หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง อยุธยา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง
หนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง แห่ง พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ผู้คนหลั่งไหลสักการะบูชานับแต่อดีตจนปัจจุบัน
พระนครศรีอยุธยา เมืองโบราณผ่านกาลเวลา อดีตราชธานีที่มีเรื่องราว และตำนาน กล่าวขาน เล่าต่อมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวที่วัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของเมือง มีองค์หลวงพ่อโต หรือที่ชาวจีนนิยมเรียกว่า หลวงพ่อซำปอกง เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่ผู้คนให้ความเคารพศรัทธาและสักการะไม่ขาดสาย
ตามตำนานประวัติที่มีการจารจารึก เขียนบันทึกเล่าไว้ว่า ในอดีตแต่ก่อนเก่านั้น ย้อนเวลาล่วงก่อนการสถาปนาพระราชธานีศรีอยุธยา 26 ปี กษัตริย์แห่งอโยธยา นาม พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิงและในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ว่า ได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปพุทธชื่อ”พระเจ้าพแนงเชิง” เมื่อปี พ.ศ. 1867
รายละเอียดข้อพระพุทธรูป หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง หรือพระพุทธไตรรัตนนายกพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร วัสดุ ปูนปั้นลงรักปิดทอง
จากถ้อยคำเชลยศึก ที่ให้การกับล่ามมอญ ก่อนจะแปลเป็นภาษาพม่า ที่รู้จักบันทึกนั้นกันว่า คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุความอัศจรรย์ครั้งเสียกรุงศรีฯครั้งที่ 2 ไว้ว่า พระปฏิมากรใหญ่ที่วัดพนัญเชิงมีน้ำพระเนตรไหลเป็นที่อัศจรรย์ หลวงพ่อโตเป็นพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวจีนมากโดยเรียกกันว่า“ซำปอกง” นอกจากชาวไทยแล้วยังมีผู้มีเชื้อสายจีนหลั่งไหลกันมากราบไหว้บูชาจำนวนมากและเป็นประจำทุกปี
พระพุทธรูปทองคำในพระอุโบสถ ในพระอุโบสถวัดพนัญเชิงนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ คือพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปูน และพระพุทธรูปนาค พระพุทธรูปทองเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยทำจากทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอก มีสีทองอร่ามใสเป็นเงาสะท้อนอย่างชัดเจน องค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยาหน้าตักกว้าง 4 ศอก สูง 5 ศอก ส่วนพระพุทธรูปนาคเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนั้นจะมีสีออกแดงๆหน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 5 ศอก กล่าวกันว่าพระพุทธรูปทองและนาคนี้เพิ่งถูกพบว่าเป็นพระทองและพระนาค ด้วยบังเอิญ เนื่องจากแต่เดิมทีพระทั้งสององค์ถูกฉาบ เคลือบด้วยปูน จนมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปปูนปั้นทั่วไป
สาเหตุคงเพราะว่าช่วงเวลาก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะถูกข้าศึกบุกตีพระนคร คนในสมัยนั้นเกรงว่าพระพุทธรูปทองและพระพุทธรูปนาคนี้จะถูกขโมยหรือเผาเอาทองไปจึงได้ฉาบปูนเคลือบและปั้นปูนในขณะที่ปูนยังไม่แห้งเพื่อทำเป็นลายจีวรและลักษณะต่างๆ
เช่น ปั้นรูปพระพักตร์ พระเกศา เพื่อให้เข้าใจว่าไม่ใช่พระทองคำและพระนาค จนกระทั่งในภายหลังมีผู้ไปค้นพบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำเนื่องจากเศษปูนได้กะเทาะออกมาและเนื้อภายในเป็นทอง จึงได้ค่อยๆกะเทาะปูนออกให้หมด จึงได้เห็นว่าเป็นพระทองคำทั้งองค์และนำมาประดิษฐานอยู่ภายพระอุโบสถของวัด