รู้จักพระพุทธรูปสำคัญประจำท้องถิ่น 'หลวงปู่แก้ว' วัดอัมพวันวิทยาราม
ทำความรู้จักพระพุทธรูปศิลปะลาว ประจำท้องถิ่นพื้นเมืองอุดรธานี 'หลวงปู่แก้ว' วัดอัมพวันวิทยาราม บ้านเพีย อ.กุดจับ
ในการเดินสายหาเสียงวันนี้ ( 24เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ เดินทางมาที่ จ.อุดรธานี และไปยังวัดอัมพวันวิทยาราม อ.กุดจับ เข้ากราบสักการะหลวงปู่แก้ว เพื่อความสิริมงคล ก่อนลงพื้นที่
ที่น่าสนใจคือพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร
สำหรับประวัติของ หลวงปู่แก้ว หรือ พระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ ตามข้อมูลของ สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ระบุไว้ว่า หลวงปู่แก้ว พระพุทธรูปประจำวัดอัมพวันวิทยาราม บ้านเพีย อ.กุดจับ จ.อุดรธานี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะลาว มีขนาดหน้าตักกว้าง 83 นิ้ว สูง 145 นิ้ว
ตามประวัติการสร้างนั้น กล่าวกันว่าหลวงปู่แก้ว เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยพระยาคงคา ครองเมืองราชคฤห์ หรือบ้านดอนแตง ในปัจจุบัน โดยมีอ้ายใหญ่เชียงคงและเฒ่าสุดินเป็นช่างก่อสร้าง ภายในหัวใจของหลวงปู่แก้วมีแก้วสารพัดนึกอยู่มากมาย ส่วนแขนและขามีงาช้างลงอักขระเป็นแกน จึงถือเป็นองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่มีคนเคารพนับถือสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยเมืองราชคฤห์
หลังจากที่พระยาคงคาและพระยาเชียงสาพ่ายแพ้แก่กองทัพของพระวอพระตา และกวาดต้อนผู้คนกลับนครเวียงจันทน์ ปล่อยให้เมืองราชคฤห์ ตลอดทั้งวัดวาอารามต่าง ๆ รกร้างต้นไม้ขึ้นปกคลุม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาพันธุ์ ต่อมาได้มีหมอช้างชื่อนายคำมี มาจากบ้านผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มาคล้องช้างป่าที่บริเวณอำเภอหนองวัวซอปัจจุบัน ได้นำช้างป่าที่คล้องได้ จำนวน 1 เชือกมาเลี้ยงไว้ที่กุดโป่งบ้านโสกแก และได้เที่ยวดูทำเลพื้นที่ เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะแก่การทำไร่ทำนา โดยเฉพาะบริเวณหนองไฮ หนองจำปา หรือบริเวณบ้านเพียปัจจุบัน จึงกลับไปนำญาติพี่น้องมาเลือกจับจองที่ดินและที่ตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นใหม่ ในระยะแรกมีนายคำมี กำนันลี พ่อตู้ดี เฒ่างูเหลือม และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านเพีย โดยนำชื่อนางเพียภรรยาของพระยาคงคามาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน เพราะเห็นว่านางเพียเป็นผู้มีจิตใจรักสงบไม่ชอบการรบราฆ่าฟัน เมื่อตั้งหมู่บ้านเพียขึ้นแล้ว ก็มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้นและกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่
ในปีพุทธศักราช 2488 ได้ย้ายวัดมาจากบริเวณตลาดสุขาภิบาลกุดจับ มาอยู่บริเวณวัดอัมพวันวิทยารามปัจจุบัน ก็เริ่มปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปหลวงปู่แก้ว โดยมีพระครูสถิตธรรมรัตน์ (หลวงปู่โถน) เจ้าคณะตำบลกุดจับ ได้ซ่อมแซมพระสอให้อยู่ในสภาพเดิม ในปีพุทธศักราช 2535 ได้ปรับพื้นที่เพื่อที่จะทำการก่อสร้างวิหารประดิษฐานหลวงปู่แก้ว ได้พบพระพุทธรูปและวัตถุมงคลมากมาย ข่าวแพร่ไปยังผู้ที่เคารพนับถือ ยิ่งเพิ่มแรงศรัทธามากขึ้นและได้ลงมือทำการปลูกสร้างพระวิหารแก้ว เพื่อเป็นที่ประดิษฐานหลวงปู่แก้วดังที่เห็นในปัจจุบัน
ในส่วนของคติความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวข้อง เพียงนำดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะอธิษฐานจิต และขอพรให้สมดังปรารถนา แต่อย่างไรก็ตาม หลวงปู่แก้วเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของตำบลบ้านเพีย ชาวบ้านจะร่วมกันจัดงานนมัสการหลวงปู่แก้วเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทางวัดร่วมกับชาวบ้านจัดเป็นงานบุญใหญ่เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มาสักการะ ทำบุญ ฟังธรรมเทศนา ภายในงานมีกิจกรรมรื่นเริงแบบวิถีชาวบ้านมากมายให้ผู้ร่วมงานได้เที่ยวชม