ประวัติ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ตอนที่ 2
ประวัติของเถราจารย์แห่ง คลองบางกอกใหญ่ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดูฉิมพลี เรื่องราวในช่วงการออกธุดงค์ ศึกษาวิทยาคม ตอนที่ 2
หลังที่ได้บวชเรียน ที่ วัดประดู่ฉิมพลี แล้วหลวงปู่โต๊ะ ได้เรียนศึกษาปฏิบัติคันทธุระ วิปัสสนาธุระ หลวงปู่โต๊ะ ท่านเป็นคนมีความเพียรพยายาม จนกระทั่งสอบได้นักธรรมชั้นตรี ต่อมาพระอธิการคำ ได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีสืบต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456
หนังสือชีวประวัติและวัตถุมงคล หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณโณ วัดประดู่ฉิมพลี ท่าพระ กทม. โดยนิตยสาร ไทยพระ ได้บอกเล่าเรื่องราวของท่านในช่วงหลังจาก ท่านเป็นเจ้าอาวาส แล้วไว้ว่า หลวงปู่โต๊ะ ท่านได้ออกธุดงค์ ตามภาคต่าง ๆ เพื่อฝึกปฏิบัติธรรม รวมทั้งยังเรียนวิทยาคมกับครูบาอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ
ครูบาอาจารย์รูปสำคัญ ของ หลวงปู่โต๊ะ ที่มีการระบุไว้ เช่น หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ซึ่งเกจิรูปนี้ เป็นศิษย์ในสายพุทธาคม หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท ท่านมีชื่อเสียง ในวิชาคงกระพัน แคล้วคลาด
หลวงปู่โต๊ะ มีสหธรรมิก ที่มีชื่อเสียง คือ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งหลวงพ่อสด แนะนำ ให้หลวงปู่โต๊ะ ไปเรียนกรรมฐานกับ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน สุพรรณบุรี เป็นสายวิชา หนึ่งในเจ็ด สำนักวิชาเมืองสุพรรณบุรี ที่มีปรมาจารย์ คือ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย
นอกจากการไปเรียนยังอารามต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงวัดประดู่ฉิมพลี หลวงปู่โต๊ะ ยังได้เรียนกรรมฐาน ในสำนักวัดพลับหรือ วัดราชสิทธารามราชวรวิหารซึ่งในอดีตเป็นอารามอรัญวาสี หรือ วัดป่า เก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
เริ่มมีความสำคัญขึ้นมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้สร้างพระอารามหลวงใหม่ติดกับวัดพลับ แล้วโปรดให้รวมเป็นวัดเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระญาณสังวรเถร (สุก) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ทรงเคารพเลื่อมใสและโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์มาศึกษากรรมฐานกับพระญาณสังวรเถร ทำให้วัดราชสิทธารามเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญมาแต่ครั้งนั้น
โปรดติดตามตอนต่อไป