บรมครูแห่งลุ่มน้ำท่าจีน พระครูวิมลคุณากร 'หลวงปู่ศุข เกสโร' ตอนที่ 1
ปฐมบทสู่ความเป็นบรมครู คู่บารมี กรมหลวงชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข เกสโร แห่ง วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท
หลวงปู่ศุข แห่ง วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท ชื่อนี้คงไม่มีนักนิยมพระเครื่องผู้ใดปฏิเสธ ถึงความเกรียงไกรในชื่อเสียง และบารมีของท่านไปได้ และหากจะกล่าวถึงพระเครื่องมากมายหลายพิมพ์ ที่ท่านได้สรรค์สร้าง และปลุกเสกเอาไว้แล้วก็คงต้องจัดให้เป็นของดีวิเศษสุด ที่นักนิยมพระเครื่องต่างเสาะหา และยกย่องเทิดทูนให้เป็นพระเครื่องอันดับหนึ่ง ของวงการ
จุดเริ่มต้นที่บันทึกเรื่องราวของ หลวงปู่ศุข ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 4 ปีจอ พ.ศ. 2390 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ณ บ้านข้างวัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ท่านเป็นบุตรของนายน่วม และนางทองดี เกศเวชสุรยา หลวงปู่ศุขเป็นบุตรชายคนโต มีพี่น้องต่อมาอีก 8 คน ครอบครัวเป็นชาวไร่ พออายุได้ 7 ขวบ บิดามารดาก็นำไปฝากกับพระอาจารย์ ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า หรือเดิมชื่อว่าวัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อเล่าเรียนหนังสือไทย และขอมการเล่าเรียนของท่านเชี่ยวชาญ แตกฉาน จนกระทั่งอายุได้ 18 ปี ก็อำลาวัดออกไปท่องเที่ยว หาประสบการณ์อยู่พักหนึ่ง และเมื่ออายุได้ 20 ปี ก็หวนกลับไปอุปสมบท เป็นพระภิกษุที่วัดโพธิ์ทองล่าง โดยมีอาจารย์เชย จันทสิริ เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์
ข้อมูลจาก แฟนเพจ คนขลัง คลังวิชา ของ ไตรพล นาคสมบูรณ์ ได้เขียนข้อมูล อาจารย์เชย หรือ หลวงพ่อเชย ไว้ว่า พระอุปัชฌาย์เชย เป็นพระเถราจารย์ยุคเก่าที่มีตบะบารมีสูง ทรงคุณวิเศษ มีฌานอภิญญาอันแก่กล้า เป็นพระที่ถือเคร่งในพระธรรมวินัย เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระสั่งสอนพระวิปัสสนากรรมฐาน มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เก่งกล้าในวิทยาคม มีกิตติคุณชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่อง การสงเคราะห์ชาวบ้านด้วยว่านยาสมุนไพร รักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง หลวงปู่เชย เป็นพระอุปัชฌาย์ให้อุปสมบท แก่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า (โดยให้นามฉายาแก่หลวงปู่ศุขว่า “เกสโร ภิกขุ” ) เมื่อหลวงปู่ศุขบวชเป็นพระแล้ว ก็ได้ศึกษาวิชาความรู้ด้านพระวิปัสนากรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงปู่เชยเป็นอันดับแรก จึงกล่าวได้ว่า หลวงปู่เชยเป็นทั้งพระอุปัชฌาย์ และเป็นพระอาจารย์รูปแรกของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท
หากจะกล่าวถึงกิตติคุณความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่เชย แห่งวัดโพธิ์ทองล่างแล้ว กล่าวได้ว่า “ท่านเป็นพระที่เป็นตำนานไปแล้ว” แม้ชื่อเสียงของท่านจะไม่โด่งดังมากเหมือนอย่างลูกศิษย์ของท่าน (หลวงปู่ศุข) แต่ทว่าเรื่องอิทธิคุณบุญฤทธิ์ความศักดิ์สิทธิ์นั้นเหนือคำบรรยายแน่นอน ดังคำกล่าวที่ว่า “ศิษย์เก่งได้ เพราะมีครูดี”
ต่อมา หลวงปู่ศุข ได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามง่าม ปทุมวัน เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม และย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงครามบางลำพู ณ ที่นี่ท่านได้พบกั บหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร ได้ศึกษาวิชาต่างๆร่วมกันท่านทั้งสองจึงมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ เมื่อในกาลต่อมา สมัย เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพร เขตร์อุดมศักดิ์ มาศึกษาพุทธาคมกับท่าน เมื่อสำเร็จแล้ว หลวงปู่ศุข จึงได้แนะนำให้ กรมหลวงชุมพร เสด็จไปเรียนเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อเงิน
นอกจากการเรียนวิชาการทั้งพระธรรมและอาคมในเมืองกรุง จากอาจารย์เชย สำนักวัดสามง่าม สำนักวัดชนะสงคราม หลวงปู่ศุข ยังเรียนกับ
อาจารย์เปิง วัดชินวนาราม และหลวงปู่เฒ่า วัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย
และมีเกร็ดตำนานที่ว่ากันว่า หลวงปู่ศุข ได้มีโอกาสเรียนวิชาสำคัญ นั่นคือ “รสายนเวท” หรือการเล่นแร่แปรธาตุ กับ หลวงปู่ทับวัดอนงคาราม ซึ่งหลวงปู่ทับ รูปนี้ ท่านมีชื่อเสียงในวิชาเล่นแร่แปรธาตุ จนสามารถสร้าง พระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์ เมฆพัตร ที่โด่งดัง
เมื่อการสะสมวิชาพร้อมสรรพทั้งวิปัสสนา กรรมฐาน อาคมขลัง หลวงปู่ศุข จึงธุดงค์เดินทางกลับสู่ดินแดนบ้านเกิด
โปรดติดตามตอนต่อไป....