ศรัทธาสายมู

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธื์ ' ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ' รับมงคล สงกรานต์พระประแดง

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธื์ ' ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ' รับมงคล สงกรานต์พระประแดง

21 เม.ย. 2566

รู้จักสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองนครเขื่อนขันธ์ 'เจ้าพ่อหลักเมือง ่ สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ตามคติความเชื่อพรามหมณ์ ควรไหว้เสริมมงคลช่วงเทศกาลสงกรานต์พระประแดง

นครเขื่อนขันธ์ หรือ พระประแดง พื้นที่ถิ่นชาวมอญ ช่วงเวลา 21 – 23 เม.ย. นี้ ได้มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์พระประแดง 2566 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานสงกรานต์ที่ได้รับความนิยม ความคึกคักตั้งแต่สงกรานต์ใหญ่ที่ผ่านมา เชื่อว่า สงกรานต์พระประแดงครั้งนี้ ก็คงสนุกไม่แพ้กัน 


เมื่อพูดถึงเมืองพระประแดง ถ้านอกเหนือจากงานสงกรานต์ ในเรื่องความเชื่อความศรัทธา พระประแดงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และที่พึ่งทางความเชื่อ นั่นคือ ศาลหลักเมืองพระประแดง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง
ศาลหลักเมือง นั้น เป็นคติของศาสนาพราหมณ์ ที่เผยแพร่ขึ้นมาจากนครศรีธรรมราช สู่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตามลำดับ ส่วนใหญ่ ศาลหลักเมืองจะเป็นเสาไม้กลึงยอดรูปดอกบัว แต่ก็จะมี ศาลหลักเมือง ไม่กี่ศาลที่ยอดเสา หรือ เทพยดาประจำศาล เป็นเทพเจ้าทางศาสนาพราหมณ์ 
ศาลหลักเมืองพระประแดง เป็นหนึ่งในศาลที่มีมหาเทพ อย่าง พระพิฆเนศ เป็นองค์ประธาน 
 

สำหรับศาลหลักเมืองพระประแดงนั้น เป็นการผสมผสาน ระหว่างความเชื่อแบบจีน ด้วยตัวศาลที่ได้รับการบูรณะดูแล จากคนไทยเชื้อสายจีน และตั้งอยู่ในดินแดนของชาวมอญ ที่มาตั้งรกรากในไทย รวมทั้งความเชื่อและวัฒนธรรมของมอญ

เจ้าพ่อศาลหลักเมืองพระประแดง หรือ พระพิฆเนศ นั้น ได้รับการเคารพยกย่องอย่างมาก จากคนในพื้นที่ การขอพร ในเรื่องหน้าที่การงานโชคลาภนั้น ผู้คนได้ผลตามความปรารถนา เพราะด้วย พระพิฆเนศ ตามคติความเชื่อ ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ การจะทำการหรือพิธีใด ๆ ต้องบูชา พระพิฆเนศ ก่อนทุกครั้ง เพื่อความสำเร็จตามต้องการ

องค์เจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง ภาพจาก เฟซบุ๊ก กลุ่มจอบเกาะหมู
ทั้งนี้ ที่เห็นเป็นเทวรูป พระพิฆเนศ หรือ องค์เจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง นั้น ด้านล่างของเทวรูป เป็นตัวเสาหลักเมืองนครเขื่อนขันธ์ ที่ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2  โดยสมิงทอมา ทายาทของเจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์ (เจ่ง คชเสนี) ขุนนางชาวมอญ ที่นำพลจากเมาะตะมะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และมาอยู่ที่สามโคก ก่อนจะรับพระบัญชาจากรัชกาลที่ 2 ให้สมิงทอมา ย้ายชาวมอญมาดูแลเมือง เพราะชาวมอญเชี่ยวชาญการป้องกันเมืองและทะเล จึงได้อัญเชิญเทวรูปพระพิฆเนศเป็นองค์ประธาน เชื่อกันว่า ส่วนหนึ่งเพื่อสื่อถึง เจ้าพระยามหาโยธา เพราะนามในภาษามอญ ชื่อว่า เจ่ง ซึ่งแปลว่า ช้าง นั่นเอง
 

ภายในศาลหลักเมืองจะมีรูปหล่อองค์พระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกแบบไทย มีลักษณะเป็นพระพิฆเนศศิลา มีสี่พระกร พระกรขวาบนถือตรีศูล พระกรซ้ายบนถือปาศะ (บ่วงบาศ) พระกรขวาล่างถืองา และพระกรซ้ายล่างถือถ้วยขนม ทรงประทับนั่งบนฐานบัวหงาย และมีความงดงามแบบเรียบง่าย เนื่องจากที่องค์เทวรูปแทบจะไม่มีลวดลายเครื่องประดับใดๆ เลย และเราจะไม่เห็นเสาหลักเมือง เพราะเนื่องมาจากตัวเสาหลักเมืองนั้น จะอยู่ที่ใต้ฐานขององค์พระพิฆเนศ หรือ เจ้าพ่อหลักเมือง พอดี ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเสาก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสและทาด้วยสีแดง


การสร้างหลักเมืองขึ้นโดยยึดถือเอาตามแบบศาสนาพราหมณ์ โดยมีเมืองเล็กๆ หลายๆ เมืองรวมกันเป็นเมืองใหญ่ อย่างเช่น หลักเมืองที่มีความเก่าแก่ที่สุดของสยามประเทศ นี้คือ หลักเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ สร้างด้วยศิลาหินทราย, หลักเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างด้วยไม้มงคล แกนไม้สัก-ประกบด้านนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์