รู้จัก สำนักตักศิลาเขาอ้อ แหล่งรวมสรรพวิชาแห่งภาคใต้
ทำความรู้จักเรื่องราว ตักศิลาเขาอ้อ เมืองพัทลุง สำนักสรรพวิชาโบราณจากพราหมณ์สู่พระสงฆ์ พบภาพปั้น พล.อ.ประยุทธ์ - ประวิตร ประดับ ในมณฑปพระปรมาจารย์
กลายเป็นเรียกเสียงฮือฮา เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เดินทางไปสักการะและไหว้ขอพร ที่วัดเขาอ้อ ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และมีการเปิดภาพปูนปั้นคู่กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ
วัดเขาอ้อ ในแง่มุมหนึ่ง หลาย ๆ คน รับรู้ และ รู้จักผ่านเรื่องราวและภาพยนตร์ รวมทั้งประวัติชีวิตของ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษราชเดช นายตำรวยจมือปราบจอมขมังเวทย์ ที่ในช่วงเวลสาหนึ่งได้เคยมาร่ำเรียนวิชาไสยเวท คาถาอาคม กับสำนักตักศิลาแห่งนี้
สำหรับประวัติของวัดเขาอ้อ นั้น เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตามข้อมูลที่ระบุไว้บันทึกถึงสำนักวิชาแห่งนี้ว่า วัดเขาอ้อสร้างเมื่อ พ.ศ. 1651 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ พ.ศ. 1661 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 15 เมตร ยาว 20 เมตร กล่าวกันว่าวัดเขาอ้อ แต่เดิมเป็นที่บำเพ็ญพรตของพราหมณ์มาหลายรุ่น อันเนื่องจากภายในถ้ำบนเขาอ้อนั้นเป็นทำเลที่ดีมาก
ตัวเขาอ้อเองก็ตั้งอยู่บนเส้นทางสัญจรของชุมชนในอดีตเมืองที่เจริญในละแวกนั้นได้แก่ สทิงปุระ หรือสะทิงพาราณสีซึ่งก็คืออำเภอสทิงพระในปัจจุบัน ประวัติของเมืองสทิงปุระนั้นเกี่ยวข้องกับพราหมณ์อยู่มาก แม้กระทั่งในสมัยศรีวิชัยที่ศาสนาพุทธแผ่อิทธิพลทั่วแหลมาลายู ในบริเวณส่วนนั้น (เขตเมืองพัทลุงในปัจจุบัน) ยังเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของพราหมณ์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่นที่สุดในขณะนั้น
ต่อมามีพราหมณ์ผู้ทรงวิทยาคุณ หรือ ฤาษี คณะหนึ่งได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำบนเขาอ้อบำเพ็ญพรตจนเกิดอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ตามตำราอาถรรพเวท ซึ่งเป็นพระเวทอันดับ 4 ของคัมภีร์พราหมณ์ แล้วได้ถ่ายทอดวิชานั้นต่อ ๆ กันมา พร้อมกันนั้นก็ได้จัดตั้งสำนักถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้สนใจ ซึ่งตามวรรณะแล้วพราหมณ์มีหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เชื้อพระวงศ์ หรือวรรณะกษัตริย์และลูกหลานผู้นำ เพื่อจะให้นำไปเป็นความรู้ในการปกครองคนต่อไป
สำนักเขาอ้อสมัยนั้นจึงมีฐานะคล้าย ๆ สำนักทิศาปาโมกข์ของพราหมณ์ผู้ทรงคุณพราหมณ์ผู้ทรงคุณดังกล่าวได้ถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ ให้พราหมณาจารย์สืบทอดต่อ ๆ กันมาซึ่งเท่าที่สืบค้นรากฐาน ก็พบว่าวิชาที่ถ่ายทอดให้คณาศิษย์ นอกจากวิชาในเรื่องการปกครองตามตำราธรรมศาตร์แล้ว ก็ยังมีเรื่องพิธีกรรมฤกษ์ยามการจัดทัพตามตำราพิชัยสงคราม ตลอดจนไปถึงไสยเวท และการแพทย์ตามตำนานบอกวิชาสองสายสืบทอดโดยพราหมณาจารย์ผู้เฒ่าสองคน ซึ่งสืบทอดกันคนละสายตลอดมา การสืบทอดวิชาของสำนักเขาอ้อได้ดำเนินเช่นนั้นไป
จนกระทั้งมาถึงพราหมณ์รุ่นสุดท้ายและได้เห็นว่าไม่มีผู้รับสืบทอดต่อแล้ว ประกอบกับเล็งเห็นว่าเมื่อสิ้นท่านแล้วสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พราหมณ์ผู้บรรลุพระเวทหลายคนได้ฝังร่างไว้ จึงสำคัญเกินที่จะปล่อยให้รกร้างไปได้พราหมณ์ผู้เฒ่าท่านนั้นจึงได้เล็งหาผู้ที่จะมาสืบทอด และรักษาสถานที่สำคัญนั้นไว้ ประกอบกับขณะนั้นอิทธิพลทางพุทธศาสนาได้แผ่เข้ารายล้อมเขตเมืองพัทลุงแล้วบริเวณข้าง ๆ ในบริเวณเขาอ้อก็มีวัดอยู่หลายวัด
มหาพราหมณ์ทั้ง 2 ท่านเล็งเห็นว่าต่อไปภายภาคหน้าพุทธศาสนาจะยั่งยืนและแผ่อิทธิพลในดินแดนแถบนี้ การที่จะฝากอะไรไว้กับผู้ที่ยั่งยืนและมีอิทธิพลน่าจะเป็นการดีกว่า ท่านเลยตัดสินใจนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่งมาจากวัดน้ำเลี้ยวให้มาอยู่ในถ้ำแทนท่านจากนั้นก็มอบคำภีร์พระเวทศักดิ์สิทธิ์ ของบูรพาจารย์พราหมณ์พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาทางไสยเวทให้
รวมทั้งวิชาทางการแพทย์แผนโบราณแก่ท่านพระภิกษุรูปแรก ที่พราหมณ์ผู้เฒ่านิมนต์มามีนามว่า "ทอง" ซึ่งวัดเขาอ้อมีลักษณะพิเศษที่มักจะมีเจ้าอาวาสที่ชื่อทองติดต่อกันมาหลายสิบรูป นับจากนั้นเจ้าอาวาสของวัดเขาอ้อทุกรูป ก็จะได้รับการถ่ายทอดวิชาตามคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของบูรพาจารย์พราหมณ์สืบต่อกันมา ทำให้เป็นผู้ทรงคุณวิเศษในด้านไสยเวทวิทยาคมเป็นที่ประจักษ์มาทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุผลดังกล่าววัดเขาอ้อจึงมีชื่อเสียงในทางไสยเวทและการแพทย์แผนโบราณ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับว่าน ภายหลังจึงมีพิธีแช่ว่าน พิธีกรรมทางไสยเวทหลายอย่างขึ้นจนเป็นที่เลื่องลือ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกใน สาส์นตราของเจ้าพระยาเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่าเมื่อ พ.ศ. 2284 สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พระมหาอินทราชจากปัตตานีได้มาเป็นเจ้าวัดและได้มาปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่โดยมีตาปะขาวขุนแก้วเสนาขุนศรีสมบัติ เป็นหัวหน้าฝ่ายคฤหัสถ์ช่วยกันซ่อมแซม ได้ช่วยกันสร้างอุโบสถ มณฑป พระพุทธบาทจำลอง พระพุทธไสยาสน์ เจดีย์ และได้พระราชทานพระพุทธรูป 2 องค์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เนื้อความสาส์นดังกล่าวระบุไว้ว่า
"ด้วยขุนศรีสมบัตินายกองสุราเข้าไปฟ้องว่า ที่วัดเขาอ้อสร้างมาก่อนแล้วกลับรกร้างสิ่งก่อสร้างชำรุดทรุดโทรมลงมาก คราวหนึ่งพระมหาอินทราชจากปัตตานีได้มาเป็นเจ้าวัดและได้มาปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่โดยมีตาปะขาวขุนแก้วเสนาขุนศรีสมบัติ เป็นหัวหน้าฝ่ายคฤหัสถ์ช่วยกันซ่อมแซมพระพุทธรูปในถ้ำ 1 องค์ ซึ่งปรักหักพังแล้วเสร็จได้ดำเนินการสร้างเสนาะอื่น ๆ จนเป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ได้ ต่อมาเมื่อได้พระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว พระมหาอินทราชกับคณะดังกล่าว ได้จัดการสร้างพระอุโบสถขึ้นตาปะขาวขุนแก้วเสนา ได้มีหนังสือขอพระราชทานคุมเลขยกเว้นการใช้งานหลวงต่าง ๆ ถวายไว้แก่วัดเพื่อช่วยเหลือในการสร้างพระอุโบสถ 5 คน คือนายเพ็ง นางพรหม นายนัด นายคง และนายกุมาร ครั้นพระอุโบสถเสร็จแล้วก็มีหนังสือบอกถวายพระราชกุศลไปให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่ง หล่อด้วยเงินอีกองค์หนึ่งส่งไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาอ้อ แล้วพระมหาอินทราชพร้อมด้วยสัปบุรุษทายก ได้จ้างช่างเขียนลายลักษณะพระพุทธบาททำมณฑป กว้าง 5 วา สูง 6 วา ขึ้นบนไหล่เขาอ้อเป็นประดิษฐานลายลักษณ์พระพุทธบาท ต่อมาพระมหาอิทราชทรงเห็นว่าลายลักษณ์ที่จ้างช่างเขียนไว้ไม่ถาวร จึงพร้อมด้วยขุนศรีสมบัติเรี่ยไรเงินจากผู้ที่ศรัทธาได้ 10 ตำลึง"
อาคารเสนาสนะของวัดที่โดดเด่น คือ กุฏิทรงไทย วัดมีปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูปสำริด (รูปเจ้าฟ้าอิ่ม) พระพุทธรูปเงิน (รูปเจ้าดอกมะเดื่อ) พระพุทธรูปไสยาสน์ปูนปั้น ทาสีทอง และรอยพระพุทธบาทจำลอง (สำริด) ศิลปะรัตนโกสินทร์
ภายในถ้ำที่มีชื่อว่า ถ้ำฉัททันต์บรรพต โถงถ้ำอันมีชื่อเสียงของวัด เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ ขุนพันธรักษ์ราชเดช เคยกระทำพิธีแช่ว่านรางยา รวมทั้ง นักร้องชื่อดัง กับ นักเขียนพระเครื่อง อ.ไข่ มาลีฮวนน่า และ เอก อัคคี เป็น 2 บุคคลในปัจจุบันที่เคยแช่ว่านภายในถ้ำโดยใช้เรือเป็นรางแช่
ถ้ำแห่งนี้มีความสำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆและเป็นที่ฝึกฝนวิชาของสำนัก ส่วนถ้าใครเคยไปในโถงถ้ำแห่งนี้ จะเห็นรั้วเหล็กกั้นไว้ พื้นที่ส่วนนั้น เป็นโถงถ้ำดั่งเดิม สงวนไว้สำหรับผุ้ที่เป็นเจ้าอาวาส เข้าไปฝึกฝนวิชา โดยจะมีบันไดไม้เล็กๆในปีนขึ้นไปบนเชิงถ้ำด้านบนและวิชาที่นั่น
ส่วนมณฑปด้านหน้าถ้ำ เป็นมณฑปที่สร้างเพื่อบูชาบูรพาจารย์ของเขาอ้อเรียกว่า มณฑปพระปรมาจารย์ ด้านในมีสถูปบูรพาจารย์ ซึ่งบรรจุอัฐิเจ้าสำนักเขาอ้อไว้ด้วยกัน มณฑปแห่งนี้เป็นการบูรณะจัดสร้างใหม่โดยคณะศิษย์ของ อาจารย์เปลี่ยน หัทยานนท์ ฆราวาสอาวุโส ศิษย์พ่อท่านปาล อดีตเจ้าสำนักเขาอ้อ ทำการสร้างปี2561-2562 สร้างโครงสร้างและพระประธานปิดทองปั้นฝาผนังจิตรกรรมนูนสูง และปิดทองบัวพระปรมาจารย์
สำหรับรูปปูนปั้นพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรนั้น นพ.ดนัย โอวัฒนาพานิช หรือ อาจารย์หมอฟอร์ด ผู้ที่ร่วมดำเนินการปรับรุงบูรณะมณฑปได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข่าวสารรูปปูนปั้น 2 ป.ว่า ตนและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างขึ้นมา
ที่ผ่านมาไม่เคยลงภาพ พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร เพราะไม่อยากให้เป็นข่าว ไม่ได้ให้ช่างปั้นเฉพาะสองท่านนี้ คือเป็นศิลปะที่ล้อภาพจริง ทำด้วยความเคารพ ไม่ใช่เพื่อผลทางการเมือง ความหมายในการปั้นนั้นคือจะสื่อว่ามณฑปนี้สร้างในยุคของท่านเป็นรัฐบาล
และให้ช่างปั้นหมอเปลี่ยน หัทยานนท์ ขณะป้อนข้าวเหนียวดำที่ผนังไว้ด้วยเป็นอาจารย์ที่ตนเคารพและเป็นที่มาของการชักชวนสร้างมณฑปนี้หลังปัจจุบัน