เยือน วัดคฤหบดี กราบสักการะขอพร พระพุทธแซกคำ พระโบราณจากยุค พระนางจามเทวี
ไหว้พระขอพร เยือน วัดคฤหบดี พระอารามหลวง กราบสักการะ พระพุทธแซกคำ พระพุทธรูปสำคัญแต่โบราณ เกร็ดประวัติศาสตร์ระบุ สร้างในสมัย พระนางจามเทวี ถ้าขอพรต้องแก้บนด้วย อาหารอีสาน
พระพุทธรูปสำคัญนั้น มีด้วยกันหลายองค์ ซึ่งมีความสำคัญเป็นระดับพระพุทธรูปคู่บ้านขวัญเมือง พระพุทธรูปที่ผู้คนนับถือ ด้วยเชื่อมั่นในพุทธานุภาพ ที่เล่าลือขานกล่าว ในกรุงเทพฯ นั้น ช่วงยุคการสร้างบ้านสร้างเมือง ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามายังพระนคร เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้อาณาประชาราษฎร์ ทำให้อารามต่าง ๆ มีพระพุทธรูปโบราณประดิษฐานอยู่
ในจำนวนพระพุทธรูปที่อัญเชิญมานั้น มี พระพุทธแซกคำ รวมอยู่ด้วย
วัดคฤหบดี ตั้งอยู่ที่ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และมี“หลวงพ่อพระพุทธแซกคำ” ประดิษฐานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอาราม ที่มาที่ไป มีเกล็ดตำนานว่า พระพุทธรูปองค์นี้ เคยพระคู่บ้านคู่เมืองในสมัยอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัย สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์ 2 แผ่นดิน หลวงพระบาง กับ เชียงใหม่ ซึ่งพระองค์ ได้อัญเชิญ พระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ พระแก้วมรกต พระพุทธแซกคำ และ พระบาง ประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง จนเมื่อมีการ ย้ายราชธานี เพื่อตั้งรับต่อสู้กับ พระเจ้าบุเรงนอง แห่ง ราชอาณาจักรหงสาวดี จาก หลวงพระบาง สู่ เวียงจันทน์ ทำให้มีการประดิษฐานพรัพุทธรูปทั้ง 3 องค์ อยู่ยาวนานถึง 269 ปี
ภายหลังเหตุการณ์ เจ้าพระยาบดินทรเดชา ยกทัพปราบกบฏ เจ้าอนุวงศ์ อย่างราบคาบ ในช่วงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทำการอัญเชิญ พระพุทธแซกคำ กลับลงมาพระนคร รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานพระพุทธแซกคำให้มาเป็นพระประธานสถิตประดิษฐานในพระอุโบสถ พระอารามหลวงวัดคฤหบดี เป็นศรีสง่าแก่พระอารามนับตั้งแต่พุทธศักราช 2369 มาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับประวัติ ของ วัดคฤหบดี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่พระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุลภมรมนตรี เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 2367 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดคฤหบดีครั้งใหญ่ ทำให้อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีสภาพถาวรมั่นคงเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้พระราชทานตราประจำรัชกาลพระองค์ประดิษฐานไว้จนกระทั่งบัดนี้
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปคู่อาณาจักรล้านนา ยังมีเกร็ดประวัติการสร้าง ซึ่งมีการระบุบอกเล่าว่า มาจากการบอกเล่าของ พระเดชพระคุณ พระญาณรังสี หรือหลวงปู่ตุ๊ พรหฺมโชตะเถระ อดีตเจ้าอาวาสวัดคฤหบดีรูปที่ 9 เมื่อปี 2499 โดยท่าน ได้ปรารภถึงประวัติหลวงพ่อแซกคำว่าผู้ใดเป็นผู้สร้างกันแน่ และได้กล่าวเล่าเรื่องตำนานการสร้างไว้ดังนี้
ตำนานการสร้าง “หลวงพ่อพระพุทธแซกคำ” สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 คือในระหว่าง พ.ศ.1600-1800 นับจนถึงปัจจุบันมีอายุยาวนานถึงกว่า 950 ปีเข้าไปแล้ว ปี พ.ศ.2499
เมื่อพระนางจามเทวีได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริยาแห่งหริภุญชัยนคร พระนางเจ้าให้ช่างสร้างพระพุทธรูปขึ้นจำนวน 3 องค์ เพื่อเป็นการบูชาพระคุณ พระชนก และพระชนนี และ เป็นการฉลองในส่วนพระองค์เองด้วย เมื่อสร้างเสร็จแล้วจัดงานสมโภชพระพุทธรูปตลอด 3 วัน 3 คืน พระนางจามเทวี ทรงปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ สวยงามไม่มีที่ติ ถ้าหากว่ามีพระพุทธรูปองค์ใดงามยิ่งกว่า ก็ขอให้มาปรากฏให้เห็นในมณฑลพิธีนี้”
เมื่อจบคำอธิษฐานทั่วทั้งมณฑลพิธีตลบไปด้วยกลุ่มควันสีขาวและมีลำแสงทอดลงมาจากนภากาศและปรากฏเห็นพระพุทธรูปมีลักษณะงดงามมาก แหวกอากาศลงมาตามลำแสงสีทองคำ มาตั้งประดิษฐานแซก (แทรก) อยู่ในระหว่างพระพุทธรูป 3 องค์นั้น พระนางจามเทวีเห็นอัศจรรย์ดังนั้นยิ่งมีจิตโสมนัสเป็นอย่างมาก โปรดฯให้จัดงานสมโภชฉลองจนครบ 9 วัน 9 คืน
และตั้งชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า “พระพุทธแซกคำ” เหตุเพราะแหวกอากาศลงมาตามลำแสงสีทองคำ มาตั้งแซก (แทรก) อยู่ท่ามกลางพระพุทธรูปทั้ง 3 จึงได้นามว่า พระพุทธแซกคำ จากนั้นมากล่าวขานกันว่า ท้าวสักกะ อินทราธิราช ได้เนรมิตสร้าง พระพุทธแซกคำ เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป เชื่อกันว่า เป็นพระศักดิ์สิทธิ์
สำหรับการมาขอพร ต่อหลวงพ่อพระพุทธแซกคำ โดยผู้ที่มีความเลื่อมใส ต่อ พระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อมาทำการบนบานศาลกล่าว ในเรื่องต่าง ๆ นั้น เมื่อการขอพรตามที่บนบานนั้นสำเร็จประโยชน์ สมปรารถนาแล้ว จะทำการแก้บน ด้วยไข่ดิบ หรือ เมนูอาหารอีสาน เช่น ส้มตำปลาร้า ลาบ น้ำตก เป็นต้น