ประวัติ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เทพเจ้าแห่งเมืองนคร ตอนที่ 3
ประวัติของ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เทพเจ้าแห่งเมืองนครศรีธรรมราช เยือนสถานที่ ที่ว่ากันว่า เป็นจุดเริ่มต้น ของ วาจาสิทธิ์
ถนนสายยาว ที่ทอดตัวไปตลอดทางจากจันดี สู่อำเภอพิปูน นครศรีธรรมราช อ.ดิว เจ้าพยัคฆ์จันดี ได้บอกเล่าเรื่องราวของสานที่ที่ เราทั้งสองคน กำลังเดินทางไปด้วยรถยนต์
“สถานที่นี้แหละ คือที่ที่ พ่อท่านคล้าย ได้วาจาสิทธิ์” อาจารย์ดิว ชะลอรถขณะเอ่ยขึ้น พร้อมเลี้ยวเข้าในพื้นที่ของวัดแห่งหนึ่ง
ชื่อว่า วัดโบราณาราม หรือ วัดเก่า
วัดโบราณาราม ซึ่งในปัจจุบันตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลพิปูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวัดที่เก่าแก่ มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานราชการ บันทึกไว้ว่า วัดนี้ ได้ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2433 เป็นวัดมหานิกาย
เมื่อรถจอดสนิท อาจารย์ดิว พาผมไปกราบรูปเคารพพระสงฆ์สองรูป ซึ่งตั้งอยู่เด่นชัดเมื่อเข้ามาในพื้นที่ หลังสักการะเสร็จสิ้น จึงได้บอกผมว่า รูปปั้นด้านซ้ายคือ พ่อท่านเจ้าฟ้า และ ด้านขวา คือ พ่อท่านคล้าย
เรานัดกับ คุณจักร วัดโบราณาราม คนพื้นที่ที่นี่ อยู่เกล้เคียงวัดเก่า ได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าตำนานมาจากคนเฒ่าคนแก่ ที่อาศัยอยู่ตรงนี้ เพื่อมาบอกเล่าให้ผมฟังด้วยว่า พ่อท่านคล้าย เกี่ยวข้องอะไรกับ พ่อท่านเจ้าฟ้า แล้ว วาจาสิทธิ์ ที่มีชื่อจนทุกคนรู้จัก พ่อท่านคล้าย ได้มาได้อย่างไร?
คุณจักร เล่าว่า วัดนี้ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเชื่อกันว่า วัดแห่งนี้ เป็นวัดหลักหรือ เป็นวัดศูนย์รวมของวัดทั้งหมดในแถบนี้ โดยมีพระเจดีย์ช้างประลองงาคู่ ที่สร้างมานานจนไม่สามารถสืบประวัติได้ แต่วัดนี้ มีวัดบริวาร เช่น วัดนอก วัดใน วัดเมรา วัดเขาวง วัดเขาพระ ตลอดจนทุกวัดใน อำเภอพิปูน ล้วนแต่สร้างขึ้นหลังจากวัดเก่าทั้งสิ้น มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยสมภารแก้วปกครองวัดอยู่ ได้มีทัพพม่า (คาดการณ์ว่า อาจจะเป็นช่วงสมัยสงครามเก้าทัพ -ผู้เขียน) เข้ามารุกไล่ชาวบ้าน จนพระเถรเณรชีต่างเข้าป่ากันหมด ทิ้งไว้แต่สมภารแก้ว ซึ่งชราภาพมากแล้ว ให้เฝ้าวัดแต่เพียงองค์เดียว
ทหารพม่าที่มาไล่ต้อนชาวบ้านกลุ่มนั้น ได้เกิดกระหายน้ำ หาน้ำในภาชนะในวัดทุกแห่ง บ้านเรือนที่ทิ้งร้าง ก็ไม่มีน้ำให้ดื่มกิน ก็เคลื่อนกำลังจนมาถึงวัดโบราณาราม และพบว่าในวัดนั้น มีต้นมะพร้าวอยู่ ทหารพม่าก็เอาดาบฟันทลายมะพร้าวหน้ากุฏิของสมภารแก้วลงมาโดยพลการ ไม่ฟังคำตักเตือนของสมภารแก้วว่า มะพร้าวนั้นไม่มีน้ำและไม่มีเนื้อเลย ทหารพม่าคิดว่า สมภารแก้วหวงมะพร้าวเอาไว้ขาย จึงฟันทะลายมะพร้าวลงมาแล้วผ่าเอาน้ำมาดื่มกิน แต่ด้วยเหตุอัศจรรย์ มะพร้าวทุกลูกที่ผ่าออกมา จะไม่มีน้ำและมีเนื้อแต่อย่างใด ดังนั้นจึงรุมกัน เตะอัณฑะของสมภารแก้ว
สมภารแก้วบอกว่าเป็นบาปกรรมติดตัวไปตายเสียเปล่า ฟ้าจะผ่าตาย เมื่อเตะจนหนำใจแล้วก็ออกจากวัดไป และในขณะนั้นเองก็บังเกิดฟ้าลั่นและผ่าลงมาถูกทหารพม่าตายหมด ทั้งๆที่ในเวลานั้นเป็นเวลากลางวันและแสงแดดจัด ชาวบ้านพอทราบข่าวการตายของทหารพม่า ก็กลับมายังบ้านเรือนของตนเอง และทราบถึงอภินิหารของสมภารแก้วแล้ว จึงได้ขนานนามแก่สมภารแก้วว่า “ พ่อท่านเจ้าฟ้า วาจาสิทธิ์” ตั้งแต่นั้นมา
ในยุคสมัยของพ่อท่านคล้าย วัดเก่าแก่แห่งนี้ เหลือเพียงเจดีย์โบราณ 2 องค์ มีชื่อว่า พระเจดีย์ช้างประลองงาคู่ ด้วยมีเรื่องเล่าเช่นกันว่า มีช้างพลาย พาลูกฝูงออกมาหากิน และพบเจดีย์ ก็มุ่งเข้าจะใช้งาแทงเจดีย์ แต่ไม่สามารถสร้างความเสียหายต่อองค์เจดีย์ได้
ปฐมบทการบูรณะวัดโบราณาราม คุณจักร เล่าให้ผมฟังว่า เรื่องนี้ เริ่มจากการที่ พ่อท่านคล้าย ได้ฝันถึงภิกษุรูปหนึ่ง ในนิมิต และบอกกล่าวให้ท่าน มาทำการซ่อมแซมวัดร้างแห่งนี้ และแนะนำตัวเองว่า ชื่อ พ่อท่านเจ้าฟ้า
เมื่อตื่นจากฝันนั้น พ่อท่านคล้าย ก็ได้สืบหน้าวัดร้าง ตามในฝันนั้น ก็มาพบกับเจดีย์คู่ร้าง ไม่มีสัณฐานวัดเหลือแล้ว ท่านจึงได้เริ่มต้นลงมือการบูรณะวัดนี้ ปฐมฤกษ์การบูรณะคือ การปั้นหุ่นของ พ่อท่านเจ้าฟ้า เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะ และได้รับรู้ถึงการมีตัวตนของท่าน
ขณะที่การบูรณะกำลังดำเนินการขึ้น ชาวบ้านก็มีความกังวลกันว่า พ่อท่านคล้าย จะไม่สามารถซ่อมแซมได้สำเร็จ เรื่องนี้ ได้รับรู้ถึงตัวท่าน พ่อท่านคล้าย จึงได้ กล่าวให้ทราบกันว่า การบูรณะวัดแห่งนี้ท่านจะทำให้สำเร็จเป็นวัดขึ้นมา และในที่สุดการบูรณะวัดก็สำเร็จลุล่วงสมปรารถนา ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา พ่อท่านคล้าย และกล่าวว่า ท่านนั้น มี วาจาสิทธิ์ แบบเดียวกับ พ่อท่านเจ้าฟ้า เกจิอาจารย์ในอดีต เพราะวาจาที่กล่าวออกมา กลายเป็นจริง ดั่งที่ท่านพูด
และทำให้ ชื่อ พ่อท่านคล้าย จึงมีคำว่า วาจาสิทธิ์ ต่อท้าย นับแต่นั้นมา….
และเมื่อพูดถึง พ่อท่านคล้าย ย่อมจะไม่พูดถึง เทพประจำตัวท่านเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นหนึ่งในตำนาน ที่เกี่ยวพันกับท่าน อย่างแยกไม่ได้
จากการค้นหาข้อมูลของ เทพ ประจำตัวของ พ่อท่านคล้าย นั่นคือ พระอุเชนทร์ ซึ่งมีระบุไว้ว่า พระอุเชนทร์ เป็นเทพเจ้าประจำอำเภอฉวางและประจำกรมช้างกลาง ทำด้วยหินทรายแดง เมื่อกรมช้างกลางถูกลดบทบาทลงโดยให้กรมการอำเภอฉวางจับช้างแทน ในอดีตนั้นเมือง นครศรีธรรมราช มีการจับช้างเพื่อส่งเข้าถวายงานในเมืองหลวง และบางเชือกส่งไปฝึกและขายไปยังต่างประเทศ ดังนั้น พระอุเชนทร์ จึงมีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาล
มีเรื่องเล่ากันว่า พระอุเชนทร์ แต่เดิมนั้นได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ถ้ำพรรณรา ในอดีตเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอฉวาง และถูกนำมาจากถ้ำพรรณราเพื่อนำมาประดิษฐานที่ว่าการอำเภอฉวางเก่าในปี พ.ศ.2442
โดยสมัยนั้นเรียกว่า “วังอ้ายล้อน” ต่อมามีการย้ายที่ว่าการอำเภอ วังอ้ายล้อนจึงถูกทิ้งให้เป็นป่ารกร้าง ปัจจุบันคือสวนของชาวบ้านอยู่ตรงข้ามกับวัดโคกหาดตั้งอยู่ริมคลองที่ไหลมาจากคุดด้วน เข้าใจว่าไม่ได้มีการนำ พระอุเชนทร์ ไปด้วย
หลังจากนั้นก็เกิดสิ่งประหลาดบ่อยครั้งคือ ชาวบ้านมักได้ยินเสียงโห่ร้องเหมือนคนโห่ดัง แหวๆๆ โดยดังมาจากทางวังอ้ายล้อน เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 10 กว่าปี ชาวบ้านละแวกนั้น
ต่อมา เมื่อครั้งที่ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ พระเถระผู้ได้รับการยกย่องว่า ท่านคือเทวดาเมือง นครศรีธรรมราช ยังครองวัดสวนขันอยู่นั้น พ่อท่านคล้าย ได้ทราบถึงเรื่องจากคำเล่าลือกันของชาวบ้าน ถึงเรื่องอภินิหารจากคำเล่าลือกัน ว่า พระอุเชนทร์ จมอยู่ใต้น้ำที่คุ้งน้ำ วังอ้ายล้อน แต่ไม่มีใครไม่สามารถนำขึ้นมาได้ จมมานานแค่ไหนไม่มีใครรู้ แต่ไม่กล้าบอกให้ใครทราบหลายปีผ่านไป พระอุเชนทร์ แสดงอภินิหาร โดยจะมีเสียงช้างร้องดังมากในเวลา กลางคืน ยิ่งเป็นวันพระ ยิ่งร้องเสียงดัง ทำเอาชาวบ้านละแวกนั้นต่างหวาดกลัว
พ่อท่านคล้ายทราบเรื่องนี้จึงบอกว่า “นั่นคือ เสียงพระอุเชนทร์” จึงเรียก นายเงินไปพบ เมื่อ พ่อท่านคล้ายทราบเรื่อง พระอุเชนทร์ โดยละเอียดแล้ว เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2469 พ่อท่านคล้าย พร้อมด้วยชาวบ้านได้พาเรือของเจ๊กกวด เป็นเรือยาวประมาณ 3 วา ล่องมาทางคลองคุดด้วน ระหว่างนั้นฝนตกหนักมาก ทั้งหมดเดินทางไปจนถึงที่ พระอุเชนทร์ ประดิษฐานอยู่ พ่อท่านคล้าย ได้ทำพิธีอัญเชิญกลางสายฝน
โดยจุดเทียนขึ้นมากลางสายฝนโดยเทียนไม่ดับ เมื่อสารวัตรเสน เข้าไปอุ้ม พระอุเชนทร์ เทียนก็ดับทันที ระหว่างกลับวัด พ่อท่านคล้ายถามว่า “หนักม้ายละบ่าว” สารวัตรเสนตอบว่า “ไม่หนัก” ระหว่างที่พ่อท่านคล้ายล่องเรือกลับพร้อมชาวบ้านที่ไปงมเอา พระอุเชนทร์ ขึ้นมา เกิดลมแรงและฝนตกหนักมากทั่วบริเวณ พ่อท่านคล้ายจึงพูดขึ้นว่า “ที่ยังกว้าง ฝนตกไม่ถึงเรือ” ปรากฏว่าก็เป็นจริงดังนั้นฝนตกไปได้เพียงครึ่งทางก็หยุด โดยฝนตกไล่ตามหลังเรือมาแต่ตามมาไม่ถึงเรือจนถึง วัดสวนขัน
เมื่อถึง วัดสวนขัน มีชาวบ้านประมาณ 200 คนมารอรับ ทั้งหมดได้ตั้งขบวนแห่พระอุเชนทร์ไปประดิษฐานที่กลางพระอุโบสถ และทำพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ ปัจจุบันพระอุเชนทร์ องค์นี้ยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดสวนขันบนกุฎิหลังเก่าของพ่อท่านคล้าย อยู่เป็นคู่บุญบารมีกับพ่อท่านคล้ายตลอดมา