ศรัทธาสายมู

พิธีบูชาเสาอินทขีล ประเพณีสำคัญแห่งเมืองเชียงใหม่

พิธีบูชาเสาอินทขีล ประเพณีสำคัญแห่งเมืองเชียงใหม่

17 พ.ค. 2566

ประเพณีสำคัญทางความเชื่อ แห่งเมืองเชียงใหม่ พิธีบูชาเสาอินทขีล เพื่อความเป็นสิริมงคล การทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง

เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ นั่นคือ งานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล หรือที่เรียกง่ายๆว่า หลักเมืองเชียงใหม่ ดดยจะมีการจัดงานระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 22 พ.ค. ส่วนวันที่ 23 พ.ค. จะมีการทำบุญออกอินทขีล ที่วัดเจดีย์หลวง เป็นการเสร็จสำเร็จประเพณี

หออินทขีล ภาพจากแฟนเพจ วัดเจดีย์หลวง


สำหรับ พิธีบูชาเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง นั้น จากข้อมูลจารจดไว้ระบุว่า ความเชื่ออันสำคัญอย่างยิ่ง ที่ส่งผลต่อความอยู่ดีมีกิน มีสุขมีศรีของนครพิงค์นั้น ต้องมีการบูชาสักการะเสาหลักเมือง หรือ อินทขีล เพื่อให้บังเกิดความเป็นสิริมงคล ในทุกๆ ปีจะต้องมีพิธีสักการะบูชาเสาอินทขิล เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต  พิธีสำคัญนี้ จะมีการอันเชิญพระเจ้าฝนแสนห่าอันเป็นพระพุทธรูปที่บันดาลให้ฝนตกมาเป็นประธานในขบวนแห่และมีการสวดคาถาอินทขิลของหมู่สงฆ์ด้วย ชาวเชียงใหม่จะทำพิธีบูชาอินทขิลในตอนปลายเดือน 8 ต่อเดือน 9 หรือระหว่างเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน โดยเริ่มในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า วันเข้าอินทขิล การเข้าอินทขิลจะมีไปจนถึงในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งเป็นวันออกอินทขิล จึงเรียกว่า เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก

พิธีบูชาเสาอินทขีล ภาพจากแฟนเพจ วัดเจดีย์หลวง

 ตามตำนานอินทขิลหรือตำนานสุวรรณคำแดงที่ ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บข้อมูลหลักฐานที่พระมหาหมื่นวุฑฒิญาโณ วัดหอธรรม เชียงใหม่ เล่าความเป็นมาของเสาอินทขิลไว้ว่า บริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนานั้น เป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ 

ในเมืองนี้มีผีหลอกหลอนทำให้ชาวเมืองเดือดร้อนไม่เป็นอันทำมาหากิน อดอยากยากจน พระอินทร์จึงได้ประทานความช่วยเหลือ บันดาลบ่อเงิน บ่อทองและบ่อแก้วไว้ในเมือง ให้เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล แบ่งกันดูแลบ่อทั้ง 3 บ่อละ 3 ตระกูล โดยชาวลัวะต้องถือศีลรักษาคำสัตย์ เมื่อชาวลัวะอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้ดังสมปรารถนา ซึ่งชาวลัวะก็ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี บรรดาชาวลัวะทั้งหลายต่างก็มีความสุขความอุดมสมบูรณ์ ข่าวความสุขความอุดมสมบูรณ์ของเวียงนพบุรี ซึ่งเป็นตระกูลของชาวลัวะเลื่องลือไปไกลและได้ชักนำให้เมืองอื่นยกทัพมาขอแบ่งปัน ชาวลัวะตกใจจึงขอให้ฤๅษีนำความไปกราบทูลพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์ หรือยักษ์ 2 ตน ขุดอินทขิล หรือ เสาตะปูพระอินทร์

พิธีบูชาเสาอินทขีล ภาพจากแฟนเพจ วัดเจดีย์หลวง

ใส่สาแหรกเหล็กหาบไปฝังไว้กลางเวียงนพบุรี เสาอินทขิลมีฤทธิ์มากดลบันดาลให้ข้าศึกที่มากลายร่างเป็นพ่อค้า พ่อค้าเหล่านั้นต่างตั้งใจมาขอสมบัติจากบ่อทั้งสาม ชาวลัวะแนะนำให้พ่อค้าถือศีลรักษาคำสัตย์และอย่าละโมบ เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้ พ่อค้าบางคนทำตาม บางคนไม่ทำตาม บางคนละโมบ ทำให้กุมภัณฑ์ 2 ตน ที่เฝ้าเสาอินทขิลโกรธพากันหามเสาอินทขิลกลับขึ้นสวรรค์ไป และบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ก็เสื่อมลง มีชาวลัวะผู้เฒ่าคนหนึ่งไปบูชาเสาอินทขิลอยู่เสมอ ทราบว่ายักษ์ทั้งสองนำเสาอินทขิลกลับสวรรค์ไปแล้ว ก็เสียใจมากจึงถือบวชนุ่งขาวห่มขาว บำเพ็ญศีลภาวนาใต้ต้นยางเป็นเวลานานถึง 3 ปี ก็มีพระเถระรูปหนึ่งทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองจะถึงกาลวิบัติ ชาวลัวะเกิดความกลัวจึงขอร้องให้พระเถระรูปนั้นช่วยเหลือ พระเถระบอกว่า ให้ชาวลัวะร่วมกันหล่ออ่างขางหรือกระทะขนาดใหญ่ แล้วใส่รูปปั้นต่างๆ อย่างละ 1 คู่ 

ปั้นรูปคนชายหญิงให้ครบร้อยเอ็ดภาษาใส่กระทะใหญ่ลงฝังในหลุมแล้วทำเสาอินทขิลไว้เบื้องบนทำพิธีสักการบูชา จะทำให้บ้านเมืองพ้นภัยพิบัติ การทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาจึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

พิธีบูชาเสาอินทขีล ภาพจากแฟนเพจ วัดเจดีย์หลวง

เดิมทีเสาอินทขิลประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิล ซึ่งตั้งอยู่ ณ กลางเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันก็คือ บริเวณหอประชุมติโลกราช ข้างศาลากลางจังหวัดเก่า ในตำนานกล่าวว่า เสาอินทขิลเดิมนั้นหล่อด้วยโลหะ จนกระทั่งเมือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กรีฑาทัพปราบปรามพม่าออกไปจนสิ้นล้านนา ตรงกับสมัยพระเจ้ากาวิละ ราวปี พ.ศ. 2343 ได้ย้ายเสาอินทขิลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง โดยบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นเสาปูน และทำพิธีบวงสรวงเป็นประเพณีสืบกันมา ปัจจุบันนี้เสาอินทขิลที่อยู่ในวิหาร เป็นเสาปูนปั้นติดกระจกสี บนเสาเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง เสาอินทขิลนี้สูง 1.30 เมตร วัดรอบได้ 67 เมตร แท่นพระสูง 0.97 เมตร วัดโดยรอบได้ 3.40 เมตร

  ประเพณีอินทขิล ในสมัยเจ้าผู้ครองนครกับปัจจุบันนี้แตกต่างกันมาก ในอดีตเจ้าผู้ครองนครจะเริ่มพิธีด้วยการเซ่นสังเวยเทพยาดาอารักษ์ ผีบ้าน ผีเมือง และบูชากุมภัณฑ์ พร้อมกับเชิญผีเจ้านายลงทรง เพื่อถามความเป็นไปของบ้านเมืองว่าจะดีจะร้ายอย่างไร ฟ้าฝนจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่ หากคนทรงทำนายว่าบ้านเมืองชะตาไม่ดี ก็จะทำพิธีสืบชะตาเมือง เพื่อแก้ไขปัดเป่าให้เบาบางลง นอกจากนี้ยังมีการซอและการฟ้อนดาบ เป็นเครื่องสักการะถวายแด่วิญญาณบรรพบุรุษด้วย พิธีกรรมนี้ทำสืบต่อมาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงหยุดไป ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ดำเนินการสืบทอดประเพณีอินทขิล โดยมีพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสาน ในวันแรกของการเข้าอินทขิล มีการแห่พระเจ้าฝนแสนห่า หรือพระพุทธรูปคันธารราษฎร์รอบตัวเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำและใส่ขันดอก เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต ส่วนภายในวิหารอินทขิล พระสงฆ์ 9 รูป จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขิล ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินภายใต้บุษบกที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูป เมื่อเสร็จพิธีจะมีมหรสพสมโภชตลอดงาน