3 พระเครื่องทรงคุณค่า ราคาเช่าบูชาหลักแสนบาท
ตีกล้องส่อง วัตถุมงคล 3 พระเครื่อง 2 ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อทวด หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ ราคาเช่าหาบูชาระดับหลักแสนบาท
หากจะกล่าวถึงวัตถุมงคล หรือ พระเครื่อง เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า พระเครื่อง ของครูบาอาจารย์รุ่นก่อน มีราคา มีประสบการณ์ ที่เปี่ยมไปด้วยพุทธคุณ และเรื่องราว ครั้งนี้ นำเสนอ 3 พระเครื่อง ที่ปัจจุบันมีราคาค่างวดในการบูชาระดับหลักแสนบาท จะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง ไปดูกัน
หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ พิมพ์บัวรอบ ฐานลายเซ็นปี 2508
จัดเป็นพระยอดนิยมอีกหนึ่งรุ่น ในสายหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ จ.ปัตตานี มีการเช่าหากันอย่างกว้างขวางและมีพระหมุนเวียนในวงการมากพอสมควร สำหรับพระหลวงพ่อทวดรุ่นนี้ จัดสร้างขึ้นเพื่อหาทุนสร้างอาคารเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี จำนวน 5,000 องค์ ซึ่งทางคณะกรรมการได้ติดต่อขอความร่วมมือจาก นายอนันต์ คณานุรักษ์ คหบดีชาวปัตตานี ผู้มีส่วนร่วมในการจัดสร้างพระหลวงพ่อทวดเนื้อว่านรุ่นแรกปี 2498 เป็นผู้ขออนุญาต พระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาสวัดช้างให้ เพื่อจัดสร้างพระหลวงพ่อทวดขึ้นมา และอาจารย์ทิมท่านเมตตาให้ความช่วยเหลือ โดยติดต่อกับดวงวิญญาณของหลวงพ่อทวดทางสมาธิจิต ซึ่งสมัยนั้นชาวบ้านเรียกว่า การนั่งทางใน
สำหรับพุทธลักษณะหลวงพ่อทวดรุ่นนี้ เป็นพระหล่อแบบโบราณ องค์หลวงพ่อทวดด้านบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระอาจารย์ทิมพิธีปลุกเสกวันที่ 16 เมษายน 2508 เป็นการทำพิธีปลุกเสกเดี่ยวภายในกุฏิซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ทิม ไม่มีการจัดทำพิธีใหญ่โตภายในอุโบสถ ภายในองค์พระบรรจุเม็ดกริ่งใต้ฐานองค์พระตอกตัวหนังสือ 3 แถวลงในเนื้อพระแถวที่ 1 อ่านว่าวิสัยโสภณนี่คือสมณศักดิ์ของพระอาจารย์ทิม พระครูวิสัยโสภณ แถวที่ 2 อ่านว่าหลวงพ่อทวด และแถวที่ 3 อ่านว่าวัดช้างให้ จึงมีอีกชื่อของพระรุ่นนี้ว่า ฐานลายเซ็น
เหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวก หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม
ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีเหรียญ นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูง และหาดูหาเช่าค่อนข้างยาก
หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้า หนึ่งในสี่พระเกจิชื่อดังในอดีต “จาด จง คง อี๋” ช่วงสมัยสงครามอินโดจีน ต่อถึง สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุมงคลของทั้งสี่รูปที่จัดสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในยามวิกฤตเช่นนั้น ได้สร้างปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏจนเป็นที่เคารพเลื่อมใสและศรัทธา และยังคงเป็นที่นิยมสะสมอย่างมากในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์มาตราบจนปัจจุบัน
กล่าวถึง หลวงพ่อคง ธมฺมโชโต ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2408 ที่บ้านสำโรง ปัจจุบันนี้คือ ต.โรงหีบ อ.บางคนที บวชเป็นสามเณรที่วัดเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พออายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเหมืองใหม่ ได้รับฉายา "ธมฺมโชโต" อันมีความหมายว่า ผู้รุ่งเรืองโดยธรรม ท่านจำพรรษาที่วัดเหมืองใหม่มาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.2448 ชาวบ้าน ต.บางกะพ้อม ได้อาราธนาท่านให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อมที่ว่างลง
หลวงพ่อคงจึงรับตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดบางกะพ้อมตั้งแต่นั้นสืบมา และด้วยวัตรปฏิบัติและเมตตาธรรม ทำให้ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับความเคารพศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทุกชั้นวรรณะ ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2486 สิริอายุได้ 78 ปี
จากการที่หลวงพ่อคงสนใจศึกษาร่ำเรียนวิทยาการต่างๆ มากมายจากพระเกจิอาจารย์หลายท่านทำให้ท่านมีความชำนาญการและแตกฉานในทุกแขนงวิชา ไม่ว่าจะเป็น การลงกระหม่อม, ทำพระขรรค์, ทำมีดหมอ, ทำน้ำมนต์ไล่ผี, การแพทย์แผนโบราณ, การทำลูกอม, ด้านเมตตามหาอุด ฯลฯ วัตถุมงคลของท่านล้วนได้รับการยกย่องการกล่าวถึงในด้านพุทธคุณและปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏ มีอาทิ เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก, เหรียญหล่อพิมพ์เทวดาถือหางนกยูงหรือเหรียญอรุณเทพบุตร, เหรียญหนุมานแบกพระโมคคัลลาน์สารีบุตร, ลูกอม และตะกรุด ฯลฯ โดยเฉพาะ "เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2484" ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีเหรียญ นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูง และหาดูหาเช่าค่อนข้างยาก
เหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวก นี้ เป็นเหรียญหล่อรูปทรงเม็ดมะปราง ขอบข้างเว้าเป็นหยัก แบบหูในตัว โดยจะมีการจัดสร้างอยู่ 2 วัด คือ “วัดบางกะพ้อม” ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และ “วัดแหวนหาย” ซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อคงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและเป็นที่ที่ท่านละสังขารอีกด้วย
พุทธลักษณะของเหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวกทั้ง 2 วัด จะมีพิมพ์ด้านหน้าคล้ายกัน คือ เป็นรูปหนุมานแบกพระอัครสาวก (พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร) ไว้บนมือทั้งสองข้าง และพระอัครสาวกทั้งสองหันข้างในท่าพนมมือ ตรงกลางเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร ประทับยืน เหนือศีรษะหนุมาน แสดงปางประทานพร แต่พิมพ์ด้านหลังจะแตกต่างกัน โดยแยกแยะได้ไม่ยากนัก ดังนี้
เหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวก วัดบางกะพ้อม ซึ่งจะเรียกกันว่า “พิมพ์อุบน” ด้านหลังจะเป็นอักขระขอมเรียงกัน อ่านได้ว่า “อุ เม อะ มะ อุ นะ มะ ภะ ธะ อุ” คือจะมีอักขระขอมตัว “อุ” ทั้งด้านบนและด้านล่างเหรียญ
ส่วน เหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวก วัดแหวนหาย เรียกว่า “พิมพ์อุล่าง” ด้านหลังเป็นอักขระขอมที่เรียงกันอยู่ อ่านได้ว่า “พุท ธะ สัง มิ อุ นะ พะ ธะ อุ” ซึ่งจะมีตัว “อุ” เฉพาะด้านล่างเท่านั้น
เหรียญหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา รุ่นแรก
เหรียญรุ่นแรกนี้ จัดสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2512 เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลองพระประธานวัดแจ้งนอก จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2512 เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างขึ้นเป็นจำนวน 10,000 เหรียญการจัดสร้างเพียงเนื้อเดียว คือ เนื้อทองแดงรมดำ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปทรงไข่หูในตัว ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อคูณหน้าตรงครึ่งองค์ ขอบข้างบนมีข้อความจารึกว่า พระอาจารย์คูณ ปริสุทโธ
ขอบข้างล่างมีข้อความจารึกว่า วัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เหรียญตรงกลางเป็นอัครยันต์ มีข้อความล้อมรอบว่า ที่ระลึกฉลองพระประธาน วัดแจ้งนอก ในเมืองนครราชสีมา 9 สิงหาคม 12 พุทธคุณโดดเด่น ด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย