151 ปี วาระครบรอบมรณกาล ย้อนประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
ศึกษาประวัติพระมหาเถระแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ผู้จรนา พระคาถาชินบัญชร และ พระเครื่องจักรพรรดิของวงการ สมเด็จวัดระฆัง
หากเอ่ยนาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือนามที่นิยมเรียก "สมเด็จโต" หรือ "หลวงปู่โต" น้อยคนที่จะไม่รู้จัก ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีเรื่องราวและมีชื่อเสียง ที่ได้รับความเคารพศรัทธาอย่างมาก และเป็นผู้สร้าง พระคาถาชินบัญชร และจักรพรรดิพระเครื่อง ที่เรียกว่า สมเด็จวัดระฆัง ในวาระ 22 มิ.ย. 2566 ครบรอบ 151 ปีแห่งมรณกาล ศรัทธาสายมู จึงนำประวัติและเรื่องราวของท่านมานำเสนอเพื่อเผยแพร่บารมีธรรมของท่าน
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีการกล่าวกันว่า เป็นช่วงราวๆ หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี ท่านถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต หรือตรงกับวันที่ 17 เม.ย. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวไว้ว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร ขณะที่ในฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง
สำหรับบิดาของท่านนั้น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวไว้อย่างหนึ่ง ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวไว้อีกอย่างหนึ่งไปหาอ่านดูได้ทั่วไป หากแต่ที่ตรงกัน คือที่ว่ากันทั่วไปว่า บิดาของท่านไม่ใช่บุคคลสามัญธรรมดา ก็ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป
เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว เด็กชายโตได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า "พฺรหฺมรํสี" เนื่องจากเป็นเปรียญธรรมจึงเรียกว่า "พระมหาโต" มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
จากข้อมูลที่บอกเล่าต่อๆกันมานั้น เล่าไว้ว่า พระมหาโต มีอุปนิสัยทำสิ่งใดตามความพอใจของตน ไม่ถือเอาความนิยมของผู้อื่นเป็นหลัก และไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใด ๆ แม้ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ก็ไม่ยอมเข้าสอบเปรียญธรรม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ แต่ท่านไม่ยอมรับ จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอดรัชกาล
ต่อมากล่าวกันว่า พระมหาโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่าง ๆ กัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่ วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของท่านอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของท่าน ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน
จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานตั้งสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ "พระธรรมกิติ" และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ "พระเทพกระวี" หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า
สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ
สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า "สมเด็จโต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า "ขรัวโต"
ในช่วงปัจฉิมวัยของท่าน ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต หรือมีชื่อทางการว่า พระศรีอริยเมตไตรย ที่วัดอินทรวิหาร ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จโต ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก เวลาเที่ยง ตรงกับวันที่ 22 มิ.ย. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี