ไหว้พระขอพร ที่ สุพรรณบุรี สักการะ 4 อารามสำคัญ
ท่องเที่ยวเมืองรอง เชิงสายมูเตลู ไหว้พระขอพร 4 อารามสำคัญแห่ง สุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร วัดแค วัดพระลอย และ วัดสังฆจารเถร
สุพรรณบุรี นั้น เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีพระคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญ เป้นแหล่งพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่านับแต่โบราณกาล จนยุคปัจจุบัน มีทั้งเรื่องราวนานกาล ตำนานแห่งท้องถิ่น ที่บอกเล่ากล่าวขานยาวนานไม่รู้จบ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีวัตถุมงคลชื่อดังระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพระขุนแผน พระมเหศวร
สำหรับวัดวาอารามในสุพรรณบุรี ที่น่าสนใจ และมีความเชื่อในด้านมูเตลู ที่หลายๆคนที่มีความศรัทธา มักจะไปไหว้ขอพร ขอกำลังใจ เรียกว่ามีด้วยกันหลายวัด แต่ที่เด่นๆ ที่เป็นไฮไลต์ แต่จะมีวัดไหนกันบ้าง ชวนติดตามในครั้งนี้
ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อการศึกษาวิถีวัฒนธรรม ชุมชน เชิงประวัติศาสตร์(ตามรอยขุนช้างขุนแผน)จังหวัดสุพรรณบุรี นำสื่อมวลชนไทยเดินทางศึกษาวิถีวัฒนธรรม ชุมชน เชิงประวัติศาสตร์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ
วัดแค
เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดี เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี อยู่ทางเหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตำนานพื้นถิ่นอิงเรื่องราวของ ขุนช้างขุนแผน ได้เล่าขานไว้ว่า อารามแห่งนี้ เป็นสถานที่เรียนวิชาอาคมของ ขุนแผนกับพระอาจารย์คง ในการเรียนวิชาเสกใบมะขาม ซึ่งว่ากันว่าเสกจากใบมะขามจากต้นมะขามโบราณที่อยู่ภายในวัด นอกจากนี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า “คุ้มขุนแผน” ไว้ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้อีกด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสวัดแคเมื่อ พ.ศ. 2447
วัดนี้มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธบาทสี่รอย ทำด้วยทองเหลือง กว้าง 1.40 เมตร ยาว 2.80 เมตร สร้างซ้อนกันไว้ในรอยใหญ่ นอกจากนี้ก็มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบศิลปะรัตนโกสินทร์ จีวรและอังสะเป็นดอกพิกุลงดงามมาก ประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าพระประธาน สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ก็มี เช่น ระฆังทองเหลือง หม้อต้ม กรักทองเหลือง ตู้ใส่หนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเมื่อปี 2412
วัดพระลอย
อีกหนึ่งวัดที่มีความน่าสนใจ ด้วยเป็นอารามโบราณคู่เมืองสุพรรณบุรีอีกหนึ่งแห่ง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง มีโบสถ์โบราณที่เป็นซากปรกหักพัง ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์โดยสร้างอุโบสถใหม่ครอบไว้ และยังมีอุโบสถหลังใหม่ ตามข้อมูลทางการระบุไว้ว่า แต่เดิมในอดีตเรียกกันว่า วัดชลอ สาเหตุที่สร้างวัดนี้น่าจะมาจากที่มีพระพุทธรูปปางนาคปรกเนื้อหินทรายขาวลอยมาตามแม่น้ำท่าจีน จึงได้ทำพิธีอาราธนาขึ้นมาจากแม่น้ำ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี ยังมีตำนาน
เล่าขานกันว่า บริเวณวัดพระลอยในปัจจุบัน เดิมมีวัดเก่าแก่ อยู่ 2 วัดคือ วัดกระโจมทอง และวัดมาลา ต่อมาวัดทั้งสองร้างไป จึงได้รวมวัดเป็นวัดพระลอย วัดมีพระพุทธรูปนาคปรก 2 องค์ องค์ล่างทางวัดจำลองจากองค์จริงไว้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ ปิดทอง ส่วนองค์บนเป็นพระนาคปรกองค์จริง ประดิษฐานอยู่กับวัดมานานแล้วในวิหาร ชาวบ้านมากราบไหว้ขอพรเรื่องค้าขาย หน้าที่การงาน
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรีชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดป่า ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโตปางป่าเลไลยก์ เดิมที หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนา เช่นเดียวกับพระพุทธรูปศิลาขาว หรือหลวงพ่อประทานพร วัดพระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้มีการบูรณะและทำเป็นปางป่าเลไลยก์ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“หลวงพ่อโต” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารสูงเด่นเห็นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ องค์พระสูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย จำนวน 36 องค์ ที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย
สำหรับหน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์ มีเครื่องหมายพระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์ นอกจากนั้นบริเวณด้านหลังอุโบสถที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ยังมี ศาลาเล็ก ๆ ที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ ที่มีความศักสิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
วัดป่าเลไลยก์วรวิหารสร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ภายหลัง พ.ศ. 1724
นอกจากนี้ สำหรับวัดป่าเลไลยก์ มีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีอันลือชื่อของไทย คือ เสภาขุนช้างขุนแผน ซึ่งระเบียบคดของพระวิหารหลวงพ่อโตนั้น มีการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง เนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดของ เสภาขุนช้างขุนแผน เรียกได้ว่า งดงาม ชวนติดตาม และสามารถทำความเข้าใจภาพรวมของเรื่องราวในตำนานเรื่องนี้ได้อย่างไม่ยากนัก
วัดสังฆจายเถร
วัดแห่งนี้มีข้อมูลกล่าวไว้ว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2464 ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง วัดสังฆจายเถร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งจากหลักฐานมีเจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งสร้างมาประมาณ 600 กว่าปี กรมศิลปกรมาจดขึ้นทะเบียนแล้ว แต่เดิมนั้นวัดนี้มีชื่อว่า"วัดวังฆ้อง" พึ่งมาเปลี่ยนเป็นวัดสังฆจายเถร ได้ประมาณ 99 ปี ที่ได้ชื่อว่าวัดสังฆจายเถร คนเก่าเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อวัดเป็นชื่อวัดสังฆจายเถร บริเวณวัดแห่งนี้เป็นป่ารกทึบ มีสิงห์สาราสัตว์นาๆ ชนิด อาศัยอยู่ในพื้นที่ และเป็นพื้นที่อาศัยของกลุ่มชาวลาวเวียง ลาวโซ่ง รวมทั้งคนจีน
ต่อมามีชาวจีนได้มาทำการถากถางป่าเพื่อที่จะเป็นพื้นนาไว้ทำมาหากิน ไถดินบริเวณวัดเจอพระพุทธรูปองค์หนึ่งเป็นเนื้อหินทราย มีลักษณะอ้วน ขนาดหน้าตักประมาณ 9 นิ้ว จึงนำไปมอบให้แก่ท่านเจ้าอาวาสในยุคนั้น ท่านเจ้าอาวาสทราบว่าเป็นพระสังกัจจายน์ ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี จึงเรียกชาวบ้านมาคุยกันว่าวัดของเรานั้นเป็นวัดเก่าแก่มีเจดีย์ทรงปรางค์เป็นหลักฐาน
จึงมีความเห็นในการเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ให้ชื่อว่า วัดสังฆจายเถร เพราะพระสังกัจจายน์ที่ขุดเจอนั้น ตามประวัติทางพระพุทธศาสนาท่านเป็นพระเถระองค์หนึ่งในสาวก 80 องค์ที่เป็นพระอรหันต์ จึงได้ชื่อว่าพระสังกัจจายน์เถระ จึงได้นำชื่อของท่านมาเป็นชื่อวัดว่า "วัดสังฆจายเถร" นับตั้งแต่นั้นมาก็ใช้ชื่อนี้มาโดยตลอด จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในนามวัดสังฆจายเถร มาจนถึงปัจจุบัน
ในยุคสมัยปัจจุบัน ได้มีการสร้างพระสังขจาย์องค์ใหญ่ในปางนั่ง เป็นที่สักการะบูชา พร้อมกับมีการสร้างพระบูชาประจำนักษัตร รวมทั้งสร้างองค์บูชาท้าวเวสสุวรรณ อยู่ลานด้านหน้าวัด เพื่อให้ประชาชนที่มีความศรัทธาได้กราบไหว้ขอพร โดยสามารถที่จะขอพรผ่านการจับกระบองของท้าวเวสสุวรรณ เพื่อความเป็นสิริมงคล.