ประวัติย่อ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วาระ 153 ปี ชาตกาล
อ่านประวัติ ของปรมาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรม สายพระกรรมฐาน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในวาระ 153 ปี ชาตกาล บุคคลสำคัญของโลก
หากกล่าวถึงนามของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ย่อมเป็นที่รู้จักและทราบถึงเรื่องราวของท่าน ไม่มากก็น้อย ในภาพลักษณ์ของ แม่ทัพธรรม ที่เป็นดั่ง ครูใหญ่ ปรมาจารย์รูปสำคัญของ กองทัพธรรมภาคอีสาน และท่านยังได้รับการยกย่อง ตลอดชีวิตของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นั้น ท่านมีความแน่วแน่ในการสั่งสอนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แถบประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ได้รู้จักเรื่องของการทำสมาธิ เจริญภาวนา ซึ่งทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติได้รู้เองเห็นเองว่า ความสงบที่เกิดขึ้นในใจของตน จากการทำสมาธิภาวนานั้น ทำให้จิตใจมีความสงบ เยือกเย็น ไม่ร้อนรุ่ม วุ่นวาย จนทำให้ชื่อเสียงขององค์ท่านได้แผ่ขจรขจายไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ และท่าน บุคคลสำคัญของโลก ซึ่งมีความสำคัญต่อ"พุทธศาสนาของโลก" โดย องค์การยูเนสโก
ในปี2566 นี้ เป็นวาระครบรอบ 153 ปี ชาตกาล หลวงปู่มั่น จึงขอนำเสนอประวัติของท่านเพื่อเป็นการเผยแพร่บารมีธรรม
สำหรับประวัติของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เดิมชื่อ เด็กชาย มั่น แก่นแก้ว บิดามารดาชื่อ นายคำด้วง-นางจันทร์ แก่นแก้ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 20เดือนมกราคม พ.ศ. 2413 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในตระกูลชาวนา บิดามารดานับถือศาสนาพุทธ มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ได้เข้าบวชเณรตอนอายุ 15 ปี และสึกออกมาตามคำขอของบิดาตอนอายุ 17 ปีเพื่อช่วยงานทางบ้าน
ต่อมาเมื่ออายุได้ 22 ปี ท่านได้บรรพชาอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2436 ได้ฉายาว่า “ภูริทตฺโต” หลังอุปสมบทท่านได้ศึกษาในฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน (ธรรมยุต)กับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นท่านได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดปทุมวนาราม และได้ศึกษาอบรมกับท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)พ วัดบรมนิวาส
หลังจากนั้นท่านได้ออกฝึกปฏิบัติ “ธุดงคกรรมฐาน” ด้วยองค์ท่านเองตามลำพัง โดยธุดงค์ไปตามสถานที่ที่เป็นป่าเขา ถ้ำ เงื้อมผา ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน บางครั้งท่านก็ธุดงค์ไปยังประเทศพม่า ลาว หลวงพระบางเป็นต้น ซึ่งในระหว่างธุดงค์ไปนั้น ก็มีคณะศิษยานุศิษย์ที่เลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติขององค์ท่านได้ติดตามไปแบบห่างๆด้วย จนต่อมาพระสงฆ์เหล่านั้นได้เจริญงอกงามในธรรม จนกลายเป็นพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญๆในเมืองไทย เป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์และประชาชนชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมากมาย
หลวงปู่มั่น ได้อาศัยอยู่ตามป่าตามเขาตลอด 57 ปีของการบรรพชา ในช่วงระยะ 5 ปีที่ย่างเข้าวัยชรา จึงได้พำนักเป็นหลักแหล่ง ณ วัดป่าหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งช่วงนั้นท่านได้สั่งสอนอบรมศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ชื่อเสียงล่ำลือไปทั่วมีประชาชนนับถือทั่วประเทศ จนกระทั่งท่านอาพาธหนักเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2492 และท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2492 เวลา 02.23 น. และคณะศิษย์ได้ร่วมจัดงานประชุมเพลิงท่าน ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที 30 เดือนมกราคม พ.ศ. 2493 สิริรวมอายุได้ 80 ปี
สำหรับงานสำคัญของ หลวงปู่มั่น ในปีนี้ มีการจัดงานฟื้นรอยธรรมปฏิบัติบูชาสมาธิ 153 ปีชาตกาล “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” บุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ หวังกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน ประชาชน คนรุ่นใหม่ได้หวนกลับมาเรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติของพระสายป่า สอดแทรกศีลธรรม อันเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองวาระ 153 ปีชาติกาล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2566 ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อน้อมรำลึกถึงองค์ ทั่วประเทศและต่างประเทศ และ วันที่ 21 มกราคม 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น. ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร