22 ปี ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดราชโอรสาราม หรือ วัดจอมทอง  ฉายา “สุวณฺณสโร” มีพระสุธรรมเทพเถระ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมเจดีย์ (จีน) กับพระภาวนาโกศลเถร (รอด) เป็นคู่กรรมวาจาจารย์ 

เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่เอี่ยมได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดนางนอง ท่านก็ได้เจริญรอยตามหลวงปู่รอด วัดโคนอน มาตลอดเวลา และได้ศึกษาวิปัสสนากรรมธุระ  ท่านอยู่รับใช้หลวงปู่รอดจนมรณภาพ จึงได้รับนิมนต์จากชาวบ้าน มาเป็นเจ้าอาวาสวัดหนัง เนื่องจากในขณะนั้น วัดหนังไม่มีผู้ดูแล ท่านจึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระครูศีลคุณธราจารย์ ไปอยู่วัดหนัง มีนิตยภัตราคาเดือนละ 2 ตำลึง ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็นพระภาวนาโกศลเถร ที่พระราชาคณะ มีนิตยภัตราคาเดือนละ 3 ตำลึง


ชื่อเสียงของหลวงปู่เอี่ยม ได้เป็นที่พูดถึงมาจนปัจจุบันนั้น มาจากเหตุการณ์ ขณะที่รัชกาลที่ 5 ต้องเสด็จประพาสยุโรป จึงได้มาปรึกษาหลวงปู่เอี่ยม ท่านก็ได้ทำนายไว้ว่าพระองค์ท่านจะบรรลุผลสำเร็จพระบรมราโชบายทุกประการ แต่จะต้องประสบกับสัตว์ที่ดุร้ายในยุโรป และท่านจะต้องทรงขี่มัน 

 หลวงปู่ท่านได้มอบ พระคาถาเสกหญ้าให้ม้ากิน  และมอบยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้าให้กับพระพุทธเจ้าหลวง และจะปกป้องคุ้มครองพระองค์ท่านให้ทรงปลอดภัย และคาถาดังกล่าวก็คือคาถามงกุฎพระพุทธเจ้า และสุดท้ายฝ่ายฝรั่งก็ยอมศิโรราบในที่สุด เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงเสกหญ้าให้ม้ากิน และบังคับม้าตัวนั้นได้ 
สำหรับการสร้างพระปิดตาเนื้อสัมฤทธิ์ ซึ่งประมาณการกันว่า ท่านคงได้สร้างมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2441 ตอนที่ท่านได้มาครองที่วัดหนังแล้ว และเมื่อคราวบูรณะเขื่อนที่หน้าวัดหนัง ปี พ.ศ.2463 ก็มีการเทพระชัยวัฒน์และพระปิดตาเนื้อสัมฤทธิ์ เพื่อสมนาคุณแก่ ผู้บริจาคเงินช่วยเหลือในครั้งนั้นด้วย
หลวงปู่เอี่ยมถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2469 สิริอายุ 93 ปี 71 พรรษา ครองวัดหนังนานถึง 27 ปี